วันนี้ (26 ต.ค.2563) เวลา 11.23 น. นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์ พรรคประชาธิปัตย์ ลุกขึ้นอภิปรายว่า การเปิดประชุมรัฐสภาเพื่อพิจารณา มาตรา 165 ตามข้อเสนอของรัฐบาล เพื่อหาทางออกอย่างสร้างสรรค์ ไม่ใช่การโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง แต่ต้องการให้รัฐสภาเป็นที่พึ่งในการแสวงหาทางออก
เชื่อว่าสิ่งที่ประชาชนอยากเห็นตลอด 2 วัน คือการเห็นการอภิปรายที่สร้างสรรค์ คือตามที่นายชวนระบุว่า ต้องเป็นการอภิปรายที่ไม่ซ้ำเติมสถานการณ์ และหาทางออกที่เป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย
นายจุรินทร์กล่าวว่า 1.พรรคประชาธิปัตย์มีจุดยืนชัดเจนในการยึดมั่นปกครองระบบอประชาธิปไตยที่มีพระมหากษัตริย์ เป็นประมุข เทอดทูนชาติ ศาสนา พระมหากษัตริย์ และยืดมั่นมานับแต่ก่อตั้งพรรค
2.การทำหน้าที่ในฐานะปวงชนชาวไทย 3.สนับสนุนการใช้แนวทางสันติในการแก้ปัญหาไม่ใช้ความรุนแรงไม่ว่าจะฝ่ายใด 4.ลดเงื่อนไขปมขัดแย้ง ทุกฝ่ายต้องชักฟืนออกจากไฟโดยไม่จำเป็น 5.เร่งเปิดสภา ในการพิจารณาญัตติ
นายจุรินทร์กล่าวต่อว่า การแก้รัฐธรรมนูญ เป็นหนึ่งในเงื่อนไข 3 ข้อ ที่ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล และนายกฯ เองก็รับเงื่อนไขนี้เป็นนโนบายเร่งด่วนของรัฐบาล ซึ่งประชาธิปัตย์ได้เสนอร่างแก้ไขในไข มาตรา 256 ให้มี ส.ส.ร.ที่มาจากประชาชนและการแก้รัฐธรรมนูญ จะต้องไม่แตะหมวด 1 ที่ว่าด้วยรูปแบบของรัฐ และหมวด 2 ว่าด้วยสถาบันฯ
นายจุรินทร์อภิปรายว่า พรรคประชาธิปัตย์อยากเห็นในเรื่องแก้รัฐธรรมนูญ คือ นำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญในวาระที่ 1 ขึ้นรับหลักการทันทีที่ทำได้ และไม่ควรมีเงื่อนไขเพิ่มเติมที่จะนำไปสู่ปัญหา และทำประชามติหลังรัฐธรรมนูญ ผ่านสภาฯ และนำขึ้นทูลเกล้าเท่านั้น ไม่มีความจำเป็นต้องไปทำประชามติก่อนรับหลักการ วาระที่ 1
เสนอให้วิป 3 ฝ่ายทั้งฝ่ายค้าน รัฐบาล และวิปรัฐสภา ว่าจะพิจารณาเฉพาะ 6 ร่าง ที่มีการบรรจุในสภา หรือจะรอร่างฉบับของไอลอว์ เพราะการตัดสินใจทางเลือกใดย่อมมีนัยสำคัญ
จากนั้น นายจุรินทร์เสนอให้มีการตั้งกรรมการขึ้นมา 1 ชุดชื่อว่า คณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูปและรัฐธรรมนูญ มอบให้ประธานรัฐสภาสภาลงนามแต่งตั้งคณะทำงานระดับชาติ มีตัวแทนจาก 7 ฝ่าย เช่น ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน วุฒิสมาชิก ผู้เกี่ยวข้องกับการชุมนุม ผู้เห็นต่าง และผู้ทรงคุณวุฒิ มีหน้าที่แสดวงหาทางออกที่เป็นรูปธรรมทางออกให้ประเทศ และอะไรที่เห็นพ้องให้รับข้อสรุปไปทำทันที