วันนี้ (28 ต.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตัวอย่างของสารต้นต้น มีลักษณะคล้ายน้ำหวานสีแดง มีกลิ่นคล้ายผลไม้สละและมีความเหนียวข้น The EXIT ได้ตัวอย่างของสารตั้งต้นดังกล่าวจากข้อมูลชาวบ้านใน อ.ปากพนัง เพราะมีขายกันอย่างโจ่งแจ้ง ชาวบ้านให้เบาะแสข้อมูลว่า มีคนในพื้นที่ อ.ปากพนัง ผลิตหัวน้ำหวานชนิดนี้ขายให้กลุ่มผู้ดื่มสารเสพติดผสมน้ำใบกระท่อม ที่เรียกว่า "สี่คูณร้อย" กระจายขายตามร้านค้าชุมชน และส่งขายในช่องทางออนไลน์
ทีมข่าวลงพื้นที่ไปตามเบาะแสใน อ.ปากพนัง เพื่อหาต้นตอของสารที่ถูกเรียกกันว่า "หัวน้ำหวาน" ทีมข่าวพบชาวบ้านคนหนึ่งที่ยินยอมให้ดูส่วนประกอบและวิธีการทำสี่คูณร้อย ชาวบ้านคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ส่วนประกอบที่เห็นอยู่ในปัจจุบันคือสูตรที่เปลี่ยนแปลงมาจากเดิม เพราะหากเป็นวิธีการดั้งเดิมของผู้สูงอายุในพื้นที่ ต้มเพียงใบกระท่อมดื่มเพื่อรักษาโรค ไม่ใส่ส่วนผสมอื่น แต่ปัจจุบันถูกดัดแปลงใส่ส่วนผสมหลายอย่าง รวมไปถึงหัวน้ำหวานที่ถูกนำมาใช้แทนยาแก้ไอ หาซื้อได้ในชุมชน เพราะเป็นสูตรที่วัยรุ่นในพื้นที่ อ.ปากพนัง คิดค้นและกำลังเป็นที่นิยมในกลุ่มผู้ดื่มสี่คูณร้อย
ทีมข่าวเดินทางต่อไปยังบ้านหัวป่าขลู่ ต.เกาะทวด อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช ตามคำบอกเล่าของผู้ดื่มสี่คูณร้อยว่าเป็นพื้นที่ต้นตอของหัวน้ำหวาน ซึ่งทีมข่าวพบกับชาวบ้านคนหนึ่งที่ยอมให้ข้อมูลและพาไปสังเกตพฤติกรรมของบ้านที่ลักลอบผลิตหัวน้ำหวาน พบเป็นบ้านครึ่งปูนครึ่งไม้ ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านหัวป่าขลู่ อ.ปากพนัง ไม่มีป้ายหรือลักษณะที่บ่งชี้ได้ว่าเป็นแหล่งผลิต หรือโรงงาน แต่ชาวบ้านให้ข้อมูลว่าในช่วงเย็นมักจะมีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมากเข้าออกบ้านหลังนี้
ทีมข่าวเดินทางไปยังบ้านหัวป่าขลู่อีกครั้งในช่วงเวลากลางคืน เฝ้าสังเกตการณ์บริเวณใกล้กับบ้านที่ถูกระบุว่าเป็นแหล่งผลิตและจำหน่ายหัวน้ำหวาน ตลอด 5 ชั่วโมง ตั้งแต่เวลา 18.00 - 23.00 น.ที่เฝ้าสังเกตการณ์ ทีมข่าวพบว่ามีรถยนต์และรถจักรยานยนต์จำนวนมากเข้าออกบ้านหลังเดิม
พฤติกรรมของกลุ่มคนที่เดินเข้าออกบ้านหลังนี้ ก่อนเข้าไปไม่พบว่าถือถุงหรือวัตถุอะไรเข้าไปในบ้าน แต่เมื่อเดินออกมาจากบ้านกลับพบว่ามีถุงหรือถังบางอย่างหิ้วมาขึ้นรถ จุดนี้ไม่ค่อยมีแสงสว่าง แต่เมื่อมีรถผ่านก็ทำให้ทีมข่าวสังเกตได้ว่าถุงหรือถังที่คนหิ้วออกมามีลักษณะเป็นน้ำสีแดง ตรงตามคำบอกเล่าของคนในพื้นที่ว่าที่นี่เป็นต้นตอของหัวน้ำหวาน
ตามคำบอกเล่าของผู้ดื่มสี่คูณร้อยบอกว่า หัวน้ำหวานถูกนำมาทดแทนยาแก้ไอที่ผสมน้ำกระท่อมเพื่อดื่ม ขณะเดียวกันชาวบ้านก็เป็นห่วงว่าหากในหัวน้ำหวานผสมสารอันตราย กลัวว่าคนในชุมชนและวัยรุ่นจะได้รับผลกระทบ อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมให้ดื่มสารเสพติดสี่คูณร้อย
ข้อมูลจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณะสุข ระบุว่า หากมีการผลิตน้ำหวานที่มีการผสม แต่งกลิ่น โดยไม่มีการขออนุญาต ถือว่าผิดกฏหมายตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 และหากตรวจพบว่ามีสารเสพติดอาจจะผิดตามกฏหมายที่เกี่ยวข้องและดำเนินคดีต่อไป ขณะนี้ชาวบ้านในพื้นที่ได้นำตัวอย่างหัวน้ำหวานส่งให้กับสาธารณสุข จ.นครศรีธรรมราช เพื่อตรวจสอบและอยู่ระหว่างรอผล