วันนี้ (30 ต.ค.2563) ภายหลังที่ประชุม 3 ฝ่าย หารือร่วมกันระหว่างการประชุมรัฐสภาสมัยวิสามัญ วันที่ 26-27 ต.ค.ที่ผ่านมา มีความเห็นร่วมกันในการตั้งคณะกรรมการกลาง หรือคณะกรรมการสมานฉันท์ เพื่อหาทางออกให้กับประเทศ
โดยมอบหมายให้สถาบันพระปกเกล้า ออกแบบโครงสร้าง ก่อนที่ ส.ส. ส.ว. และรัฐบาล จะร่วมกันกำหนดตัวบุคคล รวมถึงบุคคลที่จะมาเป็นประธาน ซึ่งนายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันว่า ยังไม่ทราบตัวบุคคลและปฏิเสธที่จะเป็นประธานคณะกรรมการชุดนี้
มีรายงานว่า ตัวแทน ส.ส. ส.ว. และรัฐบาล มีการหารือถึงความเป็นไปได้ในการเสนอชื่อบุคคลเป็นประธานฯ โดยมี 2 รายชื่อ คือ นายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี และนายพิชัย รัตตกุล อดีตประธานรัฐสภา และอดีตหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์
ย้อนไป 10 ปี นับตั้งแต่วิกฤตการเมืองปี 2553 รัฐบาลทุกยุคพยายามจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เพื่อแก้ไขความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นรูปแบบของคณะกรรมการกลางที่ศึกษาเรื่องการปรองดอง หรือ คณะกรรมการเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง แต่สุดท้ายข้อเสนอของคณะกรรมการเหล่านี้ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล หรือไม่มีผลในทางปฏิบัติเป็นรูปธรรม
ยุค "อภิสิทธิ์" ตีกลับทุกข้อเสนอ-ปฏิรูปขึ้นหิ้ง
ปี 2551-2554 รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ซึ่งเข้ามาภายหลังการรัฐประหารปี 2549 ถัดจากรัฐบาลนายสมัคร สุนทรเวช ที่ถูกศาลสั่งพ้นตำแหน่ง และรัฐบาลนายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ที่พ้นตำแหน่งจากคดียุบพรรคพลังประชาชน ในช่วงรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ มีการตั้งคณะกรรมการเพื่อหาทางออกทางการเมืองหลายชุด โดยเฉพาะกรณีที่เกี่ยวข้องกับการชุมนุมของ นปช. เมื่อปี 2552-2553
เช่น คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.) ที่มี ศ.พิเศษคณิต ณ นคร เป็นประธาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์สลายการชุมนุม นปช. ปี 2553
ตั้งคณะกรรมการปฏิรูป 2 ชุด ทำงานคู่ขนานกัน มีอายุ 3 ปี ชุดแรก คือ คณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) ที่มีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ซึ่งมีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงเข้าร่วม 19 คน อาทิ ศ.ชัยอนันต์ สมุทวณิช (ปัจจุบันเสียชีวิตแล้ว), ศ.นิธิ เอียวศรีวงศ์, พระไพศาล วิสาโล, ศ.ศรีจักร์ วัลลิโภดม, ศ.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ เป็นต้น ซึ่งเน้นศึกษาของเสนอปฏิรูปในเชิงนโยบาย เช่น กาปรฏิรูปที่ดิน กระบวนการยุติธรรม การกระจายอำนาจ
ทั้งนี้ คปร. ชุดนายอานันท์ มีข้อเสนอเร่งด่วนระหว่างนั้นเช่นกัน อาทิ เสนอให้นายอภิสิทธิ์ ซึ่งเป็นนายกฯ ขณะนั้นยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉิน แต่นายอภิสิทธิ์ ไม่รับข้อเสนอ และขอทยอยยกเลิกตามลำดับ
ชุดที่ 2 คณะกรรมการสมัชชาปฏิรูปประเทศ ที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน มีตัวแทนภาคประชาสังคมเข้าร่วม อาทิ นางสาลี อ๋องสมหวัง, นางเตือนใจ ดีเทศน์, นพ.พลเดช ปิ่นประทีป เป็นต้น ซึ่งชุดนี้จะเน้นการมีส่วนร่วมของประชาชนและจัดตั้งสาขาเป็นสมัชชาในระดับภูมิภาคและระดับจังหวัดด้วย
- ปี 2552 ตั้ง คกก.สมานฉนันท์เพื่อการปฏิรูปการเมือง
- ปี 2553 ตั้ง คกก.ปฏิรูป หรือ คปร. - ตั้ง คกก.สมัชชาปฏิรูป หรือ สปร.
- ปี 2553 ตั้ง คกก.ตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ หรือ คอป.
นอกจากนี้ รัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ยังมีการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์เพื่อปฏิรูปการเมืองและศึกษาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มีนายดิเรก ถึงฝั่ง เป็นประธาน ซึ่งมีข้อเสนอให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ 6 ข้อ ซึ่งเชื่อว่าเป็นต้นตอของปัญหาทางการเมือง ซึ่งนายอภิสิทธิ์ เห็นว่า 6 แนวทางนำได้ยาก และการแก้รัฐธรรมนูญอาจนำไปสู่ความขัดแย้งและการถกเถียงเรื่องนิรโทษกรรม
ผู้สื่อข่าว - ข้อสังเกต ข้อเสนอคณะกรรมการต่างๆ ในสมัยรัฐบาลนายอภิสิทธิ์ ไม่ได้รับการตอบรับจากรัฐบาล กระทั่งเปลี่ยนรัฐบาลปี 2554 ข้อเสนอที่ได้จากคณะกรรมการไม่ถูกพูดถึงอีกเลย
ยุค "ยิ่งลักษณ์" ปรองดอง = นิรโทษกรรม
ปี 2554-2557 รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร มีการผลักดันเรื่องการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ ทั้งโดยรัฐบาลและรัฐสภา อาทิ การตั้งคณะ กมธ. วิสามัญพิจารณาแนวทางการสร้างความปรองดองแห่งชาติ ของสภาผู้แทนราษฎร หรือ “กมธ.ปรองดอง” ของสภาผู้แทนราษฎร มี พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้า คมช. ซึ่งเป็นผู้นำคณะรัฐประหารปี 2549 โดยข้อเสนอของ กมธ.คือ การนิรโทษกรรมการเมือง ซึ่งภายหลังเข้าสภาฯ มีการแก้ไขเนื้อหาเพิ่มเติมในวาระ 2 ตามที่เรียกว่า “สุดซอย”
- ปี 2555 ตั้ง กมธ.ปรองดอง
- ปี 2556 ตั้ง โครงการปฏิรูปการเมือง
- ปี 2556 ตั้ง สภาปฏิรูปการเมือง
ต่อมารัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ จัดทำโครงการปฏิรูปการเมือง ซึ่งโครงการใหญ่ของรัฐบาลที่ชูภาพเกี่ยวกับการปฏิรูปการเมือง โดยใช้งบฯ 180 ล้านบาท รวมข้อเสนอจาก 108 เวที ขณะเดียวกันมีการจัดตั้งสภาปฏิรูปประเทศ ที่มีนายบรรหาร ศิลปอาชา เป็นผู้รับผิดชอบ (นายบรรหาร เป็นนายกฯ ที่เปิดทางให้มีการร่างรัฐธรรมนูญปี 2540)
ที่มา ผู้จัดการออนไลน์
ภายหลังสมาชิกของสภาปฏิรูปการเมืองทยอยลาออกเป็นจำนวนมาก อาทิ นายพิชัย รัตตกุล และนายอุทัย พิมพ์ใจชน อดีตประธานรัฐสภา เนื่องจากรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ผลักดัน พ.ร.บ.นิรโทษกรรมผ่านสภาฯ แบบสุดซอย
"ปรองดอง" ตั้งแต่ คสช."สมานฉันท์" ต่อยุค "ประยุทธ์ 2"
ปี 2557-2562 รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในยุค คสช. โดย 3 เดือนแรกหลังการรัฐประหาร พล.อ.ประยุทธ์ ออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ตั้งศูนย์การปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) โดยมี กอ.รมน. และกระทรวงมหาดไทย เป็นผู้รับผิดชอบ
ขั้นแรก คืออ้างวิจัยเอกสาร 418 เรื่อง, ข้อมูลอีเมล์และไปรษณีย์กว่า 3,000 เรื่อง, สัมภาษณ์ผ่านเวที 75 คณะ, กิจกรรมปรองดองกว่า 90,000 ครั้ง, ข้อตกลงคู่ขัดแย้ง 177 ฉบับ
ข้อมูลกระทรวงมหาดไทยปี 2557-2560 เผยว่ามีการใช้งบฯ เกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์กว่า 1.3 พันล้านบาท อาทิ ปี 2560 จัดงบฯ ให้ 6 หน่วยงาน สูงสุดคือ กอ.รมน. 290 ล้านบาท รองลงมาคือ กระทรวงมหาดไทย 99 ล้านบาท และกระทรวงกลาโหม 59 ล้านบาท เป็นต้น
ต่อมามีการตั้ง คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ปยป.) ซึ่งกิจกรรมของ ปยป. ที่เห็นเป็นรูปธรรม คือ การเชิญนักการเมือง 53 พรรค และ 2 กลุ่มการเมืองร่วมโต๊ะกลมปรองดอง ช่วงเดือน ก.พ.-เม.ย.2560 และมีเวทีย่อย 4 ภูมิภาค
- ปี 2557 ตั้ง ศูนย์การปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป หรือ ศปป.
- ปี 2557 ตั้ง สภาปฏิรูปแห่งชาติ หรือ สปช.
- ปี 2558 ตั้ง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ หรือ สปท.
- ปี 2558 ตั้ง คกก.ปฏิรูปประเทศ (ขึ้นตรงกับนายกฯ)
- ปี 2560 ตั้ง คกก.บริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศฯ หรือ ปยป.
นอกจากนี้ตลอดยุค คสช. ยังมีการตั้งคณะกรรมการเกี่ยวกับการปฏิรูปเป็นจำนวน โดยมีคณะกรรมการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิรูปการเมือง แก้ไขความขัดแย้ง อาทิ กมธ.การเมือง สภาปฏิรูปประเทศ (สปช.) ที่มี ศ.สมบัติ ธำรงธัญวงศ์ เป็นประธาน ซึ่งมีข้อเสนอที่โดดเด่น เช่น เสนอให้มีการเลือกตรง นายกฯ ซึ่งถูกปฏิเสธจากคณะ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ ที่มีนายบวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธาน โดยระบุว่าข้อเสนอนี้เป็น “ซูเปอร์ประธานาธิบดี”
กมธ.การเมือง สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่มีนายเสรี สุวรรณภานนท์ เป็นประธาน, คณะกรรมการปฏิรูปการเมืองที่แต่งตั้งโดย นายกฯ เป็นต้น
ผู้สื่อข่าว - คณะกรรมการเกี่ยวกับการสร้างความปรองดองสมานฉันท์ในยุค คสช. ดำเนินการในรูปแบบภารกิจของกองทัพ ที่มีแนวทางและการวัดผลเชิงปริมาณ มีการดำเนินการเสร็จตามกรอบเวลาจริง แต่ผลลัพท์เรื่องการปรองดองนั้นไม่สามารถประเมินได้ แต่สังเกตได้ว่ามีการเคลื่อนไหวของผู้ชุมนุมทางการเมืองเกิดขึ้นตลอดยุครัฐบาล คสช.เช่นกัน ขณะที่ข้อเสนอของสมาชิกสภาปฏิรูปแต่ละคณะ เป็นเพียงข้อเสนอไปยังรัฐบาล คสช. แต่ไม่มีผลในทางปฏิบัติ
วันนี้การตั้ง คณะกรรมการสมานฉันท์ จึงยังเป็นคำถามว่าการตั้งคณะกรรมการชุดนี้จะช่วยหาทางออกให้กับประเทศได้หรือไม่ ตามข้อสังเกตของนายชวน ที่กังวลว่า คณะกรรมการชุดนี้อาจไม่มีเป้าหมายที่ชัดเจน ขณะที่ ฝ่ายค้าน ซึ่งเป็นผู้มีส่วนได้ส่วนเสียไม่เห็นด้วยกับคณะกรรมการชุดนี้
อาทิ พรรคเพื่อไทย ไม่เห็นด้วยกับการตั้งคณะกรรมการ เพราะเป็นการประวิงเวลา ขณะที่พรรคก้าวไกล เห็นด้วยในหลักการ แต่ต้องมีส่วนร่วมทุกฝ่าย ส่วน คณะก้าวหน้า ไม่เห็นด้วย หากไม่นำข้อเรียกร้อง 3 ข้อของผู้ชุมนุมร่วมพิจารณาในคณะกรรมการชุดนี้