ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ครม.ช่วย SMEs ขยายเวลา-เพิ่มวงเงินซอฟต์โลนเป็น 100 ล้านบาท

การเมือง
3 พ.ย. 63
18:31
320
Logo Thai PBS
ครม.ช่วย SMEs ขยายเวลา-เพิ่มวงเงินซอฟต์โลนเป็น 100 ล้านบาท
การประชุม ครม.สัญจรที่ จ.ภูเก็ต เสร็จสิ้นลงแล้ว ซึ่งนายกรัฐมนตรีพยายามเรียกความเชื่อมั่นในการรับนักท่องเที่ยวชาวต่าง ขณะที่ ครม.มีมติเห็นชอบขยายวงเงินสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็น 100 ล้านบาท และขยายเวลาขอสินเชื่อถึง มิ.ย. 64 เพื่อช่วยเหลือธุรกิจท่องเที่ยว

วันนี้ (3 พ.ย.2563) การลงพื้นที่และประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร ใน จ.ภูเก็ต ตลอดทั้งวันเป็นไปอย่างเรียบร้อย จบภารกิจด้วยการเยี่ยมชมและพูดคุยกับผู้ประกอบการย่านเมืองเก่าภูเก็ต ท่ามกลางการรักษาความปลอดภัยที่ค่อนข้างเข้มงวด มีการวางกำลังเจ้าหน้าที่ตามจุดต่างๆ และปิดถนนถลางทั้งเส้น หลังมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มคณะราษฎรภูเก็ตเมื่อวานนี้ ทำให้ชาวบ้านและผู้ประกอบการบางส่วนที่อาศัยในพื้นที่ได้รับผลกระทบตามไปด้วย

 

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ระบุว่า การลงพื้นที่ครั้งนี้ก็เพื่อมาสร้างความเชื่อมั่น โดยเฉพาะความพร้อมในการเปิดรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ และต้องการรับฟังความคิดเห็นเกี่ยวกับมาตรการช่วยเหลือภาคการท่องเที่ยว

มาสร้างความเชื่อมั่น และเตรียมพร้อมทุกมาตรการ สำหรับการเปิดประเทศให้มีนักท่องเที่ยวจากต่างประเทศมากขึ้น โดยมีมาตรการคัดกรองที่เหมาะสมและเข้มงวด พร้อมจะบูตส์เศรษฐกิจที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เพื่อเเพิ่มรายได้ให้ประชาชนโดยเฉพาะเศรษฐกิจฐานรากให้มากขึ้น


ส่วนผลการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า กระทรวงการคลังเสนอให้มีการทบทวนมติ ครม.เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น การปรับปรุงมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ เพื่อช่วยเหลือเอสเอ็มอี โดยขยายให้ครอบคลุมผู้ประกอบธุรกิจท่องเที่ยวและธุรกิจที่เกี่ยวข้อง และขยายวงเงินจากเดิมไม่เกิน 20 ล้านบาท เป็น 100 ล้านบาท ขยายระยะเวลาการขอสินเชื่อจากที่สิ้นสุด 30 ธ.ค.2563 ไปสิ้นสุด 30 มิ.ย.2564

นอกจากนี้ ยังเห็นชอบในการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเครื่องบินไอพ่น เพื่อลดต้นทุนแก่ผู้ประกอบการสายการบิน ซึ่งจะส่งผลให้สามารถปรับลดค่าโดยสาร และช่วยลดค่าเดินทางของประชาชน ทำให้ตัดสินใจเดินทางเที่ยวในประเทศมากขึ้น

ไฟเขียวงบฯ 6 หมื่นล้าน ประกันราคาข้าว-ยางพารา

ขณะที่ นายอนุชา บูรพชัยศรี โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า วันนี้ที่ประชุมยังได้กล่าวถึงปัญหาการผิดนัดชำระหนี้ที่มีอัตราสูงว่า อาจจะปรับวิธีการคำนวณเงินใหม่ และมีการอนุมัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว และยางพารา วงเงินรวม 61,900 ล้านบาท โดยโครงการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนยาง ใช้วงเงินกว่า 1 หมื่นล้านบาท ครอบคลุม ชาวสวนยาง 1,800,000 คน ระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่เดือน ต.ค.นี้ไปจนถึงเดือนมีนาคม 2564 เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับเกษตรกรว่าจะมีรายได้ขั้นต่ำราคายางแผ่นดิบกิโลกรัมละ 60 บาท


ส่วนโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2563/64 วงเงินกว่า 5 หมื่นล้านบาท ครอบคลุมเกษตรกร 1,100,000 แสนครัวเรือน และมีมาตรการคู่ขนานเพื่อดูแลเสถียรภาพด้านราคา เช่น โครงการสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี โดยเกษตรกรที่มียุ้งฉางจะได้รับค่าฝากเก็บอย่างน้อยตันละ 500 บาท

นอกจากนี้ ยังมีโครงการสนับสนุนค่าบริหารจัดการและพัฒนาคุณภาพผลผลิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าว โดยจะจ่ายเงินตันละ 500 บาท ไม่เกินครัวเรือนละ 20 ไร่ เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิตและให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง