วันที่ 4 พ.ย.2563 พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ ประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อหารือแนวทางการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และได้รับรองร่างรายงานสถานการณ์ทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง และการกัดเซาะชายฝั่งของประเทศไทย พ.ศ.2562 พร้อมผลักดันการออกกฎหมายลำดับรอง ตามมาตรา 21 จำนวน 2 ฉบับ และการออกกฎหมายลำดับรองตามมาตรา 18 และกำหนดมาตรการคุ้มครองตามมาตรา 23 จำนวน 4 ฉบับ ภายใต้พระราชบัญญัติส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2568
ที่ประชุมคณะกรรมการฯ ได้ติดตามความคืบหน้าการดำเนินงานโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปีโตรเลียม จำนวน 7 ขาแท่น ไปวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และการประกาศใช้กฎหมายลำดับรองที่เกี่ยวข้องตามมติคณะกรรมการฯ ที่ผ่านมา
พล.อ.ประวิตร กล่าวภายหลังการประชุมว่า ในภาพรวมสถานภาพทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ยังจำเป็นต้องได้รับการจัดการอย่างจริงจัง ต่อเนื่อง และเป็นระบบ เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืนของทรัพยากร ไม่ว่าจะเป็นการประกาศพื้นที่คุ้มครองทางทะเลและชายฝั่ง การดำเนินการตามแผนอนุรักษ์พะยูนแห่งชาติ และแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
อย่างไรก็ตาม จำเป็นต้องบูรณาการทุกภาคส่วน รวมถึงภาคประชาชนในการร่วมมือกันในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และป้องกันรักษาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างสมบูรณ์และสมดุล
สร้างสมดุลอนุรักษ์-การใช้ประโยชน์
ด้านนายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) กล่าวย้ำต่อที่ประชุมในการขับเคลื่อนการดำเนินงานของทุกภาคส่วนต้องดำเนินการไปด้วยกัน คำนึงถึงประโยชน์ของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ รวมทั้งต้องเกิดความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบภายหลัง นอกจากนี้ จะต้องสร้างสมดุลระหว่างการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์ให้ได้อย่างสมดุล
กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการขับเคลื่อนการดำเนินงานให้เป็นไปตามมติของคณะกรมการฯ อย่างเคร่งครัด
ห่วงสัตว์ทะเลหายาก-ปะการัง
นายวราวุธ กล่าวถึงสถานการณ์ที่หน่วยงานได้สรุปรายงานในภาพรวมปี 2562 ว่า ยังรู้สึกกังวลกับสถานการณ์ของทรัพยากรทางทะลและชายฝั่งบางประเภท เช่น สัตว์ทะเลหายากและปะการัง เป็นต้น ซึ่งยังต้องการการดูแลและป้องกันอย่างใกล้ชิดและจริงจัง ซึ่งได้เสนอต่อที่ประชุมให้เพิ่มความเข้มข้นในการดำเนินการให้มากขึ้น รวมถึงการประชาสัมพันธ์สร้างความตระหนักให้ประชาชนและนักท่องเที่ยวให้เห็นความสำคัญ และเข้ามามีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งให้คงอยู่อย่างยั่งยืนต่อไป
เน้น "ประชาชน" มีส่วนร่วม
นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวง ทส. กล่าวว่า ตนให้ความสำคัญต่อการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนในทุกขั้นตอน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดนโยบาย การจัดทำและดำเนินโครงการที่ต้องให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม เช่น การยกร่างกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง 2 พื้นที่ ได้แก่ ต.ชุมโค อ.ปะทิว จ.ชุมพร และ ต.ลำแก่น ต.ท้ายหมือง ต.นาเตย อ.ท้ายเหมือง และ ต.โคกกลอย อ.ตะกั่วทุ่ง จ.พังงา ก่อนที่จะนำเสนอต่อคณะกรรมการฯ ก็ต้องผ่านความเห็นชอบของประชาชน
กำหนดป่าชายเลนอนุรักษ์ 4 พื้นที่
นอกจากนี้ ตนได้เร่งรัดกรมทรัพยกรทางทะเและชายฝั่ง ประกาศพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ตามมาตรา 18 ภายใต้ พ.ร.บ.ส่งเสริมการบริหารจัดการทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่ง พ.ศ.2558 ให้ครอบคลุมพื้นที่ป่าชายเลนที่สมบูรณ์ของประเทศ ซึ่งในครั้งนี้คณะกรรมการฯ ได้เห็นชอบร่างกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ป่าชายเลนอนุรักษ์ 4 พื้นที่ใน จ.เพชรบุรี จ.ชลบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ปัตตานี
ตนได้เร่งรัดติดตามอย่างใกล้ชิดในการออกกฎหมายลำดับรองเพื่อคุ้มครองทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง รวมถึงการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอย่างยั่งยืน
จับมือจิสด้าจำแนกการใช้ประโยชน์ที่ดิน
นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (อทช.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการนโยบายและแผนการบริหารจัดการทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่งแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ได้ขับเคลื่อนการดำเนินงานตามมติคณะกรรมการฯ มาอย่างต่อเนื่องและจริงจัง ซึ่งได้รายงานผลการดำเนินงานที่ผ่านมาให้คณะกรรมการฯ ได้รับทราบ ได้แก่ ผลการดำเนินงานโครงการนำร่องการใช้ขาแท่นหลุมผลิตปิโตรเลียมจำนวน 7 ขาแท่นไปวางเป็นปะการังเทียม เพื่อการอนุรักษ์ทรัพยกรทางทะเลและชายฝั่ง การดำเนินงานโครงการจัดทำระบบฐานข้อมูลทรัพยากรป่าชายเลน ซึ่งกรมฯ ได้ร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือจิสด้า ในการจำแนกเขตการใช้ประโยชน์ที่ดินป่าชายเลนด้วยภาพถ่ายดาวเทียมความละเอียดสูง