ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"ภาคต่อ" ส.ส.-ส.ว. ยื่นศาล รธน. ตีความปมประชามติแก้ รธน.

Logo Thai PBS
"ภาคต่อ" ส.ส.-ส.ว. ยื่นศาล รธน. ตีความปมประชามติแก้ รธน.
จับตา "เกมต่อเนื่อง" กลุ่ม ส.ส.-ส.ว.ที่เข้าชื่อยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความปมแก้ไขรัฐธณรมนูญ "ไพบูลย์-สมชาย" เป็นหัวขบวน-เดินเกมต่อเนื่องจาก กมธ.ศึกษา 6 ญัตติแก้รัฐธรรมนูญ

เป็นไปตามคาด เมื่อ 48 ส.ว. ผนึกกำลังกับ 25 ส.ส. ของพรรคพลังประชารัฐ สวมบทบาท "สมาชิกรัฐสภา" เข้าชื่อและเดินหน้าส่งปมปัญหาการแก้รัฐธรรมนูญให้ "ศาลรัฐธรรมนูญ" ตีความ

โดยเฉพาะ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เสนอตั้ง ส.ส.ร. ยกร่างใหม่ทั้งฉบับ ซึ่งมีทั้งข้อเสนอจากญัตติของ รัฐบาล และ ฝ่ายค้าน รวมถึงร่างแก้ไขฉบับประชาชน (ไอลอว์) ที่ ส.ส.-ส.ว.กลุ่มนี้ตั้งข้อสังเกตว่าขัดต่อรัฐธรรมนูญ ปี 2560 หรือไม่

และขัดกับคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญ 18-22/2555 ที่ระบุว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญทั้งฉบับต้องถามประชาชน "ในฐานะผู้ให้อำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญหรือไม่"

ทั้งนี้ ส.ส.-ส.ว. กลุ่มนี้ ย้ำว่าทำไปเพื่อความชัดเจนทางกฎหมาย ที่สำคัญยังเป็นการ "การันตี" และลดความสุ่มเสี่ยง หาก ส.ส.-ส.ว.ร่วมโหวต แล้วร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญมีปัญหาภายหลัง อาจนำไปสู่การหยุดปฎิบัติหน้าที่และถอดถอนตามมติป.ป.ช. เหมือนเมื่อครั้งแก้รัฐะรรมนูญ ปี 2550 ที่มีการถอดถอน ส.ส.-ส.ว. มากกว่า 308 คน

ย้อนกลับไปเมื่อการพิจารณาของ กมธ.ศึกษาญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญ แม้เสียงข้างมากของ กมธ.ฯ จะยืนยันว่า ประเด็นที่ ส.ส.-ส.ว.เข้าชื่อกันอยู่นี้ไม่ขัดรัฐธรรมนูญ และไม่ขัดคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

แต่ใช่ว่าจะจบ ...เกมยังถูกส่งต่อ ลากยาว ไปถึงศาลรัฐธรรมนูญ

"ยืนยันไม่ใช่การประวิงเวลาหรือคัดค้านท่าทีนายกฯ แต่ ส.ว. ต้องการให้รอบคอบ เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ส.ว. ยังสงสัยร่างของไอลอว์ สถานะทางกฎหมายของไอลอว์ว่าเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รวบรวมรายชื่อประชาชนเสนอมายังสภาฯ ได้หรือไม่ เพราะรับเงินสนับสนุนจากต่างประเทศ สงสัยว่าเป็นการรับเงินจากต่างประเทศมาสร้างความวุ่นวายในประเทศไทยหรือไม่" นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ส.ว. กล่าว

ดังนั้นหากเรียกว่าการเดินเกมครั้งนี้เป็นภาคต่อ จาก กมธ.ฯ คงไม่ผิดนัก เพียงแต่คราวนี้มีแนวร่วมมาลงชื่อตามกระบวนการเพื่อยื่นต่อประธานรัฐสภา

หากย้อนไปดู "หัวขบวน" ที่เดินเกม ล้วนแล้วแต่เป็นเสียงข้างน้อยใน กมธ.ฯ ทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็น นายสมชาย แสวงการ และ นายเสรี สุวรรณภานนท์ ขณะที่ซีก ส.ส. ก็มีชื่อของ นายไพบูลย์ นิติตะวัน รองหัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ ที่เคยประกาศกร้าวว่าจะส่งเรื่องนี้ให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความทันทีบรรจุเรื่องเข้าการประชุมร่วมรัฐสภา

เมื่อประเด็นเหล่านี้เคยหักล้างด้วยเสียงข้างมากใน กมธ.ฯ ทำให้ นายวิรัช รัตนเศรษฐ์ ประธานวิปรัฐบาล "ไม่ยี่หระ" เรียกประชุมเดินหน้าลงมติรับหลักการร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ วันที่ 17-18 พ.ย.นี้ พร้อมทั้ง "ถอดรหัส" ไม่หนักใจยื่นศาลรัฐธรรมนูญตีความ

"เชื่อว่าการยื่นให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความจะไม่ทำให้การพิจารณาของรัฐสภาสะดุด เพราะสามารถทำพร้อมกันได้เลย มั่นใจว่าวันที่ 17-18 พ.ย.นี้ จะแล้วเสร็จในวาระแรกแน่นอน อีกทั้งเชื่อว่าศาลรัฐธรรมนูญจะวินิจฉัยเสร็จสิ้นก่อนที่รัฐสภาจะพิจารณาวาระ 3 ด้วย"

ทั้งนี้ตามไทม์ไลน์การแก้รัฐธรรมนูญ 7 ญัตติ จะถูกนำเข้าสู่วาระแรกขั้น "รับหลักการ" วันที่ 17-18 พ.ย. และจะลงมติวาระ 2-3 ในช่วงเดือน ธ.ค.

ขณะที่ทาง ส.ว. ที่ถูกมองว่าเป็น "จำเลย" สำคัญในครั้งนี้ก็เชื่อว่าไม่กระทบต่อการโหวตรับหลักการของ ส.ว.

"ตอนนี้จากที่ประเมินเสียง ส.ว. ที่เห็นด้วยมีเกิน 100 กว่าเสียง ผ่าน 84 เสียงได้อย่างแน่นอน ทั้งร่างแก้ทั้งฉบับของฝ่ายรัฐบาล ฝ่ายค้าน และแนวโน้มร่างไอลอว์ด้วย ทางวิปวุฒิสภาก็พยายามทำความเข้าใจกับ ส.ว.กลุ่มที่เห็นต่างอยู่" นายวันชัย สอนศิริ เลขาวิปวุฒิสภากล่าว

งานนี้เรียกได้ว่าทุกฝ่ายพร้อมเดินหน้าพิจารณารับหลักการในวาระแรก วันที่ 17-18 พ.ย.นี้ คงตามดูกันต่อว่าการเมืองจะแก้ด้วยการเมืองสำเร็จหรือไม่

แท็กที่เกี่ยวข้อง:

ข่าวที่เกี่ยวข้อง