วันนี้ (14 พ.ย.2563) เวลา 17.35 น. พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินพร้อมด้วยสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี ไปยังสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย เขตพระนคร ทรงเปิดโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ซึ่งการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม ดำเนินการก่อสร้างโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย ช่วงหัวลำโพง–บางแค และ บางซื่อ–ท่าพระ แล้วเสร็จและเปิดให้บริการประชาชน
ช่วงที่ 1 สถานีบางซื่อ–สถานีเตาปูน เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2560
ช่วงที่ 2 สถานีหัวลำโพง–สถานีหลักสอง เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2562
ช่วงที่ 3 สถานีเตาปูน–สถานีท่าพระ เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 โดยเชื่อมต่อกับโครงการรถไฟฟ้ามหานครสายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงินเดิม) ช่วงหัวลำโพง-บางซื่อที่สถานีหัวลำโพง และสถานีบางซื่อที่เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 3 กรกฎาคม 2547
เส้นทางส่วนใหญ่เป็นวงกลมครอบคลุมพื้นที่ใจกลางกรุงเทพมหานคร เป็นโครงสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินจำนวน 4 สถานี และโครงการสร้างรถไฟฟ้ายกระดับ 16 สถานี รวม 20 สถานี เพื่อให้การเดินทางต่อเนื่องเป็นโครงข่ายเดียวกัน เป็นการอำนวยความสะดวกในการเดินทางให้กับประชาชน ช่วยลดปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร และยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชน ซึ่งได้เสนอโครงการรถไฟฟ้ามหานคร (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย เป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลพระราชพิธีบรมราชาภิเษก พุทธศักราช 2562 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าโปรดกระหม่อม พระราชทานพระบรมราชานุญาตให้ใช้ชื่อ "เฉลิมรัชมงคล" เป็นชื่อเส้นทางรถไฟฟ้าดังกล่าวด้วย
แนวเส้นทางโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล (สายสีน้ำเงิน) ส่วนต่อขยาย มีระยะทางทั้งหมด 16 กิโลเมตร เป็นโครงสร้างทางวิ่งใต้ดินช่วงหัวลำโพง–ท่าพระ ประมาณ 5 กิโลเมตร มีลักษณะเป็นทางวิ่งอุโมงค์คู่รางเดี่ยว มีสถานีใต้ดินจำนวน 4 สถานี โครงสร้างทางวิ่งยกระดับในช่วงท่าพระ-บางแค ระยะทางประมาณ 11 กิโลเมตร มีสถานียกระดับ 7 สถานี
เริ่มต้นที่เส้นทางเชื่อมต่อกับสถานีรถไฟฟ้าหัวลำโพง เป็นเส้นทางใต้ดินตามแนวถนนพระรามที่ 4 เข้าสู่ถนนเจริญกรุง ผ่านวัดมังกรกมลาวาส วังบูรพา เลี้ยวซ้ายเข้าถนนสนามไชย ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยาที่ปากคลองตลาด ลอดใต้คลองบางกอกใหญ่ เข้าสู่ถนนอิสรภาพ แล้วเปลี่ยนเป็นโครงสร้างทางวิ่งยกระดับ มีลักษณะเป็นทางวิ่งรางคู่บนเสาตอม่อ บริเวณเกาะกลางถนนเข้าสู่สี่แยกท่าพระ ซึ่งเป็นสถานีร่วมกับโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ช่วงบางซื่อ-ท่าพระ แล้ววิ่งไปตามถนนเพชรเกษม สิ้นสุดที่ถนนกาญจนาภิเษก
จากนั้น ประทับรถไฟฟ้าพระที่นั่ง ขบวนหมายเลข 44 ตู้ประทับหมายเลข 1088 เสด็จพระราชดำเนินจากสถานีรถไฟฟ้าสนามไชย ไปยังสถานีรถไฟฟ้าหลักสอง ระยะทาง 11 กิโลเมตร ใช้เวลาประมาณ 12 นาที เส้นทางที่ประทับรถไฟฟ้าผ่านมีทั้งหมด 9 สถานี เริ่มจากสถานีสนามไชย–สถานีอิสรภาพ–สถานีท่าพระ–สถานีบางไผ่–สถานีบางหว้า–สถานีเพชรเกษม 48-สถานีภาษีเจริญ-สถานีบางแค สิ้นสุดที่สถานีหลักสอง เป็นเส้นทางที่มีทั้งสถานีใต้ดินและสถานียกระดับ