วันนี้ (1 ธ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีเครือข่ายนักเรียน โดยเฉพาะภาคีนักเรียน KKC กลุ่มนักเรียนเลว และเครือข่ายนักเรียนอีกหลายแห่ง ประกาศว่าในวันนี้จะไม่แต่งเครื่องแบบนักเรียนไปโรงเรียน โดยจะใส่ชุดไปรเวทเพื่อแสดงถึงอารยะขัดขืน
นายณัฏฐพล ทีปสุวรรณ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก "Nataphol Teepsuwan - ณัฏฐพล ทีปสุวรรณ" ระบุว่า ได้วางแนวทางตั้งแต่มารับตำแหน่งว่า กระทรวงศึกษาธิการมีบทบาทหน้าที่สำคัญในการพัฒนาคุณภาพทางการศึกษาทั้งระบบ ด้วยการเพิ่มความรู้ ทักษะ และสมรรถนะของบุคคล โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างทุนมนุษย์ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาของประเทศเป็นหัวใจสำคัญ เชื่อว่าทุกคนรับรู้ได้จากนโยบายที่ได้เคยนำเสนอไปก่อนหน้านี้ และสิ่งที่กำลังดำเนินการอยู่
รมว.ศธ. ระบุว่า เคยได้ชี้แจงไปหลายครั้ง ตั้งแต่วันแรกที่น้อง ๆ ออกมาเรียกร้องหลาย ๆ เรื่อง ก็ได้การตั้งคณะกรรมการพิจารณาข้อเรียกร้องของนักเรียน โดยมี ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะจากภาคส่วนต่างๆ รวมถึงน้องๆ นักเรียนด้วย ซึ่งหลายข้อเรียกร้องกำลังจะได้ข้อสรุป ขาดเพียงการรับฟังจากผู้ที่ต้องนำมาปฏิบัติจริงจากข้อสรุปมติที่ประชุม
เป็นความจริงที่ว่าการจะออกนโยบายต่าง ๆ มานั้น ต้องคำนึงถึงความเหมาะสม ระยะเวลา ความพร้อมในการปฏิบัติ ไม่สามารถเกิดขึ้นได้เพียงจากแรงกดดันของกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งได้ เรามีกระบวนการในการรับฟังและการตัดสินใจที่เหมาะสม
ยืนยัน "เครื่องแบบนักเรียน" ลดเหลื่อมล้ำ
นายณัฏฐพล กล่าวถึงกรณีเครื่องแบบนักเรียน ถือเป็นส่วนหนึ่งของการบริหารจัดการการศึกษา ที่ต้องการให้เกิดความเสมอภาค ลดความเหลื่อมล้ำ ไม่ว่าจะเป็นใครมาจากครอบครัวใด หรือมีฐานะอย่างไร ก็จะอยู่ในกรอบกฎกติกาและบริบทของโรงเรียนนั้นๆ อย่างเท่าเทียมกัน ต้องยอมรับว่า ณ เวลานี้เครื่องแบบนักเรียนถือเป็นเครื่องแต่งกายที่เหมาะสมกับนักเรียน เปรียบเหมือนเครื่องแบบของแพทย์ที่มีเสื้อกาวน์ ซึ่งเป็นการบ่งบอกอาชีพ หรือแสดงถึงสถานะ แม้แต่ชุดข้าราชการครู ทหาร ตำรวจ พนักงานธนาคาร พนักงานบริษัท หรือแม้แต่สื่อ ก็ยังมีเครื่องแบบของตัวเองที่บ่งบอกถึงอาชีพ หรือต้นสังกัดสำนักงานของหน่วยงาน องค์กร หรือบริษัท เป็นเครื่องแบบที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบุคคลที่สวมใส่
ชุดนักเรียนก็เป็นการแสดงออกถึงสถานะของความเป็นเด็กนักเรียน และเป็นเรื่องของการบ่มเพาะลักษณะนิสัยของการสร้างความมีระเบียบวินัย การยอมรับในกฎกติกาการอยู่ร่วมกัน เพื่อความเป็นระเบียบเรียบร้อย มิฉะนั้น การแต่งชุดไปรเวทจะกลายเป็นเรื่องของแฟชั่น และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างความแตกต่าง
นอกจากนี้ ยังมีผลสำรวจความคิดเห็นของผู้ปกครองทั่วประเทศทางออนไลน์ ยืนยันว่า ผู้ปกครองร้อยละ 61 ยังต้องการให้มีชุดเครื่องแบบของเด็กนักเรียน และผู้ปกครองร้อยละ 47 คิดว่าหากให้ใส่ชุดอะไรก็ได้ไปโรงเรียน จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงขึ้น และสร้างความกดดันให้กับผู้ปกครองในการใช้จ่ายเพื่อซื้อเสื้อผ้าที่เพิ่มมากขึ้น และมีถึงร้อยละ 75 คิดว่าจะทำให้เกิดการ Bully เกี่ยวกับการแต่งกายที่เพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ การอยู่ร่วมกันนอกจากสิทธิและเสรีภาพแล้ว เรื่องของหน้าที่และกติกาของสังคมก็จะต้องพึงมี เพื่อให้ทุกฝ่ายอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขครับ
รมว.ศธ. ยืนยันว่า ฟังเสียงเรียกร้องจากน้อง ๆ ทุกเรื่อง แต่ก็ต้องฟังเสียงจากทุก ๆ ฝ่าย เรื่องใดที่ทำให้เกิดพัฒนาการทางการศึกษาจะดำเนินการทันทีทุกเรื่องตามความเหมาะสม
ไม่ว่าน้อง ๆ จะแต่งชุดอะไรออกมาจากบ้าน ผมอยากให้น้องๆ รับข้อมูลและพิจารณาอย่างรอบด้าน รออีกนิดครับ ข้อสรุปจากมติและการฟังเสียงของผู้ปฏิบัติใกล้เรียบร้อยแล้ว ส่วนจะให้ถูกใจทุกคนคงเป็นไปไม่ได้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
เช้านี้ นร.บางส่วนแต่งไปรเวท-หลายโรงเรียนสั่งห้ามชี้ขัดระเบียบ
นร.บดินทรฯ บางส่วนใช้อารยะขัดขืน แต่งไปรเวทไปโรงเรียน