วันนี้ (3 ธ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สภาพน้ำในแม่น้ำกลาย ต.นบพิตำ อ.นบพิตำ จ.นครศรีธรรมราช ที่ไหลลงจากเทือกเขาหลวง ยังไหลเชี่ยวกราก ลงสู่อ่าวไทย ที่ อ.ท่าศาลา หลังสะพานคลองกลายยังไม่สามารถซ่อมแซมได้
สะพานคลองกลาย ต.นบพิตำ พังถล่มลงมา เมื่อวานนี้ (2 ธ.ค.) ทำให้มีผู้เสียชีวิต 1 คน และบาดเจ็บอีก 1 คน ทำให้พื้นที่ 13 หมู่บ้านในต.กรุงชิง และต.นบพิตำ อ.นบพิตำ ยังถูกตัดขาด
ชาวบ้าน 13 หมู่บ้าน สัญจรออกมาไม่ได้ เนื่องจากทางเบี่ยงอยู่ไกลออกไปหลายกิโลเมตร ส่วนการซ่อมสะพานหรือก่อสร้างใหม่ ให้แล้วเสร็จคาดว่า จะต้องให้ผ่านพ้นฤดูมรสุมออกไปก่อน
มวลน้ำจากเทือกเขารอยต่อ จ.นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี ไหลบ่าเข้าท่วมถนนสาย 401 สายสุราษฎร์ธานี -นครศรีธรรมราช ช่วงหน้าโรงพยาบาลกาญจนดิษฐ์ ระยะทางประมาณ 2 กิโลเมตร เจ้าหน้าที่ปิดการจราจร 1 ช่องทาง ให้เฉพาะรถใหญ่วิ่งผ่าน
นอกจากนี้มวลน้ำไหลเข้าท่วมบ้านเรือนประชาชน ประมาณ 30 หลัง ระดับน้ำสูง 30-100 ซ.ม. ถนนในหมู่บ้านน้ำท่วมสูง รถไม่สามารถสัญจรผ่านได้ และมีแนวโน้มระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง ขณะนี้ทางจังหวัดมีพื้นที่น้ำท่วมแล้ว 11 อำเภอ และจังหวัดประกาศ พื้นที่ประสบภัยพิบัติแล้ว 9 อำเภอ
ส่วนจังหวัดนครศรีธรรมราช แม้สนามบินจะถูกน้ำล้อมรอบ สูงประมาณ 80 ซ.ม.ถึง 1.5 เมตร สายการบินต่างๆ ยังขึ้นลงตามปกติ เนื่องจากรันเวย์, แทกซี่เวย์, ลานจอด และอาคารผู้โดยสาร ยังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะมีโครงการยกระดับคันกันน้ำรอบสนามบิน ที่เพิ่งสร้างเสร็จไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา ป้องกันมวลน้ำไม่ให้ท่วมสนามบินได้
ส่วนเส้นทางไปสนามบินที่น้ำท่วมสูง กองพันทหารสื่อสาร 24 กองทัพภาคที่ 4 จัดรถเคลื่อนย้ายกำลังพลขนาดใหญ่ รับส่งผู้โดยสารเดินทางเข้า-ออก สนามบิน ไปส่งจุดปลอดภัย
จ.กระบี่ นายอำเภอเขาพนม พร้อมเจ้าหน้าที่ลงสำรวจความเสียหาย และผลกระทบจากภาวะฝนตก ตลอด 3 วันที่ผ่านมา พบพื้นที่ต.พรุเตียว เข้าท่วมบ้านประชาชนในหมู่ที่ 5 มีบ้านประมาณ 10 หลัง ถูกน้ำท่วม และถนนในหมู่บ้านถูกน้ำท่วมสูง ประมาณ 50 ซม. รถไม่สามารถผ่านได้
ส่วนที่ต.โคกหาร น้ำในคลองสินปุน ล้นตลิ่งบ้านเรือนกว่า 20 หลัง เข้าบ้านเข้าออกหมู่บ้านไม่ได้ เจ้าหน้าที่นำเรือท้องแบบเข้ามาช่วยเหลือเบื้องต้น
จังหวัดสงขลา สถานการณ์น้ำท่วมบ้านปากบาง ต.รัตภูมิ อ.ควนเนียง ซึ่งเป็นที่รองรับน้ำจาก อ.บางกล่ำ เพื่อระบายลงสู่ทะเลสาบสงขลา ชาวบ้านในพื้นที่ประสบปัญหาน้ำท่วม หลังมวลน้ำไหลมารวมกัน และมีน้ำทะเลหนุน ทำให้น้ำไม่สามารถระบายลงสู่ทะเลได้ ชาวบ้านต้องใช้เรือสัญจรชั่วคราว
สำหรับจ.สงขลา มีพื้นที่น้ำท่วมทั้งหมด 12 อำเภอ ขณะนี้ทางจังหวัดประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติฉุกเฉิน แล้ว 10 อำเภอ