วันนี้ (7 ธ.ค.2563) นายถาวร เสนเนียม รมช.คมนาคม กล่าวภายหลังการตรวจเยี่ยมและติดตามนโยบายที่ได้มอบแก่กรมท่าอากาศยานว่า การโอนย้ายท่าอากาศยานในกำกับให้บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด มหาชน (ทอท.) เบื้องต้น คณะทำงานได้พิจารณาเสนอท่าอากาศยานกระบี่ ท่าอากาศยานบุรีรัมย์ และท่าอากาศยานชุมพร
ซึ่งได้ทำหนังสือถึง นายชยธรรม์ พรหมศร ปลัดกระทรวงคมนาคม ในฐานะประธานคณะทำงานการพิจารณาดังกล่าวว่า ขอให้คณะทำงานพิจารณาอย่างรอบคอบ รวมถึงพิจารณาเรื่องหลักกฎหมายและความเท่าเทียม
เพราะสนามบินของกรมท่าอากาศยาน ที่ผ่านมาจะดูเรื่องความคุ้มทุนทางเศรษฐกิจ ไม่ได้กังวลเรื่องผลตอบแทนด้านการเงิน แต่ทำเพื่ออำนวยความสะดวก ในการเดินทางให้แก่ประชาชน จึงขอให้พิจารณาเรื่องนี้อย่างรอบคอบ พร้อมมั่นใจว่า กรมท่าอากาศยานมีเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถบริหารงานได้เหมือนกัน
ยังรู้สึกหวงอยู่ เพราะกรมท่าอากาศยานมี 6 สนามบินที่สามารถหารายได้ เพื่อไปเลี้ยงสนามบินน้องๆ ให้สามารถบริการประชาชนต่อไปได้
อย่างไรก็ตามได้ตั้งข้อสังเกตให้คณะทำงานฯ ไปด้วยว่า หากจะให้มีการลงทุนบริหารในสนามบินของ ทย. ก็ควรเป็นท่าอากาศยานที่มีรายได้น้อยจะดีกว่า
ขณะเดียวกันหากจำเป็นต้องให้มีใครเข้ามาบริหารสนามบิน ก็ต้องเปิดกว้าง ไม่ใช่เฉพาะเจาะจง ว่าต้องเป็นรายใดรายหนึ่ง เหมือนกับการเปิดประมูลการบริหารท่าอากาศยานอู่ตะเภา ที่เปิดกว้างให้เอกชนเข้ามายื่นประมูล ซึ่งผู้ชนะให้ผลตอบแทนแก่รัฐสูงสุด 3 แสนล้านบาท
คาดเปิดให้บริการในอีก 1-2 เดือน
สำหรับท่าอากาศยานเบตง จ.ยะลา ยังไม่สามารถเปิดให้บริการได้ทันในเดือน ธ.ค.นี้ ตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ขณะนี้ยังมีปัญหาเรื่องการออกใบอนุญาตการนำร่อนเครื่องบินขึ้นลง จากสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ซึ่งต้องการให้เปิดให้บริการได้เร็วที่สุด
ขณะนี้มี 2 สายการบิน ที่ให้ความสนใจคือบางกอกแอร์เวย์ส และนกแอร์ ยื่นข้อเสนอเพื่อให้รัฐช่วยสนับสนุนในการเปิดทำการบิน โดยมอบให้นายสรพงศ์ ไพฑูรย์พงษ์ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานพิจารณาข้อเสนอลดหย่อนต่างๆ
นายถาวรคาดว่า จะเปิดให้บริการในอีก 1-2 เดือน หรืออย่างช้าในเดือน ก.พ.ปีหน้า พร้อมสั่งการให้พิจารณาดูแลเรื่องการใช้ไม้ไผ่ที่นำมาตกแต่งเป็นสถาปัตยกรรมของสนามบิน เพราะไม้ไผ่มีอายุการใช้งานเพียง 10-15 ปี จึงกังวลว่าอาจจะเกิดปลวก หรือมอดมาเกาะกิน รวมทั้งเกิดอัคคีภัยอาจจะเกิดอัคคีภัย และอาจจะมีปลวกมอด จึงขอให้เข้ามาขอให้เข้ามาดูแล
ขณะเดียวกันยังได้ติดตามการบริหารรวมถึงการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2563 ว่า พบว่ายังมีโครงการที่มีความล่าช้า 12 โครงการที่เบิกจ่ายไม่เป็นไปตามแผนงานที่กำหนด วงเงินกว่า 228 ล้านบาท
จึงสั่งการให้กรมท่าอากาศยาน ตั้งคณะทำงาน เพื่อตรวจสอบข้อเท็จจริงว่า สาเหตุของความล่าช้า เกิดจากความประมาทเลินเล่อในหน้าที่ราชการ หรือขาดประสิทธิภาพจนก่อให้เกิดความเสียหายให้ลงโทษตามกรณี
ส่วนงบประมาณในปี 2564 ได้สั่งการให้ดำเนินการตาม Action Plan ซึ่งต้องมีความชัดเจนมีระยะเวลากำหนดและยึดตามยุทธศาสตร์ชาติและนโยบายของกระทรวงคมนาคม มีการจัดซื้อจัดจ้างที่ถูกต้อง เพราะหลายครั้งที่มีการแก้สัญญาพบว่าเกิดจากแบบที่ไม่สมบูรณ์
ส่วนการก่อสร้าง การจัดทำทีโออาร์ให้หารือกับกรมบัญชีกลางหรือฝ่ายยุทธศาสตร์กระทรวง เพื่อความถูกต้อง และการจัดการงบประมาณปี 2565 ขอให้กรมท่าอากาศยานกระจายงบประมาณอย่างยุติธรรมกับทุกสนามบิน
4 มาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสนามบิน
ส่วนมาตรการเฝ้าระวัง COVID-19 ขณะนี้ได้สั่งการให้แต่ละสนามบินกวดขันการตรวจวัดอุณหภูมิอย่างเคร่งครัดตามหลัก ศบค. เบื้องต้นยืนยันยังไม่พบผู้ที่ติดเชื้อจากการตรวจที่สนามบิน
นอกจากนี้ ยังได้ติดตามในเรื่องของมาตรการเยียวยาผู้ประกอบการสายการบิน ที่ได้รับผลกระทบจากโรคติดเชื้อไวรัส COVID-19 ตามมติคณะรัฐมนตรีที่ต้องการบรรเทาผลกระทบจากสถานการณ์จากโรคดังกล่าว โดยกรมท่าอากาศยานได้มีมาตรการ ดังนี้
- การปรับลดค่าธรรมเนียมการขึ้นลงของอากาศยาน และที่จอดอากาศยาน (Landing & Parking Fee) สำหรับผู้ประกอบการสายการบิน ลงร้อยละ 50 ในช่วงเดือน เม.ย.-ธ.ค.2563
- ลดอัตราค่าเช่าพื้นที่ภายในท่าอากาศยานในสังกัดกรมท่าอากาศยาน 50 เปอร์เซ็นต์ เฉพาะกิจกรรมที่ได้รับผลกระทบจากผู้โดยสารลดลงโดยตรง ที่มีการปรับอัตราค่าเช่าไปแล้ว เป็นระยะเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มี.ค.-31 ส.ค.2563
- ปรับลดอัตราค่าเช่าสำหรับผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทุกรายในอัตราค่าเช่าไม่ต่ำกว่าที่กรมธนารักษ์กำหนด เป็นระยะเวลา 9 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-31 ธ.ค.2563
- ขยายระยะเวลาการชำระเงินในการทำสัญญาเช่าของผู้ประกอบการภายในท่าอากาศยานทุกรายถึงวันที่ 30 มิ.ย.2563