วันนี้ (15 ธ.ค.2563) เว็บไซต์ Air4Thai รายงานสถานการณ์คุณภาพอากาศ พื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล เวลา 07.00 น. พบว่า คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ "คุณภาพปานกลางถึงมีผลกระทบต่อสุขภาพ" โดยตรวพบค่าฝุ่นละออง PM2.5 อยู่ระหว่าง 37-118 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) เกินมาตรฐาน 69 พื้นที่
โดยในเขตกรุงเทพฯ มี 6 พื้นที่ที่พบค่าฝุ่น PM2.5 มากที่สุด และพบค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) เป็นพื้นที่สีแดง ส่งผลให้คุณภาพอากาศอยู่ในระดับ "มีผลกระทบต่อสุขภาพ" ดังนี้
- ริมถนนดินแดง เขตดินแดง วัดได้ 118 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 228
- ริมถนนเจริญนคร เขตคลองสาน วัดได้ 102 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 212
- ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 8 เขตหนองแขม วัดได้ 100 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 210
- ริมถนนศรีนครินทร์ เขตประเวศ วัดได้ 94 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 204
- ริมถนนแยกท่าพระ เขตบางกอกใหญ่ วัดได้ 94 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 204
- ริมถนนสามเสน เขตพระนคร วัดได้ 92 มคก./ลบ.ม. ค่า AQI 203
ขณะที่เว็บไซต์ Airvisual รายงานข้อมูลเมืองที่มีมลพิษทางอากาศสูง (AQI) 10 อันดับทั่วโลก เมื่อเวลา 08.21 น. ดังนี้
- บิชเคก, คีร์กีซสถาน AQI 240
- Tel Aviv-Yafo, อิสราเอล AQI 233
- โกลกาตา, อินเดีย AQI 232
- ธากา, บังกลาเทศ AQI 230
- Ulaanbaatar, มองโกเลีย AQI 206
- วรอตสวัฟ, โปแลนด์ AQI 188
- การาจี, ปากีสถาน AQI 177
- กรุงเทพมหานคร, ไทย AQI 175
- ลาฮอร์, ปากีสถาน AQI 168
- Kuwait City, คูเวต AQI 162
แนะเฝ้าระวังสุขภาพ-เลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้ง
ศูนย์ประสานงานและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศในกรุงเทพมหานคร แนะนำว่า หากคุณภาพอากาศเริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ ให้ประชาชนในบริเวณที่มีมลพิษทางอากาศเกินมาตรฐานเฝ้าระวังสุขภาพ หากมีอาการไอ หายใจลำบาก ระคายเคืองตา ควรลดระยะเวลาการทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะ ผู้สูงอายุ เด็กและผู้ป่วยทางเดินหายใจ และใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากเกิดความจำเป็น
หากคุณภาพอากาศมีผลกระทบต่อสุขภาพ ควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมกลางแจ้งทุกชนิด หลีกเลี่ยงพื้นที่ที่มีมลพิษทางอากาศสูง หรือใช้อุปกรณ์ป้องกันตนเองหากมีความจำเป็น หากมีอาการทางสุขภาพควรปรึกษาแพทย์