ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักฟิสิกส์ไทยทำนายดาวนิวตรอนมี "ควาร์กอิสระ" ในแกนกลาง

Logo Thai PBS
นักฟิสิกส์ไทยทำนายดาวนิวตรอนมี "ควาร์กอิสระ" ในแกนกลาง
นักฟิสิกส์ไทยรับทุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง วช.ศึกษาทฤษฎีทางเลือก ทำนายการมีอยู่ของดาวนิวตรอนที่ในแกนกลางมี "ควาร์กอิสระ" ซึ่งปกติควาร์กไม่สามารถอยู่ได้อย่างอิสระในธรรมชาติและการทำนายทางทฤษฎีนี้รอการตรวจพบโดยนักสังเกตการณ์ต่อไป

วันนี้ (16 ธ.ค.2563) รศ.ดร.พงษ์พิชิต จันทร์นุ้ย อาจารย์สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ เปิดเผยว่า งานวิจัยที่ได้รับทุนจากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ประเภททุนพัฒนานักวิจัยรุ่นกลาง (เมธีวิจัย) เพื่อศึกษาทฤษฎีความโน้มถ่วงแบบปรับแต่ง และผลสืบเนื่องทางดาราฟิสิกส์และจักรวาลวิทยา เพิ่งได้รับเลือกให้ตีพิมพ์ลงวารสาร The Astrophysical Journal เป็นวารสารของ American Astronomical Society

ทั้งนี้ เป็นเรื่องน่าตื่นเต้นสำหรับนักวิจัยในวงการ เพราะวารสารดังกล่าวมีความเข้มงวดทางวิชาการสูงมาก โดยบทความวิจัยส่วนใหญ่ที่ได้รับการตีพิมพ์จะใช้ฟิสิกส์มาตรฐานที่นักฟิสิกส์และนักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ส่วนใหญ่เชื่อถืออยู่แล้ว

"ดาวนิวตรอน" อาจมีมวล 2 เท่าของดวงอาทิตย์

ทฤษฎีทางเลือกที่ รศ.ดร.พงษ์พิชิต และคณะเลือกใช้ คือทฤษฎีความโน้มถ่วงไอน์สไตน์ - เกาส์ - โบเนต์ใน 4 มิติ (4D Einstein-Gauss-Bonnet gravity) ทำนายสมบัติของดาวนิวตรอนที่มี "ควาร์กอิสระ" เป็นองค์ประกอบของแกนกลาง ซึ่งปกติแล้วควาร์กไม่สามารถดำรงอยู่ได้แบบอิสระในธรรมชาติ หรือแม้กระทั่งในห้องปฏิบัติการทางฟิสิกส์อนุภาคและนิวเคลียร์ ผลลัพธ์ที่สำคัญของงานวิจัยนี้จะช่วยอธิบายว่า ถ้ามวลส่วนใหญ่ของดาวนิวตรอนประกอบไปด้วยควาร์กอิสระ ดาวนิวตรอนที่ทำนายได้จะมีมวลประมาณสองเท่าของมวลดวงอาทิตย์

รศ.ดร.พงษ์พิชิต กล่าวอีกว่า ปกติเราสนใจแต่ความโน้มถ่วงในทฤษฎีสัมพัทธภาพของ อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ แต่ในกรณีที่กำลังศึกษาความโน้มถ่วงของไอน์สไตน์จะไม่ให้ค่าดาวนิวตรอนที่มวลเป็นสองเท่าของดวงอาทิตย์ จากข้อมูลสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์พบว่า ดาวนิวตรอน สามารถมีมวลเป็นสองเท่าของดวงอาทิตย์ได้ เราจึงต้องหาทฤษฎีอื่นๆ มาอธิบาย ซึ่งแบบจำลองความโน้มถ่วงไอน์สไตน์ - เกาส์ - โบเนต์ ใน 4 มิติ เป็นทฤษฎีหนึ่งในส่วนขยายของแบบจำลองความโน้มถ่วงของไอน์สไตน์

ปกติแบบจำลองความโน้มถ่วงไอน์สไตน์ - เกาส์ - โบเนต์ จะใช้อธิบายฟิสิกส์ได้ในกรณีที่เอกภพมี 5 มิติขึ้นไปเท่านั้น ทว่าเราอาศัยอยู่ในเอกภพ 4 มิติ ซึ่งเมื่อต้นปี พ.ศ.2563 มีงานวิจัยที่นำเสนอรูปแบบของความโน้มถ่วงไอน์สไตน์ - เกาส์ - โบเนต์ ในเอกภพ 4 มิติ โดยใช้วิธีการกำจัดค่าอนันต์ในความโน้มถ่วง และทีมวิจัยที่นำโดย รศ.ดร.พงษ์พิชิต จึงได้นำแบบจำลองสำหรับเอกภพ 4 มิติ ดังกล่าวมาศึกษาดาวนิวตรอน ซึ่งเป็นเรื่องงานวิจัยที่ได้รับความสนใจจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกเช่นเดียวกันกับหลุมดำ

หวังเป็นตัวแปรสำคัญพัฒนาทฤษฎีฟิสิกส์ใหม่

อย่างไรก็ตาม แบบจำลองความโน้มถ่วงไอน์สไตน์ - เกาส์ - โบเนต์ในเอกภพ 4 มิติ มีความเปราะบางในแง่การยอมรับจากนักวิทยาศาสตร์ และยังเป็นที่ถกเถียงในแวดวงนักฟิสิกส์ ถึงจุดอ่อนและข้อบกพร่อง คณะผู้วิจัยจึงต้องใช้พยายามอย่างยิ่งในการนำเสนอผลการคำนวณทางคณิตศาสตร์และหลักการทางฟิสิกส์ เพื่อให้กรรมการผู้ตัดสินบทความและบรรณาธิการวารสารยอมรับให้ลงตีพิมพ์การได้รับตีพิมพ์บทความ จึงเป็นสิ่งที่น่าตื่นเต้นสำหรับนักวิจัยในวงการและการค้นหาดาวนิวตรอนที่มีควาร์กอิสระในแกนกลางจะเป็นตัวแปรสำคัญต่อการพัฒนาทฤษฎีใหม่ทางฟิสิกส์ในอนาคต

สำหรับงานวิจัยนี้ รศ.ดร.พงษ์พิชิต มีความร่วมมือกับนักวิจัยทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ ได้แก่ ดร.ดริศ สามารถ อาจารย์สาขาฟิสิกส์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น, นายถกล ตั้งผาติ นักศึกษาปริญญาเอก สาขาฟิสิกส์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อายัญ บาเนอร์จี จากหน่วยวิจัยดาราศาสตร์ฟิสิกส์และจักรวาลวิทยา มหาวิทยาลัยควาซูลู-นาทาล ประเทศแอฟริกาใต้

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง