วันนี้ (17 ธ.ค.2563) ศูกรมควบคุมมลพิษ รายงานสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 เมื่อเวลา 07.00 น. โดยภาพรวมปริมาณ PM2.5 ในกรุงเทพฯ และปริมาณฑล อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน ขณะเดียวกันพบปริมาณฝุ่น "เริ่มมีผลกระทบต่อสุขภาพ" 11 พื้นที่ โดยตรวจวัดค่าฝุ่นได้ 15-75 ไมโครกรัมต่อลูกบากศ์เมตร (มคก./ลบ.ม.)
พื้นที่ที่ตรวจวัดค่าฝุ่นเกินมาตรฐานสูงสุด 3 อันดับแรก คือ ริมถนนมาเจริญ เพชรเกษม 81 เขตหนองแคม วัดได้ 75 มคก./ลบ.ม., ริมถนนคลองทวีวัฒนา เขตทวีวัฒนา วัดได้ 70 มคก./ลบ.ม. และ ต.มหาชัย อ.เมือง จ.สมุทรสาคร วัดได้ 70 มคก./ลบ.ม.
สำหรับภาพรวมสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 ทั่วประเทศ ภาคเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 10-37 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 4-19 มคก./ลบ.ม., ภาคกลางและตะวันตก อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 14-37 มคก./ลบ.ม., ภาคตะวันออก อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 11-19 มคก./ลบ.ม. และภาคใต้ อยู่ในเกณฑ์ดีมาก ตรวจวัดได้ 3-24 มคก./ลบ.ม.
กทม.ยังไม่ปิด 437 โรงเรียนหนีฝุ่น
นายเกรียงไกร จงเจริญ ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า สำนักการศึกษาติดตามสถานการณ์ฝุ่น PM2.5 อย่างใกล้ชิด แต่ในขณะนี้ยังไม่มีการสั่งปิดโรงเรียนในสังกัด กทม. 437 แห่ง เนื่องจากยังมีมาตรการรองรับได้ ตามข้อกำชับของผู้ว่าฯ กทม. ทั้งการแจกพัดลมเพื่อช่วยระบายอากาศ และมีแผ่นกรองฝุ่นให้ทุกโรงเรียน ทำห้องเซฟโซน หรือห้องเรียนปลอดฝุ่นในห้องเรียนเด็กเล็กชั้นอนุบาล 1-2 ใน 437 โรงเรียน รวมทั้งหมด 1,841 ห้อง
ทั้งนี้ การจะปิดเรียนหรือไม่นั้น ผู้อำนวยการเขตและผู้บริหารโรงเรียนจะร่วมกันพิจารณาจากสถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นในพื้นที่ว่าจะต้องปิดเรียนหรือไม่ ซึ่งสำนักการศึกษา เตรียมจัดทำห้องเรียนปลอดฝุ่นแบบถาวรในทุกโรงเรียน ต้องมีเครื่องกรองอากาศและเครื่องวัดค่าฝุ่น และต้องใช้งบประมาณในการดำเนินการ โดยจะมีการอบรมแนวทางปฏิบัติในเดือน ม.ค.2564
นอกจากนี้ สำนักอนามัยได้กำชับเจ้าหน้าที่ศูนย์บริการสาธารณสุขทั้ง 69 แห่ง ร่วมกับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครสาธารณสุข ลงพื้นที่ประชาสัมพันธ์ประชาชนในชุมชนที่มีค่าฝุ่นสูงเกินมาตรฐานในระดับ 90 มคก./ลบ.ม. ซึ่งเป็นค่าฝุ่นที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ โดยแนะนำประชาชนสวมหน้ากากอนามัย งดทำกิจกรรมกลางแจ้ง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงคือ ผู้สูงอายุ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้ที่มีโรคประจำตัว
ส่วนประชาชนทั่วไปในระยะนี้ หากไม่มีกิจกรรมที่ต้องทำกลางแจ้ง ควรงดออกนอกอาคาร แต่หากต้องเดินทางให้สวมหน้ากากอนามัย ใช้รถโดยสารสาธารณะ และเมื่อถึงจุดหมายให้รีบเข้าไปในตัวอาคารทันที หากมีอาการระคายเคืองบริเวณใบหน้า ผิวหนัง หรือแสบตา เมื่อเข้าไปในอาคารแล้วให้รีบล้างด้วยน้ำสะอาด เพื่อลดการระคายเคือง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เช่น ผู้ป่วยที่มีโรคระบบทางเดินหายใจ อาจจะถูกกระตุ้นด้วยฝุ่นในระยะนี้ หากมีอาการมากขึ้นให้รีบไปพบแพทย์
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ฝุ่นพุ่ง! ศกพ.ประสานต้นสังกัด ร.ร.ใน กทม.งดกิจกรรมกลางแจ้ง
แก้ฝุ่น! กทม.สั่งงดก่อสร้างรถไฟฟ้า-อาคารสูง พิจารณาปิดเรียน