วันนี้ (18 ธ.ค.2563) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ได้รับแจ้งว่าพบพะยูนตาย 1 ตัว ลอยอยู่ในทะเลระหว่างเกาะแหวนกับเกาะกระดาน หมู่ที่ 2 ต.เกาะลิบง อ.กันตัง จ.ตรัง จึงได้ประสานสัตวแพทย์ ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ทำการชันสูตรหาสาเหตุการตายอย่างละเอียด
ภาพ : เฟซบุ๊ก ทิพย์อุสา จันทกุล
สัตวแพทย์ประจำศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามันตอนล่าง ตรวจสอบพบว่าพะยูนมีความยาว 2.56 เมตร ความยาววัดแนบลำตัว 2.57 เมตร น้ำหนักประมาณ 300 กิโลกรัม ท้องป่อง ลักษณะภายนอกมีบาดแผลประมาณ 3-4 นิ้ว มีแผลถูกแทงตามลำตัวจนทะลุม้าม ส่วนที่มุมปากพบว่าเขี้ยวทั้ง 2 ข้างถูกตัดหายไป อวัยวะอื่นๆ ยังอยู่ครบ นอกจากนี้ยังพบว่ามีลูกพะยูนอยู่ในท้องด้วย ซึ่งสร้างความสะเทือนใจให้กับเจ้าหน้าที่เป็นอย่างมาก
ภาพ : เฟซบุ๊ก ทิพย์อุสา จันทกุล
เบื้องต้นยังไม่ชัดเจนว่าพะยูนท้องแก่ตัวนี้ ว่ายน้ำหากินเข้าไปติดอวนของชาวประมง แล้วถูกชาวประมงฆ่าเพื่อปลดอวนและฉวยโอกาสตัดเขี้ยวไปด้วยหรือไม่ หรืออาจเกิดจากขบวนการล่าพะยูน เพื่อเอาเขี้ยวไปเป็นเครื่องรางของขลังตามความเชื่อและตามใบสั่ง เช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อน
สำหรับพะยูนตัวนี้ถือเป็นตัวที่ 4 ที่ตายในปี 2563 และเป็นความสูญเสียพะยูนในทะเลตรัง ซึ่งคาดว่าเกิดจากความตั้งใจของมนุษย์และเป็นตัวแรกในรอบหลายปีที่ถูกตัดเขี้ยว ทั้งนี้ภาพรวมในทะเลตรังมีพะยูน ประมาณ 180 ตัว ซึ่งเป็นฝูงใหญ่ที่สุดในประเทศไทย
เรียกร้อง ครม.เร่งพิจารณาแผนดูแลสัตว์ทะเลหายาก
ขณะที่ ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม โพสต์เพซบุ๊ก Thon Thamrongnawasawat เกี่ยวกับกรณีที่เกิดขึ้น โดยระบุว่า การดูแลสัตว์ทะเลหายากให้อยู่รอดในทะเลไทย ถือเป็นเรื่องเร่งด่วน โดยเฉพาะมาเรียมโปรเจ็ค ซึ่งเป็นโครงการดูแลสัตว์ทะเลหายากที่ผ่านทุกขั้นตอนแล้ว แต่ยังไม่ได้เข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม. อาจเป็นเพราะที่ผ่านมาประเทศไทยมีปัญหาเร่งด่วนหลายอย่าง แต่การดูแลสัตว์ทะเลหายากก็เป็นเรื่องเร่งด่วนเช่นกัน
ข่าวเศร้าก่อนสิ้นปี วันนี้มีพะยูนตายที่ตรัง เป็นเพศเมีย เธอกำลังจะเป็นคุณแม่ และ “อาจ” มีร่องรอยว่าถูกฆ่าและโดนตัดเขี้ยว...
โพสต์โดย Thon Thamrongnawasawat เมื่อ วันพฤหัสบดีที่ 17 ธันวาคม 2020
1 ใน 4 ของซากพะยูนถูกขโมยชิ้นส่วน
ก่อนหน้านี้ นายก้องเกียรติ กิตติวัฒนวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอันดามัน โพสต์เฟซบุ๊ก Kongkiat Kittiwatanawong เมื่อวันที่ 11 ต.ค.ที่ผ่านมา ระบุว่า
แต่ละครั้งที่พบพะยูนเกยตื้นเสียชีวิต ชิ้นส่วนของซากไม่ว่าจะเป็นเนื้อ กระดูก หัว และเขี้ยว มักถูกขโมยไปจากซากที่พบ สถิติจากอดีตถึงปัจจุบันแม้ดูเหมือนว่าการกระทำเช่นนี้จะลดลง แต่ในช่วง 12 ปีที่ผ่านมา ยังพบว่า 1 ใน 4 ของซากพะยูนถูกขโมยชิ้นส่วน