วันนี้ (24 ธ.ค.2563) นางเมทินี ชโลธร ประธานศาลฎีกา ให้ทิศทางการทำงานของศาลฎีกา ว่า ในปี 2564 มีแนวคิดในพัฒนางานในหลายด้าน เช่น การคุ้มครองสิทธิ์ผู้เสียหายหรือจำเลย โดยจะเน้นขับเคลื่อนการให้ความรู้ในการเข้าถึงการคุ้มครองสิทธิ์แก่ผู้เสียหาย ผู้เป็นเหยื่อ โดยทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการยุติธรรม ต้องได้รู้สิทธิ์เหล่านี้ตั้งแต่ขั้นตอนแรกของกระบวนการ รวมไปถึงสิทธิ์ที่จะเรียกร้องการคุ้มครอง เยียวยาต่างๆ
เรื่องนี้ต้องร่วมมือกันตั้งแต่ขั้นพนักงานสอบสวน อัยการ และศาล เพื่อบูรณาการการทำงานร่วมกันไปจนถึงประโยชน์สูงสุด ต่อประชาชนผู้ตกเป็นคดีความ ไม่ว่าจะฝ่ายจำเลยหรือผู้เสียหาย เพื่ออำนวยการคุ้มครองและความยุติธรรม

ใช้แอพลิเคชั่นบริการเพื่อความรวดเร็ว
ขณะเดียวกันมีโครงการนำร่อง ใช้เทคโนโลยีเข้ามาอำนวยการติดต่อสอบถาม เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ประชาชน เข้าถึงบริการได้อย่างรวดเร็ว โดยใช้แอพลิเคชั่นไลน์ เข้ามาช่วยสนับสนุนงานบริการ
ส่วนประเด็นข้อซักถามเกี่ยวกับการวิพากษ์วิจารณ์ทางการเมือง นางเมทินีกล่าวว่า การทำงานของศาล พยายามอยู่ตรงจุดที่เป็นกลางที่สุดแล้ว จะไม่ให้การเมืองเข้ามาเกี่ยวข้องอะไร แต่เวลาที่มีการกล่าวถึงอ้างอิงถึง ก็สุดแท้แต่คนจะมอง
ทำอะไรไปอย่างหนึ่ง เป็นศาลก็จะโดนว่าทั้งคู่ ไม่ว่าจะมีคำสั่งหรือมีแนวทางอะไรก็ตาม เป็นธรรมชาติการทำงานของศาล ว่าจะต้องมีฝ่ายหนึ่งพอใจ ฝ่ายหนึ่งไม่พอใจ หรือไม่พอใจทั้งสองฝ่าย แต่ว่าอยากให้ทุกคนได้ดูสิ่งที่เราทำออกไป ว่าให้ความเป็นธรรมอยู่แล้วหรือยัง ดูดีหรือยัง
เน้นวางตัวเป็นกลาง ไร้การเมืองแทรกแซง
ประธานศาลฎีกากล่าวว่า ทุกครั้งจะเรียนท่านผู้พิพากษาว่า การสั่งหรือมีคำพิพากษา หรือมีคำสั่งในเรื่องใดๆ ก็ตาม ไม่ว่าจะเกี่ยวข้องกับการเมืองหรือไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง ถ้าเรามีเหตุผลในคำสั่งนั้นอย่างชัดเจน คำสั่งที่แตกต่างกัน ผลที่แตกต่างกัน ต้องให้เหตุผลให้เห็นว่า แต่ละเคสมันต่างกันอย่างไร ผลออกไปถึงต่างกัน
“เพราะฉะนั้นเวลาที่คนดู จะไปดูผลอย่างเดียวไม่ได้ ต้องดูสาเหตุว่า ฟ้องข้อหาอะไร มีปัจจัยอะไร ในคำสั่งมีเหตุผลประกอบอย่างไร ส่วนเหตุผลจะชอบใจ หรือไม่ชอบใจ อันนี้ก็แล้วแต่คนแล้ว แต่เชื่อว่าเราวางตัวเป็นกลาง เท่าที่ผ่านมาก็พอใจในการทำงานของท่านผู้พิพากษาในแต่ละศาล ท่านก็ได้รักษาจุดยืนที่มั่นคงพอสมควรในการให้เหตุผลประกอบในการมีคำสั่ง ถือว่าชัดเจน” นางเมทินีกล่าว

นางเมทินียังกล่าวถึงกรณีศาลเรียกไกล่เกลี่ยด้วยว่า จริงๆ ศาลอยากให้ทั้งสองฝ่ายที่ทะเลาะกัน มีข้อขัดแย้งกัน สามารถออกไปจากศาลด้วยความเป็นมิตรต่อกัน ผู้เสียหายที่ได้รับความเสียหายไปแล้ว ไม่ว่าทางร่างกายหรือจิตใจ ไม่สามารถเยียวยาได้ด้วยเงินทั้งหมด แต่ก็ยังรู้สึกว่ามีการชดเชยในบางส่วนได้ และศาลจะเป็นคนดูแลให้เขารู้ถึงสิทธิเหล่านี้ว่าทำอะไรได้บ้าง ภายหลังที่ศาลพิพากษาไปแล้ว
สมมุติว่าให้ได้รับค่าสินไหมทดแทน ก็จะดูแลจนกว่าเขาจะบังคับคดีให้ได้รับเงินจำนวนนั้นด้วย โดยสามารถแต่งตั้งทนายความขอแรง ดำเนินการช่วยให้คำแนะนำได้ รวมถึงแจ้งสิทธิอุทธรณ์ ฎีกา และการเข้ามาเป็นโจทก์ร่วมสามารถทำอะไรได้บ้าง
ศาลฎีกามีคดีค้างกว่า 4,000 คดี
ส่วนผลการทำงานของศาลฎีกา ในรอบปี 2563 ศาลฎีกามีปริมาณคดีที่ต้องพิจารณาอยู่ 25,316 คดี โดยมีคดีพิจารณาแล้วเสร็จอยู่ที่ 20,545 คดีคิดเป็นปริมาณคดีแล้วเสร็จร้อยละ 81.15 มีคดีค้างการพิจารณา 4,771 คดี
โดยศาลฎีกามีแนวทางในการพิจารณาคดีให้แล้วเสร็จไม่เกิน 12 เดือน นับแต่วันที่ศาลฎีการับคดีนั้นไว้ เพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานระยะเวลา ในการพิจารณาพิพากษาคดี ไม่ให้ล่าช้าจนเกินไป ซึ่งเป็นหลักการให้ความสำคัญกับคดีที่จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา

ปัจจุบันมีคดีที่จำเลยต้องขังค้างพิจารณาในศาลฎีกา 337 คดี โดยเป็นคดีที่ค้างพิจารณาเกินหกเดือนแต่ไม่เกิน 12 เดือนอยู่ 13 คดี ซึ่งหลักการพิจารณาคดีตามมาตรฐานระยะเวลานี้ เพื่อเป็นหลักประกันในการคุ้มครองสิทธิเสรีภาพของจำเลยและเพื่อเป็นการลดการคุมขังที่ไม่จำเป็น
ใช้เทคโนโลยีเพิ่มความสะดวกในการทำงาน
ขณะเดียวกันในรอบปีที่ผ่านมาศาลฎีกาได้นำเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาใช้ในการสนับสนุนงานพิพากษา ด้วยการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกา ในคดีอาญา ให้จำเลยที่ถูกคุมขังในเรือนจำได้ฟัง ผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียง ในลักษณะการประชุมทางจอภาพรวม 20 คดีด้วยกัน ส่งผลให้จำเลยที่ถูกคุมขังได้รับทราบคำพิพากษาศาลฎีกาเร็วขึ้น
หากคดีนั้นในที่สุดศาลฎีกาพิพากษายกฟ้อง ก็จะมีการออกหมายปล่อยตัวทันที เพื่อให้ผลจากการถูกคุมขัง โดยไม่จำเป็น หากพิพากษาลงโทษจำคุก ก็จะมีการออกหมายจำคุก เมื่อคดีถึงที่สุดทันทีเช่นกัน

อันจะเป็นผลให้จำเลยได้รับสิทธิ์เป็นนักโทษเด็ดขาดที่อาจได้รับประโยชน์ ตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์หรืออาจได้รับสิทธิ์พระราชทานอภัยโทษ ตามพระราชกฤษฎีกาพระราชทานอภัยโทษ
ขณะที่เป้าหมายในปี 2564 ศาลฎีกาจะดำเนินการอ่านคำพิพากษาศาลฎีกาในคดีอาญาที่จำเลยถูกคุมขังในระหว่างการพิจารณาของศาลฎีกา ผ่านการถ่ายทอดภาพและเสียงในลักษณะการประชุมทางจอภาพให้ได้ทุกคดี