ทันทีที่ พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความระบุว่า ได้ลงนามในประกาศการกำหนดอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในราคาสูงสุดไม่เกิน 104 บาท ผู้โดยสารที่ใช้บริการต่างโพสต์แสดงความคิดเห็นในสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก
จากการสอบถามผู้ใช้บริการหลายคนบอกว่าไม่เห็นด้วย เพราะการปรับค่าโดยสารครั้งนี้ อัตราสูงสุดเพียงเที่ยวเดียวก็คิดเป็น 1 ใน 3 ของค่าแรงขั้นต่ำในแต่ละวันแล้ว แต่ก็มีผู้โดยสารบางคนบอกว่าราคานี้ยังพอรับได้ เมื่อเทียบกับเรื่องของระยะทาง แต่หากปรับลดลงได้ก็จะเป็นประโยชน์กับประชาชน
ทางออกสำหรับเรื่องอัตราค่าโดยสาร นายสามารถ ราชพลสิทธิ์ รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ และรองอดีตรองผู้ว่ากรุงเทพฯ เสนอว่า ค่าโดยสารสูงสุดของรถไฟฟ้าสายสีเขียวสามารถทำให้ถูกกว่า 65 บาทได้ หากรัฐบาลรับภาระหนี้ประมาณ 68,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นหนี้ที่ต้องชำระภายในปี 2572 แทน กทม. หรือ กทม.รับผลตอบแทนจากบีทีเอสลดลงเหลือน้อยกว่า 200,000 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ผู้โดยสารจ่ายค่าโดยสารแพง
นี่อาจเป็นทางออกสำหรับปัญหาค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีเขียวในขณะนี้แต่ก็มีคำถามกลับมาเช่นกันว่าจะคุ้มค่าหรือไม่หากต้องนำภาษีของคนทั้งประเทศมาแบกรับระบบขนส่งมวลชนที่ใช้ในกรุงเทพฯและปริมณฑลเท่านั้น
เเต่ก็ต้องติดตามเพราะที่ กทม.ต้องเร่งประกาศอัตรารถไฟฟ้าสายสีเขียว 104 บาทก่อน เพราะมีกฎที่ว่าจะปรับค่าโดยสารต้องประกาศอัตราก่อนล่วงหน้า 30 วัน ผู้ว่า กทม.ประกาศมาตั้งแต่ 3 วันก่อนเหมือนโยนหินถามทางว่า 104 บาท ไหว หรือไม่ ถ้าไม่ไหว รัฐบาล หรือ ครม. ก็ต้องเลือกวิธีต่อสัมปทานเอกชน 30 ปี แล้วจะได้อัตราสูงสุด 65 บาท ก็ต้องรอดูว่า กระทรวงคมนาคม จะว่าอย่างไร เพราะกระทรวงคมนาคมเรียกร้องให้ กทม.ชะลอไปก่อน จนกว่าจะหาทางออกที่ดีได้และกรมขนส่งทางราง ร่อนหนังสือ ยืนยันว่าค่าโดยสารรถไฟฟ้าต่ำกว่านี้ได้โดยเทียบกับสายสีน้ำเงิน สีชมพู สีเหลือง สีม่วง ที่คมนาคมดูแลอยู่