ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

"หมอยง" ชี้วัคซีน COVID-19 แค่ตัวเสริม - เลือกดีที่สุด

สังคม
20 ม.ค. 64
16:00
374
Logo Thai PBS
"หมอยง" ชี้วัคซีน COVID-19 แค่ตัวเสริม - เลือกดีที่สุด
นพ.ยง ภู่วรวรรณ ชี้ตลาดวัคซีน COVID-19 ในปัจจุบันเป็นของผู้ขาย ระบุจะพยายามเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด แต่การฉีดวัคซีนเป็นเพียงมาตรการเสริมนอกเหนือจากการป้องกันการแพร่ระบาดตามปกติ

วันนี้ (20 ม.ค.2564) นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย แถลงเกี่ยวกับวัคซีน COVID-19 ว่า วัคซีน COVID-19 เป็นที่สนใจไปทั่วโลก และมีไม่เพียงพอ ตลาดเป็นของผู้ขาย แม้ว่าจะมีเงิน แต่ไม่สามารถหาซื้อได้ตามเป้าหมาย หากมีการฉีดวัคซีนให้กับประชากรทั่วโลกประมาณร้อยละ 70 อาจจะต้องใช้วัคซีนประมาณ 4,000 ล้านโดส ซึ่งในปัจจุบัน บริษัทที่สามารถผลิตได้มากกว่า 1,000 ล้านโดส หายาก แต่ผลิตได้ 100 ล้านโดส มีโอกาสเป็นไปได้

อย่างไรก็ตาม จะพยายามเลือกวัคซีนที่ดีที่สุด มองว่าการฉีดวัคซีนเป็นเพียงมาตรการเสริม นอกเหนือจากการควบคุมและป้องกันการแพร่ระบาดตามปกติ โดยขอให้ประชาชนมีระเบียบและวินัยในการป้องกันตัวเอง เช่น การใส่หน้ากากอนามัย เว้นระยะห่างทางสังคม หมั่นล้างมือให้สะอาด และหลีกเลี่ยงไปในสถานที่แออัด เป็นต้น

การฉีดวัคซีนไม่ช่วยลดการเป็นโรค

สำหรับข้อเสนอให้ฉีดวัคซีนกับประชาชนในวัยแรงงาน เพื่อที่จะได้ไม่นำเชื้อไปติดครอบครัวและผู้สูงอายุนั้น มองว่ายังต้องมีการพิสูจน์จากองค์การอาหารและยาก่อน ซึ่งการใช้วัคซีนเป็นเพียงการลดความรุนแรงของโรค ลดการนอนในโรงพยาบาล ลดการสูญเสียทรัพยากร และลดการเสียชีวิต แต่ไม่ได้ลดการเป็นโรค จึงไม่มีเหตุให้ฉีดวัคซีนในวัยแรงงานก่อน ขณะที่การติดเชื้อในผู้สูงอายุ มีโอกาสเสียชีวิตได้มากกว่า

 

 

ส่วนกรณีการใช้วีคซีนในเด็ก พบว่าปัจจุบันยังไม่มีการศึกษาวัคซีนในเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ส่วนใหญ่จะเป็นการศึกษาวัคซีนในผู้ใหญ่ รวมทั้งโอกาสที่เด็กจะเสียชีวิตจาก COVID-19 มีน้อยมาก ซึ่งต้องรอการศึกษาก่อนว่าวัคซีนตัวนี้สามารถลดโดสในผู้ใหญ่แล้วนำมาฉีดกับเด็กได้หรือไม่ และจะใช้วัคซีนจำนวนเท่าไหร่ จึงจะเหมาะสมกับเด็ก

"สตรีตั้งครรภ์" พิจารณารายบุคคล

นพ.ยง กล่าวว่า กรณีสตรีตั้งครรภ์ ไม่แนะนำให้ใช้วัคซีน แต่ไม่ได้หมายความไม่ให้ใช้เลย โดยปกติแล้ว หากผลิตวัคซีนขึ้นมาใหม่จะไม่ใช้กับสตรีตั้งครรภ์ แต่เมื่อมีข้อมูลการทดลองในผู้ใหญ่มากพอแล้ว อาจจะพิจารณาให้ใช้วัคซีนได้ นอกจากนี้ หากพบว่าสตรีตั้งครรภ์อาศัยอยู่ในพื้นที่การแพร่ระบาดของ COVID-19 จะต้องพิจารณาว่าเมื่อเปรียบเทียบกับความเสี่ยงแล้วจะใช้วัคซีนหรือไม่ หากมีความจำเป็นให้พิจารณาเป็นรายบุคคลไป

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวดี! "ชัยนาท" หายป่วย COVID-19 ครบทั้ง 8 คน 

ดีอีเอสแจ้งความ "ธนาธร" ม.112 ปมไลฟ์ตั้งข้อสังเกตวัคซีน

เราชนะ ถ้า...เราไม่ทิ้งกัน 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง