วันนี้ (25 ม.ค.2564) นพ.เฉวตสรร นามวาท รักษาราชการแทนผู้อำนวยการกองควบคุมโรคและภัยสุขภาพในภาวะฉุกเฉิน กรมควบคุมโรค แถลงกรณีสถานการณ์ COVID-19 มีแนวโน้มที่ดีขึ้น โอกาสที่จะผ่อนปรนมาตรการต่างๆ เช่น การเปิดโรงเรียน การเปิดมหาวิทยาลัยจะมีการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้างหรือไม่ว่า อยู่ในขั้นตอนของการพิจารณา ซึ่งโดยรวมแล้วจะมีการพิจารณาทุก 2 สัปดาห์ ว่าสถานการณ์คงตัวอย่างนี้จะทำอย่างไร
สำหรับภาพเหตุการณ์ในช่วงระลอกใหม่ต่อเนื่องมาถึงต้นเดือน ม.ค.2564 จะเห็นว่าจำนวนจังหวัดที่พบผู้ป่วยลดน้อยลงอย่างชัดเจน แสดงว่าพื้นที่ที่ป่วยไม่มากมีการขีดวงและจำกัดการแพร่กระจายได้ดี ก็น่าจะได้รับการพิจารณาในเรื่องของการผ่อนปรน หรือผ่อนคลายความเข้มข้นลงไป แต่พื้นที่ที่พบผู้ป่วยค่อนข้างชุกมากๆ การที่จะให้เห็นภาพการลดลงที่รวดเร็วทันใจ อาจจะต้องอดทนอีกสักนิด และยังต้องมีมาตรการที่ต่อเนื่องอยู่ แต่ว่าจะมีบางส่วนที่คลายลงได้บ้าง
ยืนยันผู้ประกาศ NBT ไม่ได้ร่วมปาร์ตี้
ส่วนกรณีผู้ประกาศ NBT นั้น ข้อมูลมีการยืนยัน สอบถามเพิ่มเติม ระบุว่าไม่ได้เข้าร่วมงานวันเกิดของ นายเตชินท์ พลอยเพชร หรือ ดีเจมะตูม ขอเรียนเพิ่มเติมเพื่อความเข้าใจที่ถูกต้อง
สำหรับกรณีที่มีการแพร่ระบาด COVID-19 จากงานวันเกิดของดีเจมะตูมประมาณ 18-19 คน นพ.เฉวตสรร ระบุว่า ด้วยความตื่นตัวของประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งได้รับการแจ้งข้อมูลจากทั้งผู้ที่เกี่ยวข้องและบรรดาเพื่อนฝูงที่รู้จักกันแจ้งด้วย และการให้ข้อมูลกับบุคลากรและเจ้าหน้าที่สอบสวนโรค มีความครอบคลุมครบถ้วนดี ก็ขอให้วางใจ ซึ่งแม้แต่คนที่สัมผัสเสี่ยงสูงที่ตรวจแล้วผลเป็นลบ ก็ยังต้องมีการกักตัวต่อไป เพราะว่าตามหลักวิชาการ คือบางคนอาจจะเริ่มป่วยค่อนข้างเร็ว ภายใน 2-3 วัน บางคนเริ่มป่วยภายใน 1 สัปดาห์ แต่จะให้มั่นใจที่สุดคือ 2 ระยะฟักตัว คือประมาณ 14 วัน เพราะฉะนั้น ซึ่งยังคงความเข้มข้นตรงนี้ต่อไป
ชี้แอปฯ "หมอชนะ" เป็นเครื่องมือช่วยจำ
สำหรับกรณีแอปพลิเคชัน "หมอชนะ" ถือว่าเป็นเครื่องมือช่วยจำ และให้มั่นใจในความปลอดภัย ถ้าหากว่าไม่มีผู้ติดเชื้อที่อาจจะเข้าใกล้กันโดยบังเอิญ หรือว่าเป็นเพื่อนฝูงกัน ซึ่งก่อนที่จะป่วย เราเห็นว่าสุขภาพดี ไม่เป็นไร ซึ่งการมีแอปฯ นี้ จะทำให้สามารถตรวจย้อนไปได้ว่ามีใครเข้าใกล้กัน ซึ่งแอปฯ หมอชนะ เป็นการประเมินความเสี่ยงเบื้องต้น โดยจะบอกแค่ระยะทาง
ส่วนความเสี่ยงที่จะต้องประเมินจริงๆ คือสวมหน้ากากอนามัยหรือไม่ กิจกรรมที่ทำระหว่างกันมีการยืนพูดคุยกันเป็นเวลานานหรือไม่ สมมติว่าเป็นการไปอยู่ห้าง หรือร้านค้าเดียวกัน ต่างคนต่างใส่หน้าหาก ดูสินค้าคนละชิ้น หันหน้าไปคนละทาง แต่บังเอิญอยู่ในตำแหน่งที่ใกล้กัน ในแอปฯ จะส่งการแจ้งเตือนไป เพื่อที่จะให้เราได้สังเกตอาการตัวเอง และระมัดระวังการเดินทางไปที่อื่น จึงถือเป็นความเสี่ยงต่ำ และไม่ได้เป็นการบังคับให้อยู่บ้านหรืออย่างไร แต่ให้ระมัดระวังว่าอาจจะมีความเสี่ยงบที่จะได้รับเชื้อ แต่เป็นความเสี่ยงต่ำเท่านั้น
ร้องโหลด-ใช้แอปฯ เพื่อประสิทธิภาพสูงสุด
นพ.เฉวตสรร กล่าวอีกว่า เพราะฉะนั้น แอปฯ หมอชนะ จะเป็นตัวที่ทำหน้าที่ 1. ทำให้ผู้สอบสวนโรค สามารถสืบค้นได้ มีความชัดเจนมากขึ้น 2. มีการแจ้งเตือน แอปฯ เป็นช่องทางแจ้งเตือนให้ผู้เปิดใช้แอปฯ ได้รู้ว่าเราอาจจะต้องสังเกตอาการตัวเอง หากมีอาการที่สงสัย หรืออาจจะเริ่มป่วยขึ้นมา ก็รีบไปพบแพทย์ โดยที่มีข้อความในแอปฯ ไปแสดงด้วย 3. เรื่องความปลอดภัยของข้อมูล ยืนยันว่าหากไม่มีความเชื่อมโยงกับผู้ป่วย ไม่ได้มีลักษณะที่อาจจะไปเสี่ยงติดเชื้อจากใคร จะไม่มีใครที่ไปเอาข้อมูลนั้นมาดู จะอยู่ในฐานข้อมูล
ส่วนเวลาที่ไล่เลียงว่าใครสัมผัสกับใคร จะเป็นลักษณะที่แอปฯ จะทำงานตามระบบมาตรฐานของคอมพิวเตอร์ ไม่ได้เจาะจงว่าเป็นเบอร์โทรศัพท์เบอร์ไหน แต่ดูว่าแอปฯ ที่ลงในเครื่องๆ ไหน ก็จะส่งไปตามหมายเลขที่แอปฯ รู้จัก จะเป็นการส่งความห่วงใย หากประชาชนมีแอปฯ นี้และเปิดใช้เป็นการแสดงความห่วงใย และแสดงความรับผิดชอบช่วยสังคม รวมทั้งคนที่ได้รับการแจ้งเตือนก็สามารถปฏิบัติได้อย่างถูกต้อง ขอย้ำว่าช่วยกันโหลดและเปิดใช้กันให้กว้างขวาง เพื่อที่จะเกิดประสิทธิภาพสูงสุดของแอปฯ นี้
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ผู้ประกาศ NBT ปัดร่วมงานวันเกิดดีเจมะตูม
"คลัสเตอร์ปาร์ตี้" ดีเจมะตูม-ผู้ประกาศข่าว NBT ติดเชื้อแล้ว 19 คน
ศบค.เผยวันนี้เสียชีวิต 2 คน คาดตรวจเชิงรุก จ.สมุทรสาคร พบติดเชื้อ 800 คน