วันนี้ (28 ม.ค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษก ศบค. รายงานสถานการณ์ ไวรัส COVID-19 ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 756 คน เป็นการติดเชื้อในประเทศ 746 คน ติดเชื้อจากต่างประเทศ 10 คน รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 16,221 คน หายป่วยแล้ว 11,287 คน เสียชีวิตสะสม 76 คน
ทั้งนี้ จำนวนผู้ติดเชื้อในประเทศที่เพิ่มขึ้น มาจากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 22 คน โดยมาจากการค้นหาเชิงรุกในชุมชน จำนวน 724 คน และมาจากต่างประเทศ เข้า State Quarantine จำนวน 10 คน โดยผู้ป่วยยังรักษาตัวในโรงพยาบาลจำนวน 4,261 คน อาการหนัก 10 คน โดย 7 คนอยู่ในกรุงเทพฯ แนวโน้มกราฟพุ่งขึ้นยังต้องเฝ้าระวังกระชั้นชิดซึ่งตัวเลขสูงมาจากการคัดกรองในชุมชน
ทุกหน่วยงานทำงานหนัก
ผู้ป่วยรายใหม่จากระบบเฝ้าระวังและระบบบริการฯ จำนวน 22 คน อยู่ใน จ.สมุทรสาคร จำนวน 9 คน กรุงเทพฯ จำนวน 8 คน นนทบุรี จำนวน 1 คน พระนครศรีอยุธยา จำนวน 1 คน สมุทรปราการ จำนวน 3 คน ขณะที่จากการคัดกรองเชิงรุก จ.สมุทรสาคร จำนวน 724 คน และผู้ที่เดินทางจากต่างประเทศ พบติดเชื้อในวันนี้ 10 คน
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวว่า การพบผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศเกิดจากการทำงานหนักของ ก.ต่างประเทศ ซึ่งมีเที่ยวบินนำคนไทยกลับบ้านตั้งแต่ช่วงวันที่ 4 เม.ย.63 -27 ม.ค.64 รวมกว่า 1.4 แสนคนจากทางบก และทางน้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ทำงานหนักเช่นกัน ขณะที่ต่างชาติเดินทางเข้ามา 7.3 หมื่นคน ตั้งแต่วันที่ 9 ก.ค.63 เป็นต้นมา
กระทรวงกลาโหม รายงานตัวเลขสะสมผู้เข้ามาในประเทศ เข้ากักตัว ใน State Quarantine ตั้งแต่วันที่ 3 เมย 63.-27 ม.ค.64 และใน ASQ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.63 รวม 1.8 แสนคน กลับบ้านแล้ว 1.7 แสนคน ด้านมท.รายงานตัวเลขกักตัวใน LQ ทั่วประเทศ 46 จังหวัด รวม 4.9 หมื่นคน โดยจังหวัดที่มีจำนวนมาก คือ จ.ชลบุรี จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.ภูเก็ต
จังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อยังคงอยู่ที่ 63 จังหวัด ส่วนจังหวัดที่ไม่มีผู้ติดเชื้อ 7 วัน เป็นจำนวน 47 จังหวัดแล้ว และจังหวัดไม่มีผู้ติดเชื้อ 14 จังหวัด ซึ่งตัวเลขนี้จะนำสู่ ศบค.พิจารณาให้ผ่อนปรนมาตรการต่าง ๆ
เล็งเอาผิด "เคสดีเจมะตูม"
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า การสอบสวนโรคพบว่า ผู้ติดเชื้อคลัสเตอร์ "ดีเจมะตูม" พบว่าหลายคนไปหลายสถานที่ ทั้งโรงแรม ร้านอาหาร ซึ่งกรมควบคุมโรคห่วงการให้ข้อมูลที่ไม่สอดคล้องกันและปกปิดข้อมูลอาจทำให้เกิดการแพร่ระบาดรวมถึงการป้องกันล่าช้า
วันนี้กรมควบคุมโรคได้ทำหนังสือถึงผู้อำนวยการสำนักอนามัย กทม.แล้ว โดยกรมควบคุมโรคเห็นว่า พฤติกรรมเหล่านี้เข้าข่ายฝ่าฝืน ไม่ปฏิบัติการ พ.ร.บ.โรคติดต่อ 2558 รวมถึงกฎหมายอื่นๆ โดยพฤติกรรมของกลุ่มดังกล่าวเข้าข่ายความผิดฐานขัดขวางหรือไม่อำนวยความสะดวกแต่พนักงานควบคุมโรคติดต่อ ม.55 ของ พ.ร.บ.โรคติดต่อโทษปรับ 20,000 บาท, ผิดฐานแจ้งข้อความอันเป็นเท็จแก่เจ้าพนักงาน ซึ่งอาจทำให้ผู้อื่นได้รับความเสียหาย โทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน ปรับ 10,000 บาท
ไม่ใช่เฉพาะผู้เกี่ยวข้อง สถานที่ที่ใช้จัดเลี้ยงอาจผิดฐานฝ่าฝืนการห้ามจัดกิจกรรมที่มีความเสี่ยงต่อการแพร่โรค การไม่จัดให้มีมาตรการป้องกันโรค และบุคคลที่ร่วมงานอาจเข้าข่ายฝ่าฝืนการห้ามทำกิจกรรมหรือมั่วสุมในสถานที่แออัด ม.9 ของ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับ 40,000 บาท หรือทั้งจำ-ปรับ
ทั้งนี้ กทม.ถือเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ตามคำสั่ง ศบค.ตั้งแต่วันที่ 3 ม.ค. เพราะฉะนั้นต้องติดตามจะมีรายงานความผิดตามกฎหมายอย่างไร
ขณะนี้เกิดปรากฏการณ์ที่สังคมลงโทษ แต่อยากให้ติดตามข่าว โดยไม่ใช้อารมณ์และนำไปสู่การป้องกันในโอกาสหน้า ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าว จะเกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา การลงโทษผู้ติดเชื้อไม่ได้ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงใด ๆ แต่ควรเรียนรู้เพื่อปรับปรุงต่อไป ขอให้เป็นหน้าหน้าที่ของกฎหมาย
นอกจากนี้ ยังมีเคสใกล้เคียงกับ "ดีเจมะตูม" คือ ไอคอนสยาม มีรายงานในวันที่ 16 ม.ค. มีผู้เสี่ยง 12 คน พบติดเชื้อ 7 คน จากการรวมตัวสังสรรค์ที่ร้านอาหาร ขณะนี้ไอคอนสยาม ทำให้มีผู้สัมผัสเสี่ยงสูงกว่า 200 คน
ศบค.พิจารณาผ่อนคลายพรุ่งนี้
พญ.อภิสมัย ยังกล่าวว่า มาตรการผ่อนคลายนั้น ศบค.พิจารณาหลายปัจจัยร่วมกัน โดยข้อมูลที่จำแนกจะลงรายละเอียดในระดับอำเภอและตำบล ตามจำนวนผู้ติดเชื้อและมีรายงาน โดยจะมีมาตรการผ่อนคลายแตกต่างกัน ขณะที่ จ.ภาคใต้ ที่ยังคงเป็นสีเหลืองติดกับประเทศเพื่อนบ้านอาจมีการลักลอบเข้าเมืองซึ่งต้องเฝ้าระวังและดูแลจึงอาจยังไม่ถูกปรับเป็นสีเขียว สำหรับร่างข้อเสนอผ่อนคลาย จำแนกเป็น 5 ระดับ คือ 1.พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด 2.ควบคุมสูงสุด 3.ควบคุม 4.เฝ้าระวังสูง 5.เฝ้าระวัง โดนวนวันพรุ่งนี้ (29 ม.ค.64) ศบค.ชุดใหญ่จะออกมาตรการใหญ่ จากนั้นท้องถิ่นจะออกมาตรการที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ โดยประชาชนยังต้องป้องกันตัวเอง สวมหน้ากาก ล้างมือ ดูแลตนเองและครอบครัว
สถานบริการต่าง ๆ เช่น โรงเรียน ร้านอาหาร ต้องมีมาตรการควบคุมสูงสุด งดเว้นการจัดกิจกรรมที่รวมคนจำนวนมาก และชุมชนต้องช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยรายงานให้ภาครัฐทราบว่ามีความเสี่ยงอย่างไร กรณีโรงเรียนต่าง ๆ ในแต่ละพื้นที่ต้องวางมาตรการที่เหมาะสม เพราะโรงเรียนจะทราบข้อมูลว่า หากนักเรียนมาจากพื้นที่สีแดงจะดำเนินการอย่างไร อาจจะจัดระบบที่เหมาะสมให้ทั้งในโรงเรียน หรือเรียนออนไลน์