วันนี้ (28 ม.ค.2564) ข้อสงสัยในบทเรียน และอุปสรรคจากการเรียนออนไลน์ ถ่ายทอดจากประสบการณ์ตรงของนักเรียนชั้น ม.3 ของโรงเรียนแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรี ที่จะกลับมาเปิดในวันที่ 1 ก.พ.นี้ หลังโรงเรียนถูกสั่งปิดนานกว่า 1 เดือน เพราะอยู่ในพื้นที่สีแดง
นายสมพงษ์ จิตระดับ ที่ปรึกษากองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา เปิดเผยว่า ผลกระทบจากปิดเรียนนานที่อาจตามมาด้วยภาวะการเรียนรู้ถดถอย โดยเปรียบเทียบตัวอย่างและบทเรียนที่เกิดขึ้นในกลุ่มประเทศ OECD และนำมาสู่ข้อเสนอให้มีการประเมินผลกระทบ และแผนเยียวยาเด็กนักเรียนเป็นรายบุคคล ภายใต้ "โครงการโรงเรียนชนะ"
นายสมพงษ์ จิตระดับ
นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์การศึกษา กล่าวว่า ขอให้ทุกโรงเรียนอย่าเพิ่งอัดเนื้อหารายวิชาให้จบ แต่ให้ใช้เวลาอย่างน้อย 45 วัน ตั้งแต่เปิดเรียน ประเมินความรู้ที่ถดถอยและฟื้นฟูทักษะความรู้ของเด็กแต่ละคน โดยพัฒนากลไกความร่วมมือในรูปแบบ "อาสาสมัคร" อย่างที่หลายประเทศทำ เพราะถ้าไม่แก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้จะส่งผลกระทบต่อเด็ก รวมถึงการพัฒนาทุนมนุษย์ของประเทศไทยในระยะยาว
นายภูมิศรัณย์ ทองเลี่ยมนาค
นอกจากนี้ ยังมีข้อเสนอให้รัฐบาลและทุกภาคส่วนใช้ช่วงเวลานี้สร้างสภาพแวดล้อมภายในบ้าน การเดินทาง และโรงเรียนให้ "ปลอดภัย" โดยใช้ ปรากฏการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 เป็นส่วนหนึ่งของการเรียนรู้ เพื่้อปรับตัวอยู่ร่วมกับความเปลี่ยนแปลง