นักวิจัยนาโนไทย ใช้นาโนคริสตัลทองคำวาดลายไทยบนผ้าไหม ครั้งแรกของโลก
รองศาสตราจารย์ ดร.สนอง เอกสิทธ์ และ รองศาสตราจารย์ ชูชาติ ธรรมเจริญ พร้อมด้วย นายสุพีระ นุชนารถ นิสิตปริญญาเอก ภาควิชาเคมี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และคณะนักวิจัยสังกัดหน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย หลังจากประสบความสำเร็จในการสร้างดอกมะลิทองคำนาโน (Gold Nano - Jasmine) รวมถึงการนำเครื่องดื่ม เครื่องปรุงในครัวมาใช้เป็นส่วนหนึ่งในการสังเคราะห์อนุภาคนาโน ล่าสุดคิดค้นนาโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์ 99.99%และนาโนคริสตัลเงินบริสุทธิ์ 99.99% ได้เปิดเผยถึงผลงานศิลปะที่ได้นำนาโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์ วาดลายไทยบนผ้าไหม เป็นครั้งแรกของโลก ชี้นอกจากทองที่ต้องนำเข้าแล้ว ทุกขั้นตอนและวัตถุดิบทั้งหมดในการผลิตเป็นไทย 100%
รศ.ดร.สนอง เอกสิทธิ์ รองผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมนาโนเทคโนโลยีจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ หน่วยปฏิบัติการวิจัยอุปกรณ์รับรู้ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ผลงานภาพบรรลัยจักร ที่วาดด้วยนาโนคริสตัลทองคำบนผืนผ้าไหม เป็นผลงานที่ผนวกงานศิลปะกับผลงานวิจัยเพื่อเพิ่มมูลค่าของผลงานทางศิลปวัฒนธรรม ฝีมือการวาดของ นายทชณิตร เธียรทนัท นิสิตเก่าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา หนึ่งในทีมวิจัย ผู้สร้างสรรค์ผลงานต้นแบบชิ้นแรกและชิ้นเดียวของโลกที่จะแสดงให้ประชาชนได้เห็นว่า ผลการวิจัยในครั้งนี้สามารถนำไปต่อยอดทางศิลปะเพื่อเพิ่มมูลค่าชิ้นงานและนำงานวิจัยไปใช้ได้จริง
“การนำทองคำบริสุทธิ์หรือการใช้ทองคำเปลว รวมทั้งการบดทองเพื่อผ่านกระบวนการต่างๆ และนำมาทำเป็นหมึกวาดลงบนผืนผ้านั้น ปัจจุบันยังไม่มีใครทำขึ้นเนื่องจากเป็นเรื่องยากที่จะทำให้ทองคำเกาะอยู่บนผืนผ้า เมื่อคณะนักวิจัยได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) จนประสบความสำเร็จในการวิจัยนาโนคริสตัลของทองคำบริสุทธิ์(99.99%) และปรับสูตรในส่วนผสมเพื่อให้เหมาะกับการใช้งาน จนสามารถใช้วาดลายเส้นลงบนผืนผ้าไหมได้ซึ่งเป็นคนละสูตรกับการผลิตปากกาบรรจุนาโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์
ขณะเดียวกันในความสำเร็จครั้งนี้ ยังสามารถนำผลงานดังกล่าวไปใช้กับงานศิลปะอื่นๆ รวมถึงการวาดลายทองบนเครื่องเบญจรงค์ ที่แต่เดิมหากต้องการวาดลายเบญจรงค์ด้วยทองคำแท้ต้องมีการนำเข้าทองจากประเทศเยอรมันด้วยราคาที่สูง ส่งผลให้ต้นทุนในการผลิตสูง สินค้ามีราคาแพงยากต่อการจำหน่าย ดังนั้น เมื่อผู้ประกอบการต้องการเพิ่มมูลค่าให้งานเบญจรงค์ด้วยต้นทุนที่ต่ำลงและได้กำไรจากการผลิตมากขึ้น งานวิจัยชิ้นนี้เป็นการตอบโจทย์ดังกล่าวได้เป็นอย่างดี ขณะที่ผลงานนี้ยังสามารถต่อยอดในอีกหลายธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจการทำของที่ระลึกต่างๆ สามารถเพิ่มมูลค่าชิ้นงานด้วยทองคำได้เช่นกัน” รศ.ดร. สนองกล่าว และเพิ่มเติมว่า
ปัจจุบันความต้องการผลงานศิลปะที่ทีมวิจัยผลิตขึ้นจากนาโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์ยังไม่มีเพราะไม่มีใครรู้ว่างานในลักษณะนี้สามารถทำได้ แต่ถ้าเผยแพร่ออกไปให้ทั่วโลกรู้ว่ามีคนทำได้ ผลงานที่เขียนด้วยทองคำสามารถผลิตขึ้นมาได้ และมีความสวยงามมีการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรม มีคุณค่าจากทองคำ จะสร้างความต้องการของตลาดเพิ่มขึ้น โดยหลังจากนี้จะต่อยอดในการสร้างผลิตภัณฑ์ต้นแบบในทุกงาน ทั้งการเขียนภาพศิลปะอาหรับ ภาพวาดเทพเจ้าต่างๆ ที่วาดด้วยทองคำ หน้าปัดนาฬิกา และสร้างเครือข่ายธุรกิจเพื่อเปิดตลาดรองรับเรื่อยๆ เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพในประเทศไทย ที่สำคัญนาโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์ ยังเป็นงานวิจัยจากห้องทดลองที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม(Green Lab) และสังเคราะห์อนุภาคด้วยแป้งข้าวโพด ทำให้สารที่ได้ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม ทั้งยังเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของงานวิจัยชิ้นนี้ด้วย
ด้านนายทชณิตร เธียรทณัท นิสิตเก่าภาควิชาศิลปะ ดนตรีและนาฏศิลป์ศึกษา หนึ่งในทีมนักวิจัย ผู้รังสรรค์ภาพลายเส้นบรรลัยจักรบนผืนผ้าไหม เป็นคนแรก กล่าวว่า ผลงานชิ้นนี้มีความยากในการวาดเพราะหากวาดหรือลากเส้นผิด จะไม่สามารถแก้ไขได้ ต้องทำใหม่ทั้งผืน ขณะเดียวกันในมุมมองของงานศิลปะไทย ในฐานะที่ตนอยู่ในแวดวงของศิลปะมาได้มาระยะหนึ่ง เห็นว่างานวิจัยดังกล่าว จะเป็นทำให้ เยาวชนคนรุ่นใหม่หันมาให้ความสนใจศิลปวัฒนธรรมไทยมากขึ้น หลังจากที่ไปให้ความสำคัญกับงานด้านการออกแบบตกแต่งผ่านคอมพิวเตอร์ซึ่งมีผู้ให้ความสนใจเข้าศึกษาจำนวนมากกว่าคนเรียนด้านศิลปะ
“ขณะนี้วัยรุ่นที่ทำงานศิลปะไทยน้อยเนื่องจากวัยรุ่นหันไปเรียนคอมกราฟฟิกเพราะมีงานรองรับหลังจบการศึกษา เมื่อมีโกลด์นาโนจะทำให้ชิ้นงานที่วาดด้วยทองคำแท้ ขายได้ราคาสูงเป็นอาชีพที่สร้างรายได้สูง จะดึงดูดให้เยาวชนหันมาสนใจศิลปวัฒนธรรมไทยเอง เพราะนาโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์ตอบโจทย์ทั้งเรื่องความสะดวกในการใช้งานและการเพิ่มมูลค่าของงานศิลปะวัฒนธรรม นอกจากขายงานศิลปะแล้ว ยังเป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมได้ด้วย เมื่อชิ้นงานขายได้จะมีการต่อยอดและสืบสานวัฒนธรรมด้วยคนรุ่นใหม่ หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่าค่านิยมของชาวตะวันตกต่อเครื่องประดับที่เป็นศิลปะไทยนั้น มีความนิยมเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุโรป และในอนาคตหากสามารถใช้ผลงานบุกตลาดตะวันออกกลางซึ่งมีกำลังซื้อมาก จะทำให้เป็นการเผยแพร่วัฒนธรรมไทยและเป็นช่องทางสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง”นายทชณิชร กล่าว
สำหรับผู้สนใจภาพลายเส้นบรรลัยจักรที่วาดจากโนคริสตัลทองคำบริสุทธิ์ จะมีการจัดแสดงที่ งาน Thailand Research Expo 2011 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ(วช.) วันที่ 26-30 สิงหาคม นี้ และร่วมลงนามถวายพระพรด้วยปากกาหมึกนาโนคริสตัลทองคำ รวมถึงผลงานและผลิตภัณฑ์ที่ได้จาก นาโนคริสตัลทองคำ 99.99% และนาโนคริสตัลเงิน 99.99% และที่งานงานจุฬาฯวิชาการ พ.ศ.2554 ที่จะจัดขึ้น23-27 พฤศจิกายน ศกนี้ ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย