ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

สมาคมโรคไตฯ ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยกิน "ถั่งเช่า"

สังคม
2 ก.พ. 64
14:02
20,135
Logo Thai PBS
สมาคมโรคไตฯ ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยกิน "ถั่งเช่า"
สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ไม่สนับสนุนผู้ป่วยโรคไตกินถั่งเช่า ชี้ไม่มีข้อพิสูจน์วิทยาศาสตร์การแพทย์ยืนยันผลลัพธ์การรักษา ผลิตภัณฑ์บางส่วนมีโลหะหนัก Arsenic สูง เสี่ยงผลเสียต่อไตระยะยาว

วันนี้ (2 ก.พ.2564) สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ออกแถลงการณ์ข้อแนะนำ เรื่อง "การใช้ถั่งเช่ารักษาโรคไต" โดยมีรายละเอียดว่า

ปัจจุบันได้มีการโฆษณาถึงสรรพคุณของถั่งเช่าว่าสามารถรักษาโรคไตให้ดีขึ้น หรือกลับมาเป็นปกติได้ ซึ่งผลิตภัณฑ์ดังกล่าวประชาชนสามารถหาซื้อได้โดยง่าย ในประเด็นนี้ สมาคมโรคไตแห่งประเทศไทย ขอยืนยันว่า จากองค์ความรู้ที่มีข้อพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์ในปัจจุบัน ยังไม่มีข้อมูลที่สามารถสรุปได้อย่างชัดเจน ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับผู้ป่วยโรคไต เนื่องจากมีเพียงข้อมูลการศึกษาในสัตว์ทดลอง แต่ไม่มีหลักฐานการศึกษาที่ดีเพียงพอที่จะพิสูจน์ได้ว่าถั่งเช่ามีประโยชน์กับไตมนุษย์ และการศึกษาส่วนใหญ่ไม่ได้รายงานอาการไม่พึงประสงค์ของถั่งเช่าอีกด้วย

ถั่งเช่าที่มีการศึกษาในมนุษย์ส่วนใหญ่เป็นถั่งเช่าทิเบต ที่เกิดในธรรมชาติ ซึ่งมีราคาสูงมาก การศึกษาส่วนใหญ่ใช้ระยะเวลาเพียง 1-6 เดือนเท่านั้น จึงไม่สามารถทราบถึงผลดีและผลเสียในระยะยาวได้ และยังพบว่าผลิตภัณฑ์ถั่งเช่าทิเบตบางส่วนพบมีโลหะหนัก Arsenic ในปริมาณสูง ซึ่งอาจมีผลเสียต่อไตในระยะยาว

ในปัจจุบันถั่งเช่าที่ขายส่วนใหญ่เป็นถั่งเช่าสีทอง ที่ถูกเพาะเลี้ยงขึ้นในฟาร์ม โดยใช้อาหารเลี้ยงแบบต่าง ๆ ทำให้ถั่งเช่าแต่ละชนิดที่ถูกเพาะเลี้ยงในแต่ละวิธี ผลิตสารออกฤทธิ์ที่แตกต่างกันมาก และส่วนใหญ่ยังไม่มีการศึกษาทดลองในมนุษย์ การนำมาใช้จึงอาจทำให้เกิดโทษต่อผู้ป่วยโรคไตได้ เนื่องจากไตเป็นอวัยวะที่สามารถเกิดอันตรายจากการใช้ยาและสารต่าง ๆ ได้ง่าย

อีกทั้งยังไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับขนาดที่เหมาะสมของถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไต นอกจากนี้ยังมีอุบัติการณ์ที่แพทย์โรคไตในประเทศไทย พบการเสื่อมของไตภายหลังรับประทานถั่งเช่าในผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังด้วย

สมาคมฯ จึงไม่สนับสนุนให้ผู้ป่วยโรคไตรับประทานถั่งเช่า หากต้องการรับประทานต้องแจ้งแก่แพทย์ผู้รักษา และไม่ควรหยุดยาแผนปัจจุบันที่รับประทานอยู่ การรักษาที่ดีที่สุด คือ การดูแลปฏิบัติตัวอย่างเหมาะสม เพื่อชะลอการเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด รวมทั้งหลีกเลี่ยงพฤติกรรมที่เกิดความเสี่ยงต่อไตทั้งหมด

ข่าวที่เกี่ยวข้อง