ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์พิเศษ พล.อ.ยอดศึก รักษาการประธานคณะทำงานกระบวนการสันติภาพเมียนมา หรือ PPST เปิดเผยถึงสถานการณ์และข้อกังวลต่อกระบวนการสันติภาพ และมุมมองต่อการทำรัฐประหารเมียนมา
มีความเห็นอย่างไรกับการยึดอำนาจของทหารเมียนมา
พล.อ.ยอดศึกกล่าวว่า การยึดอำนาจไม่ดีอยู่แล้ว แต่การยึดอำนาจในครั้งนี้สาเหตุมาจากการเลือกตั้ง กองทัพกล่าวหารัฐบาลและ กกต.ว่า การเลือกตั้งครั้งนี้ไม่โปร่งใส ให้ตรวจสอบ ให้ กกต.ให้กองทัพนำหลักฐานมา เพื่อให้ตรวจสอบ โดยมีการพูดคุยกัน แต่ตกลงกันไม่ได้
หลังจากนั้นขอร้องให้รัฐบาล “ออง ซาน ซูจี” และประธานาธิบดีเปิดสภาความมั่นคง แต่ ซูจี ไม่ยอมเปิดประชุม และมีการเรียกร้องให้เลื่อนเปิดสภาให้โปรงใสก่อน และอองซาน ซูจี ไม่หยุดทำตามแผนกองทัพ เมื่อตกลงกันไม่ได้ USPP พรรคการเมืองที่สนับสนุนกับกองทัพจึงออกมาประท้วง
พล.อ.ยอดศึก มองว่า เหมือนการสร้างภาพเพื่อให้มีเหตุผล โดยนางอองซาน ซูจี ไม่ออกมาตอบโต้ จึงมองว่าการยึดอำนาจครั้งนี้ไม่ถูกต้อง
เมื่อวันที่ 1 ก.พ.2564 เวลา 10.00 น. เมื่อเห็นการยึดอำนาจ และกองทัพแถลงตั้งรัฐบาลรักษาการ “อองมิน ฉวย” โดยกองทัพเข้ารักษาการทั้งหมด โดยอ้างว่าทำตามรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า ผิดรัฐธรรมนูญ มาตรา 417 และมาตรา 418 ประกาศกองทัพยึดอำนาจประกาศภาวะฉุกเฉิน 1 ปี จะปรับปรุงทุกอย่างให้เข้ารูปเข้ารอย เช่น ปัญหาเศรษฐกิจ ปัญหาโควิด-19 โดยประเด็นสันติภาพจะไม่เข้าแตะต้อง
พล.อ.ยอดศึก มองว่า การไม่แตะต้องรัฐธรรมนูญ ถ้ายึดอำนาจต้องฉีกรัฐธรรมนูญ โดยให้เหตุผลว่า มาป้องกันรัฐธรรมนูญ ประกาศภาวะฉุกเฉิน โดยมองปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น คือ การยึดอำนาจ จุดยืนของเรามองว่า ผิดวัตถุประสงค์การเจรจาหยุดยิงทางการเมือง เพราะอยากเปลี่ยนแปลงการปกครอง จากเผด็จการให้เป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย
การยึดอำนาจที่ผ่านมา ไม่แตะต้อง NCA หรือ ข้อตกลงหยุดยิงทั่วประเทศ Nationwide Ceasefire Agreement ระหว่างรัฐบาลพม่า กับกองกำลังกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ แต่ความเป็นจริงกระทบกับ สภา กองทัพ พรรคการเมือง กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มถืออาวุธทั้งหมด
การยึดอำนาจครั้งนี้เหมือนการสลายทั้งหมด กระบวนการสันติภาพถอยหลัง ประเทศเมียนมาปัจจุบันประชาธิปไตยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา หลังสิ้นเสียงปืนมีการเจรจาสันติภาพเหมือนกลับมาเริ่มต้นใหม่
พล.อ.ยอดศึกกล่าวต่อว่า การที่กองทัพไม่แตะต้อง NCA ต้องเริ่มคุยกันใหม่ เริ่มต้นเฉพาะหยุดยิงอย่างเดียว แต่การเมืองเจรจากันไม่ได้ เพราะอยู่ในช่วงการยึดอำนาจ จุดยืนของเราย้ำว่า การต่อสู้ที่ผ่านมา ต่อสู้เพื่อประชาชน ประเด็นที่สองคือ ต้องการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นสหพันธรัฐประชาธิปไตย ประการสุดท้ายคือ การแก้รัฐธรรมนูญ 2008
พล.อ.ยอดศึก ระบุว่า การยึดอำนาจ ไม่เกี่ยวข้องกับสภากอบกู้รัฐฉาน หรือ RCSS เพราะ RCSS ไม่ใช่พรรคการเมือง ไม่ยุ่งกับการเลือกตั้ง ไม่สนับสนุนพรรคไหนโดยอยู่เป็นกลางทางการเมือง จุดยืนอีกจุดที่ชัดเจน คือ กระบวนการสันติภาพและไม่เห็นด้วยกับการยึดอำนาจในครั้งนี้
เมื่อองค์ประกอบพรรคการเมืองไม่มี มีแต่กองทัพ กระบวนการสันติภาพจะไปต่ออย่างไร
พล.อ.ยอดศึก มองว่า ที่ผ่านมากองทัพเคยตั้งกรรมการเจรจา แต่การเจรจาให้หยุดยิงกันเท่านั้น แต่ทางการเมืองไปไม่ได้ เพราะไม่มีรัฐบาลอย่างเป็นทางการ ถ้าการยึดอำนาจปรับปรุงคณะรัฐมนตรีต่างๆ ทั้งหมด เป็นรัฐบาลรักษาการ การเจรจาก็จะเป็นการพูดคุยขั้นหยุดยิงอย่างเดียว การเมืองเป็นไปไม่ได้
การเมืองต้องรวมทุกฝ่ายเพื่อปฎิรูปการเมือง กองทัพปฏิรูปการเมืองอย่างเดียวไม่ได้ กลุ่มชาติพันธุ์ พรรคการเมือง รัฐบาลปฏิรูปไม่ได้ ต้องอยู่ในสภา กองทัพ รัฐบาล กลุ่มติดอาวุธ กลุ่มชาติพันธุ์ พรรคการเมือง นักวิชาการ ต้องร่วมกันแก้ จึงเรียกว่าปฏิรูปการเมือง ปฏิรูปกองทัพ ปัญหาในตอนนี้คือพูดคุยเจรจาได้ แต่บริหารทำไม่ได้
จะส่งผลต่อการต่อสู้ระหว่างกลุ่มชาติพันธุ์ กับรัฐบาลหรือไม่
พล.อ.ยอดศึกกล่าวว่า นโยบายกองทัพกับกลุ่มชาติพันธุ์ที่หยุดยิงตกลงกันจะเปลี่ยนแปลงหรือไม่ยังไม่ทราบ เพราะไม่ทราบว่ากองทัพคิดอย่างไร ใครขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าใครเป็นรัฐบาล ต้องทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย เราไม่ยอมรับรัฐบาลชั่วคราว เพราะไม่มั่นคง เกิดการเลือกตั้งขึ้นมาก็ต้องเปลี่ยน
จุดยืนคือ ใครขึ้นมาก็แล้วแต่ กองทัพยึดอำนาจแล้ว แต่สิ่งที่ต้องการ คือ "รัฐฉานให้มีสิทธิปกครองตนเอง" ถ้ากองทัพให้ได้ก็สามารถพูดคุยต่อได้ และประเด็นต่อมา การปฏิรูปการเมืองให้เป็นประชาธิปไตย กองทัพทำได้หรือไม่ ถ้ากล้าทำให้เป็นประชาธิปไตย ให้เป็นสหพันธรัฐ ต้องเอาหลักการออกมา เพราะใน 1 ปี กองทัพจะจัดการเลือกตั้ง ถ้าการจัดการเลือกตั้งยังเป็นแบบเดิม การเมืองก็จะเป็นแบบเดิม
การสร้างสันติภาพต้องสร้างความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน แต่ตอนนี้คือ การทำลายความน่าเชื่อถือซึ่งกันและกัน และทำร้ายระบบการเมือง ต่อไปจะเชื่อถือได้อย่างไร
การแก้ระบอบการเมือง การที่ระบอบเผด็จการปกครองมา พบว่าแก้ไม่ได้ ปฏิรูปไม่ได้ การหยุดยิงก็ไม่มีความหมาย