วันนี้ (7 ก.พ.2564) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงกรณีข้อสงสัยเรื่องการจัดซื้อและแจกจ่ายวัคซีน COVID-19 ผ่านรายการพีเอ็ม-พอดแคสว่า การจัดซื้อวัคซีนเป็นการพิจารณาตามคุณลักษณะทั้งรูปแบบการวิจัยพัฒนา และการผลิตของวัคซีน รวมถึงคุณภาพ ประสิทธิภาพ โดยเฉพาะความชำนาญของบุคลากรที่จะดำเนินการฉีดวัคซีนให้กับประชาชน และประโยชน์ระยะยาวที่มีผลต่อความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศ
ผู้ผลิตเลือกจากความสามารถ - ศักยภาพ
ส่วนสาเหตุเลือกบริษัทสยามไบโอไซเอนซ์ ในการผลิตวัคซีน เนื่องจากบริษัท แอสตราเซเนกา เป็นบริษัทผู้ผลิตและคัดเลือกเอกชนที่จะร่วมดำเนินการ โดยพิจารณาจากความสามารถและศักยภาพทั้งบุคลากรและเครื่องมือที่สอดคล้องกับเทคโนโลยี ส่วนที่ไม่ให้องค์การเภสัชกรรมที่มีโรงงานวัคซีนไข้หวัดใหญ่เป็นผู้ผลิตวัคซีน เนื่องจากองค์การเภสัชกรรมไม่สามารถผลิตวัคซีนชนิดไวรัลเวคเตอร์ได้
ทั้งนี้ แม้ว่าประเทศไทยจะได้รับวัคซีนที่มีราคาสูงเท่ากับราคาที่บริษัท แอสตราเซเนกา ขายให้กับประเทศที่ไม่ได้ลงทุนร่วม แต่ประเทศไทยจะได้ประโยชน์ในการได้เทคโนโลยีการผลิตที่จะมีอยู่ในประเทศไทยไปตลอด แต่หากบริษัท แอสตราเซเนกา ไม่สามารถส่งวัคซีนได้ตามข้อตกลง รัฐบาลมีแผนการดำเนินการจัดหาวัคซีนจากบริษัทอื่นบนข้อมูลที่จะเป็นประโยชน์กับประเทศมากที่สุด
นายกฯ ย้ำไม่ได้กีดกันเอกชนนำเข้าวัคซีน
นายกรัฐมนตรี ย้ำว่ารัฐบาลไม่ได้กีดกันให้บริษัทเอกชนนำเข้าวัคซีน และยินดีให้ทุกบริษัทมาขอขึ้นทะเบียนโดยเปิดช่องทางพิเศษ พร้อมกับยืนยันว่าการจัดหาวัคซีนในขณะนี้ จำนวน 63 ล้านโดส ที่ครอบคลุมประชากร 31.5 ล้านคน และจะสามารถจัดหาได้เพิ่มเติมอีก จนครอบคลุมประชากรทุกกลุ่มเป้าหมาย
โดยกลุ่มที่จะต้องได้รับวัคซีน COVID-19 ก่อน คือกลุ่มบุคลากรทางการแพทย์ กลุ่มคนที่มีโรคร่วม เบาหวาน ความดัน และกลุ่มผู้สูงวัย หลังจากนั้นก็จะดูความเสี่ยงสูงในแต่ละพื้นที่ โดยเฉพาะ จ.สมุทรสาคร ทั้งนี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และกระทรวงสาธารณสุข จะดำเนินการอย่างรอบคอบตามมาตรฐานการให้วัคซีนที่ดี
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ศูนย์เด็กเล็กฯ ปรับตัว หลังพิษ COVID-19 ถูกสั่งปิดยาว
สธ.เผยผู้ป่วยติดเตียง 95 ปี ติดโควิดในบ้าน โยง 3 ลูกจ้างเมียนมา
ใช้โมเดลตลาดกลางกุ้ง คุมกลุ่มเสี่ยงโรงงานบับเบิ้ล&ซีล 40,000 คน