ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักวิชาการชี้ยึดคืนป่ากระทบชาวบ้าน แนะใช้กระบวนการมีส่วนร่วม

ภูมิภาค
25 มิ.ย. 58
09:14
114
Logo Thai PBS
นักวิชาการชี้ยึดคืนป่ากระทบชาวบ้าน แนะใช้กระบวนการมีส่วนร่วม

ชาวบ้าน จ.เชียงใหม่ กำลังถูกตรวจสอบการครอบครองที่ดินรวมกว่า 20,000 ไร่ว่าได้มาจากการบุกรุกป่าสงวนและอุทยานแห่งชาติหรือไม่ ขณะที่นักวิชาการด้านกฎหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กังวลถึงผลกระทบและเรียกร้องให้รัฐบาลกำหนดแนวทางช่วยเหลือชาวบ้าน แทนที่จะใช้มาตรการยึดคืนเพียงอย่างเดียว

พื้นที่อุทยานแห่งชาติดอยสุเทพ-ปุย จ.เชียงใหม่ ที่ยังคงถูกบุกรุกแผวถางขยายต่อเนื่อง ประกอบกับชาวบ้านที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมบางส่วนนำที่ดินไปใช้ผิดเงื่อนไขการถือครองที่ดินตามมติของคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 มิ.ย.2541 คือให้ใช้เฉพาะในการเกษตร แต่กลับนำไปขายต่อหรือเปลี่ยนมือให้กลุ่มนายทุน ทำให้ขณะนี้ถูกเจ้าหน้าที่เข้าไปตรวจสอบเพื่อยึดคืนและวางแนวเขตให้ชัดเจน หากเป็นการบุกรุกหลังปี 2545 จะถูกเพิกถอนสิทธิ์ทันที ส่งผลให้ชาวบ้านหลายครอบครัวเริ่มกังวนและกลัวจะได้รับผลกระทบ

สำหรับแนวทางปฏิบัติ เจ้าหน้าที่ป่าไม้จะนำแผนที่ทางอากาศปี 2545 เข้าไปเทียบกับพื้นที่ป่าก่อนหน้านั้น หากพบมีการบุกรุกเพิ่มจะดำเนินการเพิกถอนสิทธิ์ แต่หากเป็นกลุ่มนายทุนจะถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอย่างเด็ดขาด ส่วนชาวบ้านที่อาศัยอยู่ก่อนปี 2545 สามารถใช้ที่ดินทำกินต่อไปได้แต่มีข้อแม้ห้ามบุกรุกป่าเพิ่มโดยเด็ดขาด

นายกมลไชย คชชา ผอ.สำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ที่ 16 เชียงใหม่ กล่าวว่า เมื่อแจ้งยกเลิกสิทธิ์แล้วจะต้องแจ้งให้ผู้ครอบครองออกจากพื้นที่ เนื่องจากเป็นการเข้าไปครอบครองพื้นที่เขตอุทยานฯ โดยผิดกฎหมาย ซึ่งหากออกจากพื้นที่และมีการเจรจรแล้วยินยอม เจ้าหน้าที่จะรื้อถอนบ้านพักออกไป แต่หากไม่ยินจะแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมาย

ด้านนายไพสิฐ พาณิชย์กุล นักวิชาด้านกฏหมาย มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มองว่านโยบายการยึดคืนพื้นที่ป่าของรัฐจะส่งผลกระทบกับชาวบ้านโดยตรง โดยเฉพาะผู้ที่ไม่มีที่ดินทำกิน ดังนั้นจึงควรพิจารณาเรื่องออกเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกินควบคู่ไปกับการตรวจยึด หรือออกในรูปแบบโฉนดชุมชนให้ชาวบ้านร่วมกันดูแล เพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกและรักษาป่าได้อย่างยั่งยืน

"นโยบายการยึดคืนพื้นที่ป่าจะทำให้เกิดความแตกแยกในพื้นที่และอาจจะทำให้เกิดคลื่นใต้น้ำตามมา ซึ่งปัญหานี้รัฐบาลจะรองรับอย่างไร เพราะฉะนั้นควรสร้างบรรยากาศโดยการใช้กระบวนการแบบมีส่วนร่วมและนำข้อมูลมาเปิดเผย หรือจัดองค์กรที่ดูแลในระดับพื้นที่ใหม่ ไม่ใช่การยึดคืนพื้นที่ป่าแล้วปล่อยทิ้งไว้ก็ไม่ตอบโจทย์" นักวิชาด้านกฏหมาย ม.เชียงใหม่กล่าว

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปลายปี 2557 จนถึงปัจจุบันเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการตรวจสอบและยึดคืนผืนป่าที่ถูกบุกรุกในพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตอุทยานแห่งชาติใน จ.เชียงใหม่ อย่างต่อเนื่อง ล่าสุดยังเหลือพื้นที่อีกกว่า 20,000 ไร่ที่ต้องตรวจพิสูจน์ความถูกต้อง เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของรัฐบาลและคสช.ในการยึดคืนผืนป่ากลับมาเป็นสมบัติของชาติและกำหนดเขตแนวป่าให้ชัดเจนเพื่อใช้ประโยชน์ในอนาคต


ข่าวที่เกี่ยวข้อง