วันนี้ (16 ก.พ.2564) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ ส.ส.เชียงใหม่ พรรคเพื่อไทย อภิปรายไม่ไว้วางใจ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะนายกรัฐมนตรีว่า เศรษฐกิจไทยที่เคยแข็งแกร่ง เพียงแค่ระยะเวลา 7 ปี ที่ได้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา มาเป็นนายกรัฐมนตรี เศรษฐกิจไทยกลับกลายมาอยู่ในฐานะล้มเหลวตกต่ำ ธุรกิจเอกชนปิดตัวอย่างต่อเนื่อง การตกงานสูงเป็นประวัติการณ์
ขณะเดียวกัน ประเทศไทยที่เป็นเสาหลักของภูมิภาค ต้องมากลายเป็นคนป่วย กลายเป็นภาระที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ อาเซียน แม้ว่านายกรัฐมนตรีจะอ้างว่าส่วนหนึ่งเกิดจากผลกระทบของ COVID-19 แต่มองว่าเป็นเพียงส่วนหนึ่งของปัญหาเท่านั้น ขณะที่ตัวเลขทางเศรษฐกิจชี้ชัดว่าจะผลกระทบ COVID-19 ทั่วโลก ประเทศไทยรั้งท้ายขบวนในเรื่องของเศรษฐกิจ
อ้างนายกฯ มีความสุข COVID-19 ระบาด
นายจุลพันธ์ ยังอ้างว่า พล.อ.ประยุทธ์ แอบมีความสุขกับการระบาดของ COVID-19 ไปทั่วโลก เพราะใช้เป็นข้ออ้างในการไม่สามารถแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจได้มาโดยตลอด แต่ข้อเท็จจริงแล้ว ความตกต่ำของเศรษฐกิจไทยเกิดมาตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรีแล้ว
ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวไทยได้รับผลกระทบจาก COVID-19 เป็นอันดับ 4 ของโลก จากการที่การท่องเที่ยวเป็นพระเอกพยุงเศรษฐกิจมาตลอดตั้งแต่ พล.อ.ประยุทธ์ ขึ้นสู่อำนาจใหม่ๆ โดยในปี 2562 รายได้จากการท่องเที่ยว อยู่ที่ 1.9 ล้านล้านบาท ส่วนในปี 2563 เหลือเพียง 3 แสนล้านบาท ซึ่งมาตรการของรัฐในการกระตุ้นการใช้จ่ายและการท่องเที่ยวบางนโยบายถือว่าใช้ได้ เป็นการกระตุ้นการท่องเที่ยวภายในประเทศที่ดี แต่รัฐบาลสอบตกในการสื่อสารกับประชาชน เป็นการบกพร่องอย่างชัดเจน
ชี้นายกฯ ล้มเหลวสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังล้มเหลวในการสนับสนุนธุรกิจสร้างสรรค์ ในการสร้างบรรยากาศที่ส่งเสริมสนับสนุนสตาร์ทอัพต่างๆ การสร้างกิ๊ก อีโคโนมี ซึ่งสามารถแก้ไขและรองรับปัญหาของตลาดแรงงานในยุคใหม่ได้ แต่รัฐบาลไร้ความเข้าใจในตลาดของโลกยุคปัจจุบัน
นายจุลพันธ์ อภิปรายเรื่องหนี้สาธารณะว่า นายกรัฐมนตรีใช้งบประมาณไปแล้ว 22 ล้านล้านบาท กู้มาเยอะมาก ซึ่งไม่รวม พ.ร.บ.กู้เงิน 1.9 ล้านล้านบาท ระดับหนี้สาธารณะไต่ตัวขึ้นเรื่อยๆ อีกไม่นานจะถึง 9 ล้านล้านบาท สถิตินี้ไม่มีใครทำลายได้โดยง่าย พล.อ.ประยุทธ์ ครองสถิติที่กู้เงินมากที่สุดในประวัติของประเทศไทย และยังจะครองต่อไปอีกยาวนาน
กังวลเศรษฐกิจไทยทรุดหนักไปอย่างนี้ 10 ปี
ส่วนการที่สื่อญี่ปุ่นชี้ว่าเศรษฐกิจไทยหายนะแบบสโลว์โมชัน การเตือนครั้งนี้น่าห่วงมาก เพราะว่าด้วยการนำอย่างไร้วิสัยทัศน์ของ พล.อ.ประยุทธ์ เศรษฐกิจไทยจะทรุดหนักไปอย่างนี้ 10 ปี ขณะที่กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดว่าหากวัคซีน COVID-19 เป็นไปตามคาดการณ์ เศรษฐกิจโลกจะเติบโต 5.2% แต่เศรษฐกิจไทยโตอย่างมากแค่ 2.7% ซึ่งต่างจากเศรษฐกิจโลกเท่าตัว ยิ่งรัฐบาลไม่อาจควบคุม COVID-19 ได้ สุดท้ายการฟื้นตัวของไทยยิ่งล่าช้าไปอีก
นายกฯ คาดว่าสถานการณ์ดีขึ้น หลังมีวัคซีน
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ ลุกขึ้นมาชี้แจงกรณีเศรษฐกิจไทย ทั้งการส่งออก การลงทุนในประเทศ ต่างประเทศ ทุกอย่างกำลังเดินหน้าอยู่ขณะนี้ แม้จะมี COVID-19 ก็ตาม ซึ่งสิ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยตกต่ำ เนื่องจากประเทศไทยพึ่งพาการส่งออกมาก ช่วงเวลาแบบนี้ไม่มีใครเที่ยวหรอก ขณะนี้ก็ยังรอวัคซีนป้องกัน COVID-19 อยู่ คาดว่าสถานการณ์จะดีขึ้น
ส่วนการกระตุ้นเศรษฐกิจ ได้มีการตั้งโครงการต่างๆ เพื่อยกระดับด้านเกษตรกรรม สร้างผลิตภัณฑ์ใหม่จากอุตสาหกรรมใหม่ เรื่องการล็อกดาวน์ตั้งแต่การแพร่ระบาดในระลอกแรก เราตัดสินใจก่อน ทำให้ตัวเลขลดลง แต่เราก็ต้องเจ็บ ซึ่งสงสารประชาชนอยู่แล้ว ใครจะอยากทำให้ประชาชนเดือดร้อน ที่กล่าวหาว่าผมมีความสุขกับ COVID-19 พูดได้อย่างไร จิตใจทำด้วยอะไร การแก้ไขเศรษฐกิจรัฐบาลก็ยังดำเนินการอยู่
ชี้หลังเข้ามาปี 2558 "จีดีพี" เติบโตต่อเนื่อง
พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวอีกว่า เรื่องการลงทุนจากต่างประเทศเขากลัวอย่างเดียว คือความขัดแย้งในประเทศไทย เราก็ต้องช่วยกัน เรื่องการส่งเสริมการลงทุน Unicorn ต่างๆ สนับสนุนทุน ก็ยังดำเนินการอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกัน การที่เศรษฐกิจไทยได้รับผลกระทบมาก เนื่องจากพึ่งพิงการท่องเที่ยวมาก ประเทศไทยจึงมีการปฏิรูปการท่องเที่ยว เพื่อให้การเตรียมพร้อมรอรับนักท่องเที่ยว หลังสถานการณ์ COVID-19 ต่อไป ส่วนอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย หากเปรียบเทียบรายปี คือในปี 2556 มีจีดีพี 2.7% ปี 2557 1.0%, ปี 2558 3.1%, ปี 2559 3.4%, ปี 2560 4.1%, ปี 2561 4.2% และปี 2562 เริ่มสงครามการค้า อยู่ที่ 2.4% ซึ่งตั้งแต่เข้ามาปี 2558 ก็มีการไต่ระดับขึ้นมาต่อเนื่อง
ยืนยันไม่เคยมีความสุข ตั้งแต่มาเป็นนายกฯ
สำหรับเรื่องการแก้ปัญหา COVID-19 คิดว่ามาถูกทางแล้ว และผมไม่มีความสุข ผมไม่เคยมีความสุขเลยตั้งแต่มาเป็นนายกรัฐมนตรี เมื่อผมเห็นประชาชนเดือดร้อน ผมก็ต้องหาคนที่มีความรู้มาถกแถลงกัน ผมทำงานแบบนั้น ไม่ได้ใช้อำนาจอย่างเดียว
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แถลงตัวเลขเศรษฐกิจไตรมาส 4 ลดลง 4.2% ปรับตัวดีขึ้น เมื่อเทียบกับไตรมาส 3 ที่ลดลง 6.4% ทำให้เศรษฐกิจปี 2563 ติดลบ 6.1% ถือว่าดีกว่าที่คาดไว้ การอุปโภคบริโภคเอกชนขยายตัว 0.9% จากมาตรการต่างๆ โดยเฉพาะโครงการคนละครึ่ง ที่ส่งเสริมเศรษฐกิจฐานราก