วันนี้ (27 กพ.2564) ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก กล่าวถึงเรื่องวัคซีน COVID-19 ว่า ประชาชนให้ความสนนใจเรื่องวัคซีนเป็นจำนวนมาก เพราะการระบาดของเชื้อ COVID-19 ถือเป็นการระบาดใหญ่ในรอบ 100 ปี คล้ายกับการระบาดของไข้หวัดใหญ่สเปน เมื่อปี 2461 ที่มีคนไทยป่วยกว่า 2.3 ล้านคน และเสียชีวิตประมาณ 80,000 คน ซึ่งขณะนั้นประเทศไทยมีประชากรประมาณ 8.4 ล้านคน โดยใช้เวลา 2 ปีการระบาดจึงจะสงบ
การระบาดครั้งนี้นำมาสู่มาตรการต่างๆ เพื่อลดการสูญเสีย ซึ่งสิ่งที่จะยุติได้คือ "วัคซีน" และถือเป็นประวัติศาสตร์ของโลกที่สามารถผลิตวัคซีนมาต่อสู่กับ COVID-19 ได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ปี ซึ่งวัคซีนที่ทั่วโลกฉีดอยู่ในขณะนี้มีทั้ง mRNA Vaccine จากไฟเซอร์และโมเดอร์นา แต่ปัญหาของ 2 ตัวนี้คือการเก็บรักษาต้องแช่แข็งในอุณภูมิลบ 20-70 องศาฯ ทำให้เกิดความยากลำบากในการขนส่งสำหรับประเทศไทย นำไปสู่การคิดค้นวันซีน Virus Vector เป็นการนำเข้าของสารพันธุกรรมด้วยไวรัส และทำให้การทำงานต่างๆ ในการสร้างโปรตีนมาเป็นวัคซีน ไม่ต่างจาก mRNA เพราะใช้เซลล์ของมนุษย์เป็นตัวสร้างขึ้นมา
ดังนั้น Virus Vector จึงเป็นทางออกหนึ่งที่จะทำให้มีการกระจายวัคซีน เพราะสามารถเก็บที่อุณหภูมิ 2-8 องศาฯ และเป็นความโชคดีที่ประเทศไทยจะมีวัคซีน Oxford-Astra Zeneca ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน ขณะที่วัคซีน Sputnik V ของรัสเซีย ก็พบว่ามีประสิทธิภาพค่อนข้างสูง ส่วนวัคซีน johnson & johnson ที่กำลังจะขึ้นทะเบียนในประเทศไทย มีข้อดีคือฉีดเข็มเดียว และสามารถป้องกันโรคได้ค่อนข้างดี
สำหรับวัคซีนป้องกัน COVID-19 ที่จะฉีดในประเทศไทยในเร็วๆ นี้ เป็นเชื้อตายที่เรียกว่า Inactivated Vaccine มีประสิทธิภาพค่อนข้างดี ป้องกันความรุนแรงของโรค โดยเคสที่มีอาการน้อยและอยู่ในความดูแลของแพทย์ สามารถป้องกันได้ถึง 78% และป้องกันการป่วยที่ต้องเข้าโรงพยาบาล สามารถป้องกันได้ 100% แต่หากเจ็บป่วยเล็กน้อยคือติดเชื้อ แต่ไม่ต้องการการดูแลทางการแพทย์ ความสามารถในการป้องกันจะลดลงเหลือ 50% ดังนั้นวัคซีนตัวนี้จึงมีประสิทธิภาพป้องกันโรคได้เป็นอย่างดี
วัคซีน Sinovac อายุเกิน 60 ปีไม่เข้าเกณฑ์ฉีด
ศ.นพ.ยง ชี้แจงว่า วัคซีนตัวดังกล่าวเป็นวัคซีนใหม่ การศึกษาในระยะที่ 1, 2 และ 3 ที่ทำการศึกษาในคน มีการศึกษาในผู้ที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป มีประมาณ 3% ดังนั้นจึงยังไม่ทราบข้อมูลจริงว่าหากฉีดวัคซีนในผู้ที่มีอายุเกิน 60 ปี ผลในการป้องกันโรคและอาการแทรกซ้อนจะเป็นอย่างไร อย่างไรก็ตามวัคซีนตัวนี้ไม่ถึงกับเป็นข้อห้าม แต่ยังต้องรอผลการศึกษาอีกสักระยะเพื่อให้มีข้อมูลมากขึ้น แล้วจึงนำมาปรับการใช้กับผู้ที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป
เมื่อเป็นดังนี้ จึงเป็นสาเหตุหนึ่งเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีอายุเกิน 60 ปีแล้ว จึงต้องยึดตามกฎเกณฑ์การปฏิบัติเป็นหลัก
นายกฯ คงต้องฉีดแน่ แต่ทันทีที่มีข้อมูลหรือมีหลักฐานเชิงประจักษ์ เชื่อว่า อย. รวมทั้งคณะกรรมการต่างๆ คงกำหนดการฉีดวัคซีน Sinovac ให้กับผู้มีอายุเกิน 60 ปีได้ ถึงเวลานั้น นายกฯ ยินดีที่จะมาฉีดแน่นอน
ศ.นพ.ยง กล่าวอีกว่า ขณะนี้ประเทศไทยมีวัคซีน 2 ตัว โดยตัวแรกที่เข้ามาถึงแล้วคือ Sinovac ที่เป็นเชื้อตาย และอีกตัวคือ Astrazeneca ที่กำลังจะตามเข้ามาในอีก 1-2 อาทิตย์นี้ โดยวัคซีนทั้ง 2 ตัวมีประสิทธิภาพไม่ต่างกัน พร้อมย้ำว่าป้องกันความรุนแรงของโรคได้ดีมาก ดังนั้นประชาชนจึงควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกัน COVID-19 เพื่อเป็นการป้องกันตัวเองและบุคคลอื่น เพื่อให้โรคสงบลงไปและกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว แต่ไม่แนะนำให้ฉีดวัคซีน COVID-19 พร้อมกับวัคซีนอื่น
ส่วนอาการแทรกซ้อนจากการฉีดวัคซีนนั้น ศ.นพ.ยง ระบุว่า ขณะนี้ทั่วโลกฉีกวัคซีนไปแล้ว 220 ล้านโดส ยังไม่พบว่ามีผู้เสียชีวิตจากวัคซีนแม้แต่คนเดียว แม้ก่อนหน้านี้จะมีรายงานว่ามีผู้ที่รับการฉีดวัคซีนทั่วโลก 13 ล้านคน ในจำนวนนี้เสียชีวิต 113 คน แต่จากการสอบสวนโรคอย่างละเอียด พบว่าทั้ง 113 คนไม่มีใครเกี่ยวข้องกับวัคซีนโดยตรง แต่เสียชีวิตจากโรคประจำตัว หรืออุบัติเหตุ จึงขอให้ประชาชนมั่นใจ