วันนี้ (2 มี.ค.2564) ที่อาคารกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) กระทรวงสาธารณสุข นพ.ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ อธิบดี สบส. นำพนักงานเจ้าหน้าที่รับเรื่องร้องเรียนจากนายอัจฉริยะ เรืองรัตนพงศ์ ประธานชมรมช่วยเหลือเหยื่ออาชญากรรม ซึ่งระบุว่า โรงพยาบาลเอกชนแห่งหนึ่งในเขตจตุจักร ประเมินค่าใช้จ่ายและเรียกเก็บค่ารักษาพยาบาลจากผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต ทำให้เกิดการรักษาล่าช้า อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้ น.ส.วิชญาพร วิเศษสมบัติ หรือพริตตี้วาวา เสียชีวิตเมื่อช่วงเช้าวันที่ 23 ก.พ.ที่ผ่านมา
นายอัจฉริยะ เปิดคลิปวิดิโอช่วงเวลาที่ น.ส.วิชญาพร เข้ารับการรักษา เริ่มตั้งแต่เวลา 06.29 น. กลุ่มบ้านปาร์ตี้นำถึงโรงพยาบาล แต่ปรากฎว่ายังไม่ได้ให้การรักษา แต่เรียกเก็บเงิน 15,000 บาท เป็นค่ามัดจำ พร้อมถามหาผู้รับเป็นเจ้าของคนไข้ โดยตลอดเวลาการรักษาไม่ได้เข้าห้องไอซียู แต่นอนอยู่ในห้องสังเกตอาการ จนเมื่อเวลา 07.18 น. จึงเริ่มรักษา จากนั้นเรียกเก็บเงินอีก 40,000 บาท ต่อมา น.ส.วิชญาพร เสียชีวิตด้วยภาวะหัวใจล้มเหลว โดยเจ้าหน้าที่แจ้งเวลา 08.45 น. และยังไม่สามารถนำศพออกไปชันสูตรที่สถาบันนิติเวช รพ.ตำรวจ ในช่วงเวลา 12.00 น. เพราะยังไม่ได้จ่ายค่าชุดที่ใช้ในการระหว่างการรักษาพยาบาลอีก 500 บาท จึงเห็นว่าสถานพยาบาลดังกล่าว ไม่ได้คำนึงถึงผู้เสียหายก่อน สนใจแต่เรื่องเรียกเก็บเงินค่ารักษาพยาบาล
กว่าจะเริ่มรักษาใช้เวลานานถึง 50 นาที หากรักษาเร็ว คงไม่เสียชีวิต
สั่งเร่งตรวจสอบข้อเท็จจริง
นพ.ธเรศ ให้สัมภาษณ์ภายหลังรับเรื่องร้องเรียนว่า ขณะนี้ สบส.สั่งการให้พนักงานเจ้าหน้าที่กองกฎหมาย และกองสถานพยาบาลและการประกอบโรคศิลปะ ลงพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงอย่างเร่งด่วนโดยจะมุ่งตรวจสอบในประเด็นสำคัญในการช่วยเหลือผู้ป่วยฉุกเฉินที่เกี่ยวข้องกับพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 ใน 2 ประเด็น คือ 1) การให้บริการรักษาพยาบาลของโรงพยาบาลเอกชนดังกล่าวในการดูแลเยียวยาผู้ป่วยฉุกเฉินว่าเป็นไปตามที่กฎหมายกำหนดหรือไม่ ซึ่งจะมีการตรวจสอบจากเวชระเบียน เอกสารทางการแพทย์ของโรงพยาบาล และแนวทางการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤตของโรงพยาบาลเป็นไปตามมาตรฐานหรือไม่ โดยจะเรียกตัวผู้เกี่ยวข้องทั้งทางฝั่งโรงพยาบาลเอกชน และญาติผู้เสียชีวิตมาให้ถ้อยคำกับคณะอนุกรรมการสอบข้อเท็จจริงเรื่องร้องเรียน ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิจากแพทยสภา สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) พิจารณาเพื่อให้ความเป็นธรรมแก่ทั้ง 2 ฝ่าย คาดว่าจะดำเนินการภายใน 7 วัน
ย้ำ รพ.เอกชน ปฏิบัติตามนโยบาย UCEP
อธิบดี สบส. กล่าวว่า นโยบาย “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients ; UCEP) เป็นนโยบายของภาครัฐที่มีคุณประโยชน์ต่อประชาชนอย่างมาก ในการสร้างความความครอบคลุมลดความเหลื่อมล้ำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตได้รับการคุ้มครองสิทธิในการเข้าถึงบริการรักษาพยาบาลอย่างปลอดภัยโดยไม่มีเงื่อนไขในการเรียกเก็บค่ารักษา 72 ชั่วโมงแรก ซึ่งที่ผ่านมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2560 – มกราคม 2564 สปสช.มีการพิจารณาเบิกจ่ายเงินชดเชย UCEP ไปแล้วกว่า 85,000 ครั้ง รวมเป็นเงินกว่า 4,900 ล้านบาท จึงขอกำชับให้สถานพยาบาลเอกชนทุกแห่งปฏิบัติตามนโยบาย UCEP และกฎหมายสถานพยาบาลอย่างเคร่งครัด โดยยึดชีวิตผู้ป่วยเป็นสิ่งสำคัญอันดับแรก หากประชาชนพบสถานพยาบาลแห่งใดไม่ปฏิบัติตามกฎหมายกำหนด ก็สามารถแจ้งได้ที่สายด่วนกรม สบส. 1426
ปฏิเสธรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีโทษจำคุก-ปรับ
ด้าน ทพ.อาคม ประดิษฐสุวรรณ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า สำหรับสถานพยาบาลเอกชนที่ปฏิเสธการรักษาผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต (สีแดง) หรือเรียกเก็บค่าใช้จ่ายจากผู้ป่วยหรือญาติ เป็นเหตุให้การรักษาพยาบาลผู้ป่วยล่าช้าไม่เป็นไปตามมาตรฐานการรักษาที่เหมาะสม จะถือว่ามีความผิดตามพระราชบัญญัติสถานพยาบาล พ.ศ.2541 มาตรา 36 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 40,000บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ทั้งนี้ เพื่อความชัดเจนในการประเมินเกณฑ์ผู้ป่วยว่าเข้าข่ายฉุกเฉินวิกฤติ (สีแดง) หรือไม่ ขอให้สถานพยาบาลใช้ระบบบันทึกและประเมินผู้ป่วย (UCEP) ของสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) และหากพบปัญหาในการวินิจฉัยคัดแยกผู้ป่วยให้ปรึกษาขอคำวินิจฉัยจากศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตของ สพฉ. ผ่านสายด่วน 02 872 1669 โดยให้ยึดคำวินิจฉัยของศูนย์ประสานงานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตเป็นที่สุด