เมื่อวันที่ 2 มี.ค.2564 ที่บ้านกกไม้แดง ต.ดินทอง อ.วังทอง จ.พิษณุโลก น.ส.สุภาภรณ์ พันธุลี เกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง ว่าจ้างคนงานมาช่วยกันคัดแยก มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จำนวน 5,000 กิโลกรัม หลังจากเก็บผลผลิตจากสวนมา เพื่อส่งขายให้พ่อค้าคนกลางที่ตลาดสี่มุมเมือง ในราคาที่ตกลงกัน มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง กิโลกรัมละ 18 บาท มะม่วงฟ้าลั่น กิโลกรัมละ 6 บาท และมะม่วงเพชรบ้านลาด กิโลกรัมละ 3 บาท ให้ทันกำหนดส่งผลผลิต
หลังจากที่พยายามหาแหล่งระบายผลผลิต โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองออกจากสวนให้ได้มากที่สุกเร็วที่สุด ก่อนที่ราคาจะตกต่ำลงไปมากกว่านี้ หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19
น.ส.สุภาภรณ์ บอกว่า ช่วงราคามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเพื่อการส่งออก ที่ขายแล้วจะไม่ทำให้ขาดทุน คือกิโลกรัมละ 25 บาท แต่ตอนนี้จำเป็นต้องตัดใจขาย กิโลกรัมละ 18 บาท เพราะยังไม่มีสัญญาณว่าราคามะม่วงน้ำดอกไม้สีทองจะขยับขึ้นมาได้อย่างไร
การแก้ไขปัญหา ราคาผลผลิตตกต่ำด้วยการแปรรูปมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองนั้นไม่สามารถทำได้ เนื่องมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองในจังหวัดมีจำนวนมาก ทำอย่างไรก็ไม่สามารถทดแทนต้นทุนที่เสียไปได้รวดเร็วการตัดสินใจขายตามกลไกตลาด
คาดว่าปีนี้ก็คงจะขาดทุนเหมือนปีที่ผ่านมา ขาดทุนเกือบ 1 ล้านบาท เพราะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองเคยราคาตกต่ำสุดอยู่ที่กิโลกรัมละ 7 บาทเท่านั้น เบื้องต้น จึงต้องลดต้นทุนการเพาะปลูกด้วยการเก็บถุงห่อมะม่วงเอามาไว้ใช้ซ้ำอีก 1 ปี เป็นปีที่ 3 แล้ว ซึ่งตามปกติแล้ว หากได้กำไรดี ก็จะซื้อถุงมาห่อมะม่วงใหม่ ซึ่งถุงห่อมะม่วงมีต้นทุนใบละ 6 บาท
จ.พิษณุโลก มีพื้นที่ปลูกมะม่วงรวม 89,674 ไร่ เกษตรกรชาวสวนมะม่วงมีจำนวน 7,227 ราย กระจายปลูกในพื้นที่ 9 อำเภอของ จ.พิษณุโลก พบปลูกมากที่สุด 3 อำเภอ คือ อ.เนินมะปราง 54,437 ไร่ อ.วังทอง 28,784 ไร่ และ อ.วัดโบสถ์ 3,761 ไร่ คิดเป็นร้อยละ 97 ของพื้นที่ปลูกทั้งจังหวัด
สำหรับผลผลิตมะม่วงในฤดู ระหว่างเดือน ก.พ. - พ.ค. ของทุกปี และแบบนอกฤดูกาล ซึ่งคาดว่าในปี 2564 จะมีพื้นที่เก็บเกี่ยวจำนวน 78,220 ไร่ และผลผลิต จำนวน 70,398 ตัน