วันนี้ (8 มี.ค.2564) คณะกรรมการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ผ่านความเห็นชอบให้นกชนหิน (Helmeted Hornbill) เป็นสัตว์ป่าสงวน ลำดับที่ 20 ของไทยแล้ว
สถานะ ‘นกชนหิน’ เสี่ยงสูญพันธุ์ ผลักดันเป็นสัตว์ป่าสงวนอันดับที่ 20
ข้อมูลจากเว็บไซต์ กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ระบุว่า ช่วงปลายปี 2562 ที่ผ่านมา เกิดความตื่นตัวของสังคมในการผลักดันสถานะการอนุรักษ์ “นกชนหิน” นกเงือก 1 ใน 13 ชนิดของไทยจากสถานะสัตว์ป่าคุ้มครอง ตาม พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า ขึ้นเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20
กระแสดังกล่าวเกิดขึ้นภายหลังการเปิดเผยข้อมูลจาก นายปรีดา เทียนส่งรัศมี เจ้าหน้าที่โครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ที่ระบุว่า เริ่มมีกลุ่มพรานเข้าป่าล่านกชนหินในเขตอุทยานแห่งชาติบูโด-สุไหงปาดี จ.นราธิวาส
จากแรงดึงดูดการตั้งค่าหัวนกชนิดนี้สูงถึงหลักหมื่น ก่อนจะส่งขายให้กลับกลุ่มนักสะสมที่มีความเชื่อเรื่องเครื่องรางของขลังทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศ
สอดคล้องกับรายงานขององค์กรติดตามการค้าสัตว์ป่า (TRAFFIC) เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งติดตามการลักลอบการซื้อขายชิ้นส่วนและเครื่องประดับจากโหนกนกชนหินและนกเงือกชนิดอื่น ๆ ในตลาดออนไลน์ในประเทศไทย ระหว่างเดือนต.ค.2561- เม.ย.2562 พบการโพสต์ซื้อขายสินค้าจากนกเงือก 236 โพสต์ มีผลิตภัณฑ์จากนกเงือกมากกว่า 546 ชิ้น โดย 173 โพสต์ หรือ 73% เป็นการซื้อขายผลิตภัณฑ์จากนกชนหิน
ต่อมามูลนิธิสืบนาคะเสถียรจึงได้สร้างแคมเปญรณรงค์ “ขอให้นกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอันลำดับที่ 20 ของไทย” ผ่านเว็บไซต์ www.change.org เพื่อขอชื่อสนับสนุนจากประชาชนก่อนส่งให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นำเรื่องนี้ไปพิจารณาผลักดันตามขั้นตอนต่อไป
ศ.ดร.พิไล พูลสวัสดิ์ หัวหน้าโครงการศึกษานิเวศวิทยาของนกเงือก คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ผู้เชี่ยวชาญด้านการศึกษาวิจัยนกเงือก ให้ความเห็นว่า สถานการณ์ในภาพรวมของนกเงือกแต่ละชนิดในประเทศไทยนั้น มีความแตกต่างกันในแง่พื้นที่ ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายด้านที่เชื่อมโยงกันเป็นวงจรชีวิต
อย่างไรก็ดี ชนิดของนกที่น่าเป็นห่วงที่สุดคือนกชนหิน เพราะในอินโดนีเซีย มีการล่าเพื่อส่งหัวไปขายที่ประเทศจีน แต่ก็ยังไม่ลุกลามเข้ามาในประเทศไทย ยกเว้นมีข่าวเรื่องการล่านกในประเทศมาเลเซียและตะเข็บชายแดนไทย โดยที่ผ่านมามีการรายงานสถานการณ์ไปยังองค์กรนานาชาติ รวมถึงประเทศเพื่อนบ้านให้มีการเฝ้าระวังและดูแลอย่างเข้มข้น
ในจำนวนนกเงือกทั้ง 13 ชนิดในประเทศไทย นกชนหินเป็นนกที่มีอายุโบราณมากที่สุด กล่าวได้ว่า เป็นบรรพบุรุษของนกเงือกที่ยังมีชีวิตอยู่ นั่นคือนกเงือกสายพันธุ์โหนกใหญ่ เช่น นกกก นกหัวแรด แม้อาจจะไม่ใช่บรรพบุรุษโดยตรง แต่นกชนหินเป็นญาติสนิทกับบรรพบุรุษของนกกก และนกหัวแรด เหมือนเป็นลูกพี่ลูกน้องกัน
บรรพบุรุษของนกเงือกในไทยมี 3 ชนิด เก่าแก่ที่สุดคือนกเงือกหัวหงอกมีอายุ 47 ล้านปี นกชนหิน 45 ล้านปี และนกเงือกคอแดง ซึ่งอยู่ในสถานะที่น่าเป็นห่วงเช่นเดียวกัน
บทบาทสำคัญของนกเงือกในระบบนิเวศคือการกระจายเมล็ดพันธุ์ไม้ การอนุรักษ์นกเงือกไว้ได้เท่ากับจะได้พื้นที่ป่าเพิ่มมากขึ้น เพราะนกเงือกเหล่านี้ช่วยปลูกป่าและขยายพื้นที่ป่าให้มากขึ้นจากพฤติกรรมการกินผลไม้ที่หลากหลาย ส่งผลให้ป่าที่นกปลูกมีความหลากหลายตามไปด้วย ขณะเดียวกันผลไม้ที่นกเงือกกินและปลูกยังเป็นผลไม้ประจำถิ่น จึงได้ทั้งปริมาณ คุณภาพ และความหลากหลายที่ทำให้ป่ามีความสมบูรณ์
ทั้งนี้ จากการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับชีววิทยาการสืบพันธุ์ของนกชนหินพบว่า การทำรังของนกชนิดนี้ไม่ง่ายเหมือนชนิดอื่น เนื่องจากจะพิถีพิถันในการเลือกทำรังอย่างมาก โดยรังต้องมีลักษณะพิเศษที่จะต้องมีปุ่ม หรือมีชานชาลายื่นออกมาเพื่อให้นกเกาะเมื่อโผเข้ารัง ซึ่งโพรงลักษณะนี้ในธรรมชาติมีอยู่น้อย ไม่เหมือนนกเงือกชนิดอื่นที่ไม่พิถีพิถันในการเลือกรัง อีกทั้งวงจรชีวิตของนกชนหินยาวกว่าชนิดอื่น ๆ โดยถือว่ายาวที่สุดในบรรดานกเงือกเอเชีย
เมื่อป่าลดลง ขาดป่าที่มีต้นไม้ใหญ่ โดยเฉพาะไม้วงศ์ยาง ไม้ตะเคียน ไม้กาลอ เป็นต้น ซึ่งไม้จำพวกนี้ถือเป็นไม้เศรษฐกิจการถูกลักลอบตัดก็มากขึ้น การลักลอบตัดไม้ในพื้นที่ป่าจึงเป็นภัยคุกคามอันดับแรกๆ ของนกชนหินและนกเงือกชนิดอื่น ๆ ในประเทศไทย
เพราะเป็นการทำลายและรบกวนถิ่นอาศัยของนกมากกว่าการล่าโดยตรง ทั้งการเข้าไปหาของป่า เข้าไปตัดไม้ หรือกิจกรรมการท่องเที่ยว แม้ว่าในเวลานี้จะยังไม่มีการล่าอย่างชัดเจน แต่เมื่อมีการรบกวนหรือทำกิจกรรมในป่านกก็จะตื่น และจะไม่ทำรัง เมื่อไม่ทำรังก็ไม่ออกลูกตามมา
จากการศึกษาวิจัยในผืนป่าเทือกเขาบูโดฯ กว่า 30 ปี ของทีม ศ.ดร.พิไล ระบุว่า พบรังนกสะสมทั้งหมด จำนวน 22 รัง ที่มีนกเข้ามาใช้ซ้ำ ๆ ราว 40 คู่ แต่เกิดการเสียหายไป 19 รัง เพราะต้นไม้หัก ถ้าไม่มีการเฝ้าระวังและมีการซ่อมแซมเมื่อต้นรังหักนกเงือกก็ต้องหารังใหม่
เท่ากับปีนั้นแม่นกจะไม่ออกลูก ซึ่งคาดว่าปัจจุบัน มีนกชนหินในพื้นที่เทือกเขาบูโดฯ ประมาณ 100 ตัว หรืออาจไม่ถึง 100 ตัวดีนัก เพราะในระยะหลังแต่ละปีพบนกทำรังแค่ 1-2 คู่ และออกลูกเพียงตัวเดียว ส่วนพื้นที่อื่นนั้นไม่ทราบจำนวนที่แน่ชัด แต่นกชนหินสามารถพบได้ในพื้นที่ป่าดิบทางภาคใต้ ตั้งแต่ จ.ชุมพรลงไป
กระแสเรียกร้องให้ขึ้นบัญชีนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนลำดับที่ 20 นั้น ศ.ดร.พิไล เห็นว่า มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ข้อดี คือกฎหมายในการดูแลนกชนหินจะมีความเข้มข้นขึ้น แต่เมื่อมีกฎหมายแล้วต้องเข้มงวดในการบังคับใช้ด้วย ซึ่งกรณีตัวอย่างจากทรัพยากรป่าไม้และสัตว์ป่าตลอดช่วงเวลาที่ผ่านมา พบว่ามีการใช้ประโยชน์จากป่ามาก แต่ไม่มีการทำนุบำรุงทำให้เกิดการสูญเสียพื้นที่ป่าอย่างที่เป็นเช่นทุกวันนี้
สำหรับข้อเสีย หากนกชนหินถูกขึ้นบัญชีเป็นสัตว์ป่าสงวน เรื่องการทำวิจัยจะยุ่งยากขึ้น เพราะต้องมีการกำหนดเขตหวงห้าม ซึ่งอาจจะเป็นการปิดกั้นนักวิจัยจากภายนอก
ในขณะเดียวกันหากไม่มีการเฝ้าระวังนกชนิดนี้ก็อาจจะหายไปโดยธรรมชาติ เพราะไม่สามารถเจาะโพรงเองได้ และยังต้องเป็นโพรงลักษณะพิเศษอีกด้วย ดังนั้นการจัดอันดับให้เป็นสัตว์ป่าสงวน แต่ไม่มีการเฝ้าระวังที่ดี ในที่สุดนกก็จะค่อย ๆ ลดลง หรือหายไปโดยที่อาจไม่มีคนล่า แต่เพราะไม่มีที่ทำรัง
ในทางกลับกันการยกสถานะนกชนหินเป็นสัตว์ป่าสงวนอาจยิ่งเป็นการเพิ่มค่าหัวหรือสร้างแรงจูงใจของนักล่ามากยิ่งขึ้นด้วยเพราะเป็นสัตว์ป่าสงวน ดังนั้นควรเปิดกว้างให้ทุกภาคส่วนได้ร่วมศึกษาพัฒนาแนวทางในการอนุรักษ์นกชนหินอย่างเหมาะสม