หลังจากศาลรัฐธรรมนูญโดยเสียงข้างมากวินิจฉัย มติที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด ครั้งที่ 18/2545 วันพุธ ที่ 27 พ.ย.2545 เรื่อง ปัญหาเกี่ยวกับระยะเวลาฟ้องคดีปกครองเป็นการออกระเบียบตามพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ. 2542 ขัดต่อรัฐธรรมนูญ
วันนี้ (18 มี.ค.2564) นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้กระทรวงคมนาคมพยายามดูข้อระเบียบกฎหมาย รวมถึงข้อเท็จจริง และต่อสู้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศเต็มความสามารถ เบื้องต้น ขอดูคำวินิจฉัยกลางฉบับสมบูรณ์จากศาลรัฐธรรมนูญก่อนว่าเป็นอย่างไร เนื่องจากตามกระบวนการกระทรวงไม่ได้เป็นผู้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพียงแต่กระทรวงกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ยื่นเรื่องนี้ต่อผู้ตรวจการแผ่นดิน ยืนยัน จะดำเนินการทุกขั้นตอนตามกระบวนการทางกฎหมายที่สามารถดำเนินการได้ เพื่อปกป้องผลประโยชน์ประชาชน ดังนั้นจึงจะต้องสู้ต่ออย่างเต็มที่
เรายังไม่เห็นคำวินิจฉัยกลางฉบับจริง ตามขั้นตอนของศาลรัฐธรรมนูญจะต้องส่งคำวินิจฉัยกลางมายังผู้ตรวจการแผ่นดิน และรัฐสภา ก่อนที่จะส่งต่อคำวินิจฉัยมายังกระทรวงคมนาคม
สำหรับขั้นตอนหลังจากนี้ คือ กระทรวงคมนาคมต้องรอทุกอย่างให้ออกมาเป็นทางการก่อน ว่าคำวินิจฉัยกลางออกมาว่าอย่างไร ถึงจะทราบว่ากระทรวงคมนาคมต้องเดินหน้าอย่างไรต่อ ซึ่งเรื่องนี้เป็นกระบวนการทางข้อกฎหมาย หากได้รับคำวินิจฉัยมาแล้วก็จะรีบดำเนินการตามข้อกฎหมายและขบวนการที่ทำได้ เพื่อรักษาผลประโยชน์ของประเทศ
นายศักดิ์สยาม กล่าวอีกว่า ส่วนอายุความของคดีดังกล่าวคงต้องรอดูคำวินัจฉัยกลางจากศาลรัฐธรรมนูญด้วย ในกรณีที่มีคำตัดสินจากศาลฯต้องรอคำวินิจฉัยกลางหรือองค์คณะทำงานที่ดำเนินการ ซึ่งจะเป็นข้อยุติตามหลักกฎหมายข้อใด ข้อเท็จจริงเป็นอย่างไร เบื้องต้นถือเป็นสัญญาณที่ดี แต่ขอดูรายละเอียดให้ชัดเจนก่อน โดยที่ผ่านมาทางกระทรวงได้ยื่นทั้งหมด 2 เรื่อง 1.การวินิจฉัยเป็นไปตามหลักกฎหมายสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ 2.อายุความ ต้องรอคำวินิจฉัยกลางว่าจะเป็นอย่างไร โดยที่ผ่านมาในการอภิปรายไม่ไว้วางใจหากยังไม่มีความผิดในการละเมิดหรือชำระค่าชดเชยจะไม่นับอายุความ
ตั้งปลัดกระทรวงฯ หาผู้ละเมิดชดใช้ค่าเสียหาย
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคมได้แต่งตั้ง "ชยธรรม์ พรหมศร" ปลัดกระทรวงคมนาคม เป็นประธานคณะทำงานหาผู้กระทำผิดทางละเมิด เพื่อดำเนินการสืบหาผู้กระทำผิดทางละเมิด โดยจะดำเนินการตรวจสอบถึงตัวบุคคลที่เกี่ยวข้อง ประเมินมูลค่าความเสียหายต่อรัฐที่บุคคลต้องรับผิดชอบด้วย ก่อนจะรายงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่หากยังไม่มีการจ่ายเงินค่าโง่ดังกล่าวก็ยังไม่ถือว่าละเมิด
ด้านการรถไฟแห่งประเทศไทย ระบุว่า อยู่ระหว่างการรอผู้ตรวจการแผ่นดิน ไปดำเนินการขอคัดถ่ายคำวินิจฉัยกลางของศาลรัฐธรรมนูญอยู่เช่นกัน เพื่อนำมาพิจารณาเนื้อหาและรายละเอียดต่าง ๆ พร้อมกับประสานงานกับกระทรวงคมนาคมในการพิจารณาแนวทางเพื่อปฏิบัติตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ เนื่องจากกรณีนี้ผู้ตรวจการแผ่นดินเป็นผู้ยื่นคำร้องแทนกระทรวงคมนาคม และการรถไฟฯ ที่ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยในประเด็นว่าขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่