หลังจากประเทศไทยใช้เวลาในการต่อสู้อย่างยาวนานกว่า 5 ปี เพื่อทวงคืนสมบัติชาติ คือ โบราณวัตถุ 2 ชิ้น ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว มูลค่าชิ้นละ 30 ล้านบาท ถูกโจรกรรมไปยังพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชอง มูน ลี (Asian Art Museum ,Chong-Moon Lee ) ตั้งอยู่ในถนนลากิ้น เมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอเนียร์ สหรัฐฯ ตั้งแต่ปี พ.ศ 2509 หรือ 55 ปี ที่ผ่านมา
ทับหลังปราสาทเขาโล้น
วันนี้ (30 มี.ค.2564) นายประทีป เพ็งตะโก อธิบดีกรมศิลปากร เปิดเผยกับทีมข่าวไทยพีบีเอสว่า โบราณวัตถุ 2 ชิ้น กำลังจะถูกส่งคืนกลับสู่มาตุภูมิ ประมาณต้นเดือนพฤษภาคมนี้ หลังจากที่หน่วยงาน Homeland security investigation ฟ้องศาลชนะและได้เข้ายึดทับหลัง 2 ชิ้นจากพิพิธภัณฑ์ดังกล่าวแล้ว
ขั้นตอนการดำเนินการเพื่อนำโบราณวัตถุทับหลังประสาทหนองหงส์ และปราสาทเขาโล้น กลับสู่ประเทศไทย กรมศิลปากรได้พิจารณามอบหมายอำนาจ สถานกงสุลใหญ่ ณ นครลอสแอนเจลิส เป็นผู้ลงนามในเอกสารข้อตกลงเพื่อรับคืนโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ คาดจะส่งมอบระหว่างวันที่ 5-9 เม.ย.นี้
อธิบดีกรมศิลปากร
ช่วงเดือน เม.ย.สถานกงสุลใหญ่ฯ เตรียมการส่งโบราณวัตถุ โดยกงสุลจะเป็นผู้จัดหาบริษัทที่เชี่ยวชาญในการขนส่ง พร้อมรายละเอียดค่าใช้จ่ายในการขนย้ายและประกันภัย เสนอต่อกรมศิลปากร จากนั้นเดือน พ.ค.จะดำเนินการบรรจุหีบห่อ และส่งโบราณวัตถุโดยเลือกใช้การขนส่งทางอากาศ เพราะใช้เวลาในการเดินทางประมาณ 2-3 วัน เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย กรมศิลปากรจะนำโบราณวัตถุมาเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
จากนั้นจะจัดพิธีส่งมอบโบราณวัตถุ ณ ศาลาสำราญมุขมาตย์ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร โดยกระทรวงการต่างประเทศ ส่งมอบโบราณวัตถุให้กับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เพื่อส่งต่อให้กรมศิลปากร เป็นผู้ดำเนินการต่อไป มีสถานเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทยร่วมเป็นสักขีพยาน และกลางเดือน พ.ค.-ก.ค. กรมศิลปากรเตรียมที่จะนำโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้นจัดเทศกาลเพื่อให้ความรู้แก่ประชาชน ณ พระที่นั่งอิศราวินิจฉัยพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร
ทับหลังปราสาทหนองหงส์
ขณะนี้คดีความได้สิ้นสุดแล้ว ไทยเป็นผู้ชนะ เพราะมีหลักฐานชัดว่าโบราณวัตถุทั้ง 2 ชิ้น ถูกโจรกรรมออกไปจากประเทศอย่างผิดกฎหมาย รัฐบาลได้เตรียมงบประมาณ ในการขนส่งกลับประเทศ แต่ต้องรอให้พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชอง มูน ลี เป็นผู้ประเมินราคาโบราณวัตถุ เพื่อที่จะตีราคาประกันภัยระหว่างการขนส่ง เช่น หาก พิพิธภัณฑ์ หรือ ผู้เชี่ยวชาญในตลาดศิลปะประเมินราคา ทับหลังให้มูลค่าชิ้นละ 1 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จะมีค่าใช้จ่ายรวมทั้งสิ้น 18,688 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณชิ้นละ 500,000 กว่าบาท ซึ่งเมื่อปี 2509 ทับหลังมีการซื้อขายออกไปจากประเทศไทย ราคาชิ้นละ 15,000 ดอลลาร์สหรัฐ
พิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ชอง มูน ลี
กรมศิลปากร ย้ำว่า หัวใจสำคัญที่ได้ทับหลังกลับขึ้นมาในครั้งนี้ คือการตื่นตัวของชุมชุมชน นักวิชาการโบราณคดี ร่วมกันหาหลักฐาน และความร่วมมือระหว่างไทยและสหรัฐฯ ที่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน และไทยได้ตั้งคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศกลับคืนสู่ประเทศไทยอย่างจริงจัง เมื่อ 4 ปีที่ผ่านมา ทำให้การทวงคืนเป็นรูปธรรมมากขึ้น และยังย้ำว่าการได้ทับหลังกลับมา พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวไม่ได้มีเงื่อนไข หรือข้อแลกเปลี่ยนเป็นโบราณวัตถุชิ้นอื่น ๆ ที่ไทยต้องส่งไปให้กับพิพิธภัณฑ์ ทดแทนทับหลัง 2 ชิ้น
ไม่มีเงื่อนไข เพราะเป็นการฟ้องร้องคืนจากพิพิธภัณฑ์ และเขาก็สู้คดีแพ้ เนื่องจากไทยมีหลักฐานยืนยันชัดเจน ทั้งจากภาพถ่ายจากตัวปราสาท บันทึก สิ่งที่ไทยต้องจ่าย ก็คือค่าดำเนินการขนส่งทั้งหมดส่งต้องรอให้สหรัฐฯ ประเมินราคามาก่อน เพราะกรมฯ ไม่สามารถประเมินเองได้
ขณะที่นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ 1 ในอนุคณะกรรมการวิชาการติดตามโบราณวัตถุฯ หรือนักโบราณคดีอิสระ ในนามกลุ่มสำนึก 300 องค์ ผู้ที่อยู่เบื้องหลังร่วมกันจุดกระแสทวงคืนสมบัติชาติ ระบุว่า การทวงคืนครั้งนี้เข้าสู่กระบวนการทวงคืนแบบรัฐต่อรัฐค่อนข้างง่าย และกรมศิลปากรจริงจังกับการทวงคืน ส่วนสาเหตุที่ไทยพุ่งเป้าทวงคืนกับสหรัฐฯ ก่อน เพราะเป็นโอกาสทองของไทยใช้สิทธิทวงคืนสมบัติชาติ เนื่องจากสหรัฐ มี พ.ร.บ.ขโมยทรัพย์สินแห่งชาติ และการคืนทรัพย์สินทางวัฒนธรรมที่ถูกขโมยไปยังชาวต่างชาติโดยชอบธรรม หนึ่งในหน่วยงานที่มีบทบาทสำคัญร่วมกับไทย ก็ คือ Homeland security investigation ทำให้ไทยไม่ต้องสูญเสียงบประมาณจ้างทนายความแม้แต่บาทเดียว รัฐบาลจ่ายเพียงค่าขนส่งกลับไทยเท่านั้น
ทนงศักดิ์ หาญวงษ์
กว่าจะได้รับข้อมูล กว่าจะติดต่อหน่วยงานรัฐต่อรัฐได้ ทำให้เราใช้เวลายาวนานหลายปี กระบวนการคลาดเคลื่อนไปหลายอย่างทำให้ท้อเหมือนกัน แต่เมื่อเข้าไปสู่กระบวนการทวงคืรรัฐต่อรัฐแล้ว และเปลี่ยนแปลงอธิบดีกรมศิลปากร ความรวดเร็วการทำงานก็เร็วขึ้น
โบราณวัตถุ 2 ชิ้นนี้เป็นเพียง 5 เปอร์เซนต์ ที่ไทยสามารถทวงคืนจากสหรัฐฯ มาได้ ล่าสุดคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุฯ เตรียมทวงคืนกว่า 30 รายการ ในพิพิธภัณฑ์ต่าง ๆ ในสหรัฐฯ โบราณวัตถุสำคัญที่สุด คือ ประติมากรรมสำริด “กรุประโคนชัย” มูลค่าพันล้านบาทที่ถูกค้นพบที่ปราสาทเขาปลายบัด 2 จ.บุรีรัมย์ ถูกขโมยไปหมดราว 300 องค์ จากนั้นยังมีประติมากรรมและสิ่งประดับตัวฐาน เช่น ทับหลังปราสาทหินพิมาย เสาติดผนังปราสาเขาพนมรุ้ง เป็นสิ่งประดับตัวปราสาทที่สำคัญของประเทศไทย รวมทั้งประติมากรรมเมืองศรีเทพ จ.เพชรบูรณ์
ปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์
การทวงคืนทับหลังจะเป็นโมเดลการทวงคืนโบราณวัตถุในครั้งถัดไป ล่าสุดขณะนี้พิพิธภัณฑ์บางแห่ง เช่น พิพิธภัณฑ์ นอร์ตัน ไซ มอน ชิคาโก ได้ขอเจรจากับรัฐบาลไทย แลกกับการไม่ฟ้องร้องดำเนินคดี คาดว่าประติมากรรมเมืองศรีเทพ จะเป็นโบราณวัตถุล็อตต่อไปที่ไทยจะได้คืนกลับแผ่นดิน