1.สมณะโพธิรักษ์
สมณะโพธิรักษ์ ก่อตั้งพรรคพลังธรรม โดยมี พล.ต.จำลอง ศรีเมือง เป็นหัวหน้าพรรค มีบทบาทสำคัญในการชุมนุมการเมืองตั้งแต่ ปี 2535
ครั้งแรก ปี 2535 สมณะโพธิรักษ์นำผู้ศรัทธาในกลุ่มสันติอโศกร่วมชุมนุม และมีการสลายการชุมนุมในเวลาต่อมาในชื่อเหตุการ์พฤษภาทมิฬ ครั้งที่ 2 ปี 2549 และ ปี 2551 สมณะโพธิรักษ์นำประชาชนร่วมการชุมนุมกลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (พธม.)
ครั้งที่ 3 ปี 2555 สมณะโพธิรักษ์นำประชาชนชุมนุมกับองค์การพิทักษ์สยาม (อพส.) และต่อมาชุมนุมกับกองทัพประชาชนโค่นระบอบทักษิณ (กปท.) ขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร กระทั่งปี 2557 พัฒนาเป็นการชุมนุมของกลุ่ม กปปส.
สมณะโพธิรักษ์ เดิมเป็นพระในคณะธรรมยุติกนิกาย ชื่อ พระโพธิรักษ์ ต่อมาเข้าร่วมแปรญัตติฯ เป็นพระในคณะมหานิกายด้วย ทั้งนี้ถูกวิพาก์วิจารณ์อย่างหนักเกี่ยวกับการตีความคำสอนของพระพุทธเจ้า
และถูกกล่าวหาว่า "นอกรีต" เช่น ฉันมังสาวิรัติ ไม่ใช้เงิน นุ่งห่มผ้าย้อม ไม่เรี่ยไร ไม่รดน้ำมนต์ ไม่บูชาธูปเทียน ไม่มีไสยศาสตร์ ซึ่งสมณะโพธิรักษ์ประกาศนานาสังฆวาสกับมหาเถรสมาคม (ประกาศลาออก) และเลิกใช้คำว่า "พระ" โดยใช้คำว่า "สมณะ" แทน รวมถึงยึดแนวปฏิบัติของตนเองภายใต้กลุ่มสันติอโศก
2.คณะพระสงฆ์อาสาพัฒนาสันติวิธี และคณะสงฆ์กลุ่มสังฆสามัคคี
ปี 2553 การชุมนุมของ นปช. หรือคนเสื้อแดง มีกลุ่มคณะสงฆ์ภายใต้ชื่อ คณะพระสงฆือาสาพัฒนาสันติวิธี ร่วมเวทีปราศรัย นปช.กว่า 300 รูป โดยแสดงจุดยืนขอให้ยุติการใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม
ทั้งนี้ในแถลงการณ์มีการอ้างคำสอนของพระพุทธเจ้าที่ชี้แจงพระร่วมชุมนุมไม่ผิดและเป็นสิ่งที่ควรกระทำ
"พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ตรัสให้พระภิกษุเดินออกไปแก้ปัญหาให้ประชาชน โอบอุ้มคุ้มครองเอื้อเฟื้อเกื้อกูลให้ประชาชนได้รับประโยชน์ด้วยการมีชีวิตเป็นปกติสุข ดังพระบาลีที่ว่า จะระถะ ภิกขะเว พะหุชะ นะหิตายะ พะหุชะนะสุขายะ โลกานุกัมปายะ"
การชุมนุม ปี 2553 มีพระหลายรูปถูกตั้งข้อสังเกตว่ามีส่วนร่วมกับการชุมนุมทางการเมือง อาทิ พระเมธีธรรมาจารย์ หรือ เจ้าคุณประสาร ที่ปรากฎภาพร่วมกับแกนนำ นปช. และภายหลังยังแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการดำเนินการของรัฐบาล คสช. เช่นการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการปกครองคณะสงฆ์ โดยมีการรวมตัวของคณะสงฆ์ภายใต้กลุ่ม ศูนย์พิทักษ์พระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย ซึ่งมีเจ้าคุณประสานเป็นเลขาธิการศูนย์ฯ
3.อดีตพระพุทธะอิสระ (สุวิทย์ ทองประเสริฐ)
อดีตพระพุทธะอิสระ ขึ้นเวทีแสดงธรรมในการชุมนุม กปปส. ช่วงปี 2556-ปี 2557 ทั้งเวทีปราศรัยที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย กระทรวงการคลัง และศูนย์ราชการแจ้งวัฒนะ
ในช่วงการปิดการจราจรหลายจุดและแยกเวทีปราศรัย อดีตพระพุทธะอิสระ เป็นแกนนำในเวทีแจ้งวัฒนะ ซึ่งเวทีดังกล่าวมีเหตุเผชิญหน้าระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่ โดยกลุ่มคนที่ตกเป็นผู้ต้องหาส่วนหนึ่งอ้างว่าเป็นศิษย์ของอดีตพระพุทธอิสระ
ต่อมาอดีตพระพุทธะอิสระตกเป็นผู้ต้องหาในคดีกบฎจากการชุมนุม ปี 2557 และหลังการรัฐประหาร ปี 2557 ในช่วงรัฐบาล คสช. ถูกชุดคอมมานโดบุกจับที่วัดอ้อน้อย อ.เมืองนครปฐม ข้อหาสนับสนุนการปล้นทรัพย์ระหว่างการชุมนุม ปี 2557 กรณีสนับสนุนการปล้นอาวุธปืนของตำรวจสันติบาล
อดีตพระพุทธะอิสระถูกสึกจากคดีดังกล่าว แม้ภายหลังได้รับการประกันตัว แต่ยังคงนุ่งขาวห่มขาวและยังไม่ได้กลับไปบวช
4.พระพุทธิเชฎโฐ ภิกขุ และยุวสงฆ์ปลดแอก
พระพุทธิเชฎโฐ ภิกขุ เป็นพระที่ร่วมกิจกรรมเดินทะลุฟ้าที่มีแกนนำคือ ไผ่ ดาวดิน หรือ นายจตุภัทร บุญภัทรรักษา โดยร่วมเดินจาก จ.นครราชสีมา เมื่อวันที่ 16 ก.พ.ที่ผ่านมา มาถึงกรุงเทพฯ เพื่อเรียกร้องให้ปลดตัวแกนนำราษฎรที่ถูกดำเนินคดี ม.112, ยกเลิก ม.112, ยกร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่, ไล่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา จากตำแหน่งนายกฯ
เมื่อ ไผ่ ดาวดิน ถูกคุมขังระหว่างดำเนินคดี ม.112 พระพุทธิเชฎโฐ ภิกขุ ยังคงปักหลักชุมนุมร่วมกับคนอื่นๆ ที่หน้าทำเนียบรัฐบาลภายใต้ชื่อหมู่บ้านทะลุฟ้า
การสลายการชุมนุม เมื่อวันที่ 28 มี.ค. ที่ผ่านมา พระพุทธิเชฎโฐ ภิกขุ และพระอีก 1 รูป ถูกคุมตัวไปที่วัดเบญจมบพิตรฯ ซึ่งผู้ชุมนุมระบุว่าถูกบังคับให้ลาสิขา โดยถูกเจ้าหน้าที่กระชากจีวรให้พ้นจากความเป็นพระ
ขณะที่พระมหาสมชาย ปัญญาภารโน เลขานุการเจ้าคณะแขวงดุสิต ระบุว่าได้ติดต่อต้นสังกัด แต่ไม่มีการรับรองสถานะภิกษุทั้ง 2 รูป ดังนั้นจึงไม่ต้องส่งกลับวัด และสมัครใจพ้นจากความเป็นภิกษุ
"เมื่อต้นสังกัดไม่รับรอง ถือเป็นภิกษุเร่ร่อน ต้องนิมนต์สึก ไม่ได้มีการจับกระชากสึก แต่สึกด้วยความสมัครใจเนื่องจากไม่มีต้นสังกัด"
กลุ่มยุวสงฆ์ปลดแอก หรือ คณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ -New Restoration
กลุ่มยวงฆ์ปลดแอก เป็นชื่อเพจของกลุ่มคณะปฏิสังขรณ์การพระศาสนาใหม่ - New Restoration ที่ออกมาเรียกร้องให้มีการปฏิรูปคณะสงฆ์
สาระสำคัญของข้อเรียกร้อง เช่น การเทศน์ภายใต้หัวข้อ "อริยสิจโมเดล" เป็นการปราศรัยผ่านเวทีชุมนุมที่ศาลาญา เรียกร้องให้ปฏิรูป พ.ร.บ.สงฆ์ 2505 ที่เน้นให้อำนาจพระชั้นผู้ใหญ่ปกครองคณะสงฆ์ และละเลยสิทธิส่วนบุคคลของพระ
การเรียกร้องภายใต้หัวข้อ "เอาคิ้วเราคืนมา" ชี้ให้เห็นหลักปฏิบัติพระไทยที่ไม่มีความจำเป็นต่อการศึกษาพระพุทธศาสนา ไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน และไม่เป็นไปตามหลักสากล "พุทธศาสนาในประเทศไทยจะกลายเป็นพุทธเผด็จการ"
สถานะ "นักบวช-พลเมือง"
ผศ.เมธาพันธ์ โพธิธีรโรจน์ เลขาธิการสมาคมนักวิชาการเพื่อพระพุทธศาสนา (สนพ.) ระบุว่า พระที่ร่วมชุมนุมแบ่งเป็น 2 ประเภท
1.) กลุ่มที่มาด้วยความสมัครใจ พระเป็นคนๆ หนึ่งที่อินกับการเมืองและท่านไม่สามารถตัดขาดความรู้สึกทางโลกได้ ซึ่งมีเป็นจำนวนน้อยไม่ใช่พระทั้งหมด พระที่ออกมาต่อสู้แบบนี้ เช่น กลุ่มยุวสงฆ์ปลดแอก หรือกลุ่มเณรที่เข้าร่วมการชุมนุมกับกลุ่มราษฎร
หรือกรณีอดีตพระพุทธะอิสระ เข้าร่วมชุมนุมกับ กปปส. ด้วขความสมัครใจ เพราะมีความคิดเกี่ยวกันกับผู้ชุมนุมเป็นต้น
ผิดพระธรรมวินัยหรือไม่ ? "ต้องดูเจตนา มีหลักคิดคือกฎหมาย พระธรรมวินัย พ.ร.บ.สงฆ์ และพระอริยะสงฆ์ปฏิบัติ ถ้าเจตนาการมาร่วมชุมนุมท่านอาจไม่ถึงขั้นปาราชิก เป็นการกระทำที่ไม่ผิดขนาดนั้น"
"แต่ในมุมของคน หากเป็นคนที่ไม่ชอบแนวคิดของผู้ชุมนุมก็อาจมองเป็นโลกวัชชะ เช่นรัฐบาลเห็นว่าผิด แต่ฝ่ายสนับสนุนอาจจะเห็นว่าไม่ผิด"
ผศ.เมธาพันธ์ กล่าวว่า ตามมุมมองของพระพุทธศาสนามีพระธรรมวินัยเป็นตัวกำกับ สาระสำคัญพระมีหน้าที่ให้ความสงบสุขบังเกิดกับคนทุกกลุ่ม ถ้าท่านมาเพื่อให้กำลังใจผู้ชุมนุมจึงเป็นสิ่งที่ทำได้
"สมณะไม่ทำร้ายคนอื่น ไม่เบียดเบียน ก็ยังเป็นพระตามโอวาทปาฏิโมกซ์ไม่ใช่หรือ"
แต่หากพิจารณากฎมหาเถระสมาคม (มส.) ก็ถือว่าผิด เพราะกฎ มส. ใช้กับพระในไทยซึ่งเขียนห้ามไม่ให้ชุมนุมชัดเจน แต่กับพระทั้งโลกนั้นไม่ใช่ และคำสั่ง มส. ไม่ใช่พระธรรมวินัยของพระทุกกลุ่ม
2.) พระที่รับนิมนต์มาเสริมขวัญกำลังใจ เป็นพระที่ผู้ชุมนุมเคารพนับถือ อาจไม่ได้มาชุมนุมเพราะมีความคิดทางการเมืองแบบนั้น ซึ่งการเสริมขวัญกำลังใจมีมาตั้งแต่อดีต เช่น พระนเรศวรนิมนต์พระอาจารย์ไปร่วมรบ พระไม่ได้ไปรบ แต่ไปเสริมขวัญกำลังใจ
"เราเชื่อว่าพระอยู่ด้วยจะปลอดภัย หรือถ้ามีเหตุร้าย ความเลวร้ายก็จะลดน้อยลง"
พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า การตั้งข้อสังเกตเกี่ยวกับพระที่ออกมาชุมนุมเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง เพราะมองว่าพระร่วมชุมนุมได้อยู่แล้ว
"มันมีที่ไหนเหมือนกับไทยบ้าง พระพม่านี่ชุมนุมเป็นปกติเลยนะ ของไทยกลับมองว่าไม่ปกติ"
พระมหาไพรวัลย์ กล่าวว่า ไม่ใช่เรื่องแปลกที่พระมีส่วนร่วมทางการเมือง แต่ไม่ใช่ไปเพื่อเป็นแกนนำ เพราะพระไทยแสดงออกซึ่งความเห็นทุกเรื่อง เว้นอยู่เรื่องเดียวคือไม่ไปอยู่กับชาวบ้านหรือแสดงจุดยืนที่ชัดเจน ไปอยู่กับฝ่ายไหนก็ไม่ได้ กลายเป็นอคติว่าพระกับการเมืองไม่ใช่เรื่องที่อยู่ด้วยกันได้
ดังนั้นจึงขอให้พิจารณาพระใน 2 บทบาท คือ 1.พระเป็นนักบวชในพระพุทธศาสนา และ 2.พระเป็นพลเมืองของประเทศนี้ การที่พระไปชุมนุมคือการไปใช้สิทธิพลเมือง
"การเป็นนักบวชและพลเมืองสองเรื่องนี้ไปด้วยกันได้ ตราบใดที่ไม่ใช้ความรุนแรง ไม่ทำผิดกฎของสงฆ์ไปนั่งสมาธิ สวดมนต์ ทำได้ทั้งนั้น"
ข้อสังเกตของพระและนักวิชาการทั้งสองท่าน เป็นเพียงความเห็นส่วนหนึ่งซึ่งสังคมนี้ยังมีข้อถกเถียงที่หลากหลาย ขึ้นอยู่กับระบบความคิดแบบดั้งเดิมและความเชื่อทางการเมือง ซึ่งไม่ว่าจะเลือกเชื่อในมิติใดสุดท้ายย่อมไม่ต้องการให้เกิดความรุนแรงในทุกรูปแบบ