วันนี้ (12 เม.ย.2564) ผศ.นพ.ศุภวัชร บุญกษิดิ์เดช กุมารแพทย์ทารกแรกเกิด ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี ให้ข้อมูลว่า จากรายงานของประเทศจีน แม่ที่ติดเชื้อ COVID-19 อาจจะคลอดก่อนกำหนด โดยพบว่าทารกแรกเกิด 4 ใน 7 คน จะมีน้ำหนักตัวน้อย แต่แข็งแรงดี
หากคุณแม่อายุครรภ์น้อย โอกาสที่ทารกในครรภ์จะได้รับเชื้อนั้นน้อยมาก ต่างจากคุณแม่ใกล้คลอดที่ทารกมีโอกาสติดเชื้อ COVID-19 ได้มากกว่า สูตินารีแพทย์จะประเมิน หากคุณแม่เป็นกลุ่มที่ไม่แสดงอาการ แข็งแรงดี ก็ไม่ต้องรับประทานยา ร่างกายจะกำจัดเชื้อด้วยตัวเอง
หญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อจะมีอาการป่วยหรือไม่?
ขณะที่ นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวถึงกรณีหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อ COVID-19 ว่า หญิงตั้งครรภ์ต้องไปฝากครรภ์ตามปกติ และต้องปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข คือ สวใหน้ากากอนามัย ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงการสัมผัสดวงตา จมูก ปาก หลีกเลี่ยงไปในที่ชุมชนหรือแออัด และหากจำเป็นต้องเดินทางให้เว้นระยะห่างจากคนอื่นอย่างน้อย 1.5 เมตร
สำหรับอาการป่วยนั้น ส่วนใหญ่ 2 ใน 3 ไม่ค่อยมีอาการป่วย แต่จะมีอาการรุนแรงมากขึ้นในหญิงตั้งครรภ์ที่มีโรคร่วม เช่น เบาหวาน ความดัน หรือบางคนที่ครรภ์เป็นพิษก็จะพบปัญหา จึงขอแนะนำให้ปรึกษาแพทย์ที่รับฝากครรภ์อย่างใกล้ชิด
นอกจากนี้ กรมอนามัยได้รวบรวมข้อมูลในประเทศไทยช่วงปีที่ผ่านมา พบว่า ผู้หญิงตั้งครรภ์ 60 คน ไม่มีใครที่มีอาการรุนแรง หรือต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ และไม่มีหญิงตั้งครรภ์ในประเทศไทยที่ติดเชื้อ COVID-19 แล้วเสียชีวิต
ขณะที่ทั่วโลกพบว่า การติดเชื้อจากแม่สู่ลูก อาจพบได้ 2-5% ซึ่งทำให้มีโอกาสที่ทารกจะคลอดก่อนกำหนดมากขึ้น แต่ยังไม่มีหลักฐานชัดเจนเรื่องการแทงลูก
แม่ติด COVID-19 ให้นมลูกได้ไหม?
ด้าน นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่า COVID-19 ติดผ่านทางรก หรือทางน้ำนม ดังนั้นแม่ที่ติด COVID-19 สามารถให้นมลูกได้
เพียงแต่ต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ หรือให้พ่อเป็นคนป้อนนม แต่หากแม่รับยาต้านไวรัสฟาวิพิราเวียร์ (Favipiravir) และดารุนาเวียร์ (Darunavir) ควรหลีกเลี่ยงการให้นมลูก ส่วนการให้ยาต้านไวรัสชนิดอื่นๆ หญิงหลังคลอดยังสามารถให้นมลูกได้ตามปกติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
"หยาดทิพย์" ติดโควิด พร้อมแฟนหนุ่ม กังวลตั้งครรภ์ 16 สัปดาห์
สธ.คาดหากไร้มาตรการ อาจติดเชื้อวันละ 2.8 หมื่นคน