เมื่อวันที่ 26 เม.ย.2564 นายพิทักษ์ โยธา นายกสมาคมจารวีเพื่ออนุรักษ์นวดแผนไทย นำกลุ่มตัวแทนผู้ประกอบการร้านนวดเพื่อสุขภาพในพื้นที่ กทม.ยื่นหนังสือถึง พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เพื่อขอให้ทบทวนคำสั่งปิดสถานที่ชั่วคราว ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการกว่า 1,000 แห่งใน กทม.ได้รับผลกระทบ โดยมีตัวเเทนผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร รับมอบหนังสือ
สำหรับคำสั่งปิดของ กทม.ครั้งนี้เป็นครั้งที่ 3 ที่ผู้ประกอบการร้านนวดต้องหยุดกิจการชั่วคราว โดยที่ผ่านมา ไม่มีมาตรการ หรือแนวทางช่วยเหลือ เยียวยาใดๆ จาก กทม.และภาครัฐ ผู้ประกอบการหลายรายต้องแบกรับภาระต้นทุนค่าใช้จ่ายเองทั้งจากค่าเช่า ค่าน้ำ ค่าไฟ และค่าจ้างพนักงาน เฉลี่ยรายละ 8,000 - 300,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละพื้นที่
เรียกร้องฉีดวัคซีนให้พนักงานร้านนวด
ทั้งนี้ ค่าเช่าไม่ได้ลด และที่ผ่านมา ผู้ประกอบการต่างก็ปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุขอย่างเคร่งครัดมาโดยตลอด นอกจากนี้ ยังขอให้ กทม.พิจารณาเร่งรัดการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มผู้ประกอบการและพนักงานร้านนวดกว่า 1,000 คน แม้จะมีรายชื่อตามแผนแล้ว แต่มองว่าล่าช้าเกินไป เพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องพบเจอกับผู้คน และนักท่องเที่ยวจำนวนมาก
รัฐเตรียมอัดฉีดเม็ดเงินเยียวยา-ฟื้นฟู
ด้าน น.ส.กุลยา ตันติเตมิท ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังไม่ได้นิ่งนอนใจต่อข้อเรียกร้องให้เร่งดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ วงเงิน 200,000 - 300,000 ล้านบาท ภายในปลายเดือน พ.ค.นี้
โดยกระทรวงการคลัง ได้ติดตามสถานการณ์การแพร่ระบาดของ COVID-19 และสถานการณ์ด้านต่างๆ ที่อาจส่งผลกระทบทางเศรษฐกิจของประเทศ
เบื้องต้น มาตรการที่กระทรวงการคลังพิจารณาดำเนินการ จะเป็นการช่วยอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ ลดภาระของประชาชนและกระตุ้นการใช้จ่ายและการบริโภคภายในประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจในระยะต่อไป
โดยรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณสำหรับการดำเนินการแก้ไขปัญหาเยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์การระบาดของ COVID-19 กว่า 300,000 ล้านบาท