วันนี้ (30 เม.ย.2564) นายสิทธิโชติ อินทรวิเศษ อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา เปิดเผยว่า การปล่อยยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของจำเลยในคดีอาญา เป็นสิทธิที่สามารถกระทำได้ตลอด แต่หลักเกณฑ์พิจารณาของศาล จะพิจารณาตามลักษณะภาพและการกระทำของจำเลยแต่ละคนในคดีที่ถูกฟ้อง
โดยเฉพาะเงื่อนไข หากให้ประกันแล้ว เกรงว่าจะไปก่อเหตุภยันตรายประการอื่น หรือกระทำผิดซ้ำ ก็จะไม่อนุญาตให้ปล่อยตัวชั่วคราว
"สมยศ-ไผ่-หมอลำแบงค์" ยันไม่ทำผิดอีก
โดยในกรณีของนายสมยศ พฤกษาเกษมสุข, นายจตุภัทร์ บุญภัทรรักษา หรือไผ่ ดาวดิน เเละนายปติวัฒน์ สาหร่ายแย้ม หรือ หมอลำแบงค์ ที่ได้รับการปล่อยตัวชั่วคราว เนื่องจาก ตัวจำเลยเองเป็นคนลงชื่อในคำร้อง พร้อมแถลงต่อศาลด้วยตัวเองว่าจะไม่กระทำลักษณะที่ถูกฟ้อง และจะไม่ก่อเหตุร้ายประการอื่น พร้อมให้ศาลสั่งข้อกำหนดต่างๆ
แตกต่างจากการยื่นคำร้องขอปล่อยตัวชั่วคราวของแกนนำกลุ่มราษฎรคนอื่น ที่ศาลไม่อนุญาตหลายครั้ง เช่น วันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ทนายความเป็นผู้ยื่นคำร้อง และในเนื้อหา ไม่ได้มีการกล่าวถึงคำยืนยันว่าจะปฏิบัติตามเงื่อนไขใดๆ เพียงให้ศาลกำหนด
ชี้การแสดงออกไม่เชื่อกระบวนการยุติธรรม
อีกทั้งการกระทำก่อนหน้านี้ ก็มีการแสดงออกว่าไม่เชื่อถือกระบวนการยุติธรรม ขอถอนกระบวนการพิจารณา และถอนทนายความ แต่กลับเอารายงานกระบวนพิจารณาไปเขียนเอง ภายหลังจากที่ศาลลงจากบัลลังก์ไปแล้ว จึงทำให้ขาดความน่าเชื่อถือในสิ่งที่จำเลยยืนยันว่ายินดีที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่ได้เสนอมา
ทำให้ศาลไม่เชื่อว่า จะกระทำตามเงื่อนไขได้ ส่วนเงื่อนไขที่อ้างว่าเจ็บป่วย ไม่สามารถนำมาอ้างได้ เพราะอยู่ในความดูแลของกรมราชทัณฑ์ ทั้งนี้ หากจำเลยตัดสินใจจะไม่กระทำผิดตามฟ้องซ้ำเดิม และพร้อมยอมรับในกระบวนการยุติธรรม ศาลก็จะพิจารณาอีกครั้ง
เร่งตรวจสอบชุมนุมเอาผิดละเมิดอำนาจศาล
ส่วนการชุมนุมบริเวณศาลอาญา เพื่อเรียกร้องกดดันให้ปล่อยเเกนนำกลุ่มราษฎร เมื่อวันที่ 29 เม.ย.ที่ผ่านมา ทางศาลอาญากำลังตรวจสอบข้อมูลจากกล้องวงจรปิด และรายละเอียดทั้งหมดให้ละเอียดชัดเจน หากมีการกระทำผิดฐานละเมิดอำนาจศาล ทางศาลอาญาก็จะดำเนินการเอง
ส่วนข้อหาอื่น เช่น ความผิดฐานดูหมิ่นศาล ก็จะให้สำนักงานศาลยุติธรรม ดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อไป ส่วนความผิดฐานฝืน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือ พ.ร.บ.ควบคุมโรคฯ เป็นอำนาจหน้าที่ของตำรวจ ต้องดำเนินการแยกกัน
ยันพฤติการณ์ผู้ชุมนุมข่มขู่ศาล-ผู้พิพากษา
อธิบดีผู้พิพากษาศาลอาญา กล่าวอีกว่า พฤติการณ์ที่กลุ่มผู้ชุมนุมแสดงออก ถือเป็นการข่มขู่ศาล ข่มขู่ผู้พิพากษา ไม่คำนึงถึงหลักกฎหมายที่ควรจะเป็น และไม่ใช้การแสดงออกตามหลักสากล แม้ศาลจะปล่อยให้ผู้ชุมนุมใช้สิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่
แต่ยังถูกกล่าวหาในสิ่งที่เป็นความจริง จึงมองว่าการกระทำดังกล่าวไม่ใช่การใช้สิทธิ แต่เป็นพฤติกรรมก้าวร้าว ไม่เคารพกฎหมายมากกว่า