'กรมควบคุมโรค'ห่วงสุขภาพคนงานแยกขยะ หนุนสิทธิรับบริการสุขภาพ 1 เดือน 2 หมื่นคน
แม้จะเป็นอาชีพที่เสี่ยงเผชิญต่อเชื้อโรค และสารตกค้างอันตราย แต่กลับพบว่าผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะจำนวนไม่น้อยที่เข้าไม่ถึงสิทธิบริการสุขภาพ การจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค คนกลุ่มนี้ จึงเป็นแนวทางที่กรมควบคุมโรคหวังนำมาแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยมุ่งไปที่เป้าหมายกลุ่มเสี่ยง 20,000 คน ภายใน 1 เดือน
ถุงมือผ้าเป็นสิ่งเดียวที่ วิษณุ เป้าทอง ผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะใช้ป้องกันของมีคมจากเศษวัสดุประเภทกระป๋องสเปรย์ อลูมิเนียม บาดระหว่างคัดแยกขยะภายในโรงงานรีไซเคิล สภาพการทำงานที่ต้องสัมผัสขยะหลายประเภท โดยวิษณุ และคนงานทุกคนต่างทราบดีว่าเป็นความเสี่ยงต่อสุขภาพ แม้คนงานคัดแยกขยะส่วนใหญ่จะเข้าถึงสิทธิการรักษา 30 บาท แต่อาการเจ็บป่วยเล็กๆ น้อยๆ เช่น ของมีคม เศษแก้วบาด ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ พวกเขาจึงไม่ค่อยให้ความสำคัญกับการรักษาพยาบาล เพราะเห็นเป็นเรื่องปกติ และเคยชินกับงานลักษณะนี้
นายวิษณุ เป้าทอง ผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ กล่าวว่า เราต้องระมัดระวังตัวมากขึ้น แต่ของมันมาแบบนี้เราเคยชิน รู้ว่าตัวไหนอันตราย และกระป๋องสเปรย์ที่ไม่ควรสูดดม ก็จะอยู่ห่างมัน ใส่อุปกรณ์ที่เอาไปขายได้เลย หรือว่าปิดจมูก ซึ่งใส่บ้างไม่ใส่บ้าง อย่างวันนี้ทำงานเบาจึงไม่ต้องใส่อะไรมาก ความเคยชินด้วย บางครั้งก็รำคาญและอากาศร้อน
เสียงสะท้อนนี้อาจเป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นความเสี่ยงจากการประกอบอาชีพของคนงานคัดแยกขยะ นพ.สมเกียรติ ศิริรัตนพฤกษ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กังวลว่าคนงานกลุ่มนี้จะเสี่ยงได้รับเชื้อโรคจากขยะชุมชน และการปนเปื้อนสารโลหะหนัก เช่น สารตะกั่ว ปรอท แคดเมี่ยม จากขยะอิเล็กทรอนิกส์เข้าไปในร่างกาย เกิดผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
ขณะที่นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหาที่เขาเกิดขึ้นคงจะเป็นปัญหาเฉพาะหน้า เช่น หายใจเอาควันเข้าไปและแสบตา แต่ผลที่รุนแรงระยาว เช่น ภาวะการเป็นมะเร็งอะไรต่างๆ คิดว่าเขาคงไม่ทราบ แต่อย่างไรก็ตาม ผลกระทบทางสุขภาพที่สำคัญที่เขารู้เขายังนึกไม่ออกว่าจะจัดการปัญหานี้อย่างไร เพราะเป็นเรื่องของเศรษฐกิจและเรื่องปากท้อง ผู้ประกอบอาชีพนี้ไม่มีนายจ้าง เชื่อว่ากฎหมายเข้าไม่ถึง การที่จะหาเงินมาลงทุนในการดูแลสุขภาพตัวเอง เช่น ปรับปรุุงสภาพการทำงานให้ปลอดภัย ติดตั้งเครื่องดูดอากาศ ติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ การใส่อุปกรณ์ป้องกันตัวเองก็ไม่มีงบประมาณหรือเงินไปซื้อ เพราะฉะนั้น นี่คือความชัดเจนเรื่องของการเข้าถึงบริการ
การจัดตั้งเครือข่ายเฝ้าระวัง ป้องกัน ควบคุมโรค และภัยสุขภาพในประชาชนคนทำงานคัดแยกขยะ และรีไซเคิลขยะ ถือเป็นส่วนสำคัญที่กรมควบคุมโรค และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง นำมาใช้เป็นช่องทางลดความเสี่ยงผลกระทบสุขภาพ โดยมีแนวทางให้เครือข่ายฯ จัดทำทะเบียนผู้ประกอบอาชีพคัดแยกขยะ ส่งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขให้บริการตรวจคัดกรองความเสี่ยงเบื้องต้น พร้อมให้ความรู้การดูแลตัวเองเพื่อลดปัจจัยเสี่ยง ที่สำคัญเพื่อลดความเหลื่อมล้ำการเข้าถึงบริการสุขภาพ
ด้าน พญ.ฉันทนา ผดุงทศ รองผู้อำนวยการ สำนักโรคจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อม กรมควบคุมโรค กล่าวว่า พอเราพูดถึงกลุ่มคุ้ยขยะ แน่นอนป่วยแล้วอยู่ในบัตรทอง แต่ตอนที่ก่อนป่วย เขายังไม่ได้รับเรื่องบริการในเรื่องการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ซึ่งจริงๆ บัตรทองจะครอบคลุมเรื่องของการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคทั่วๆ ไป เช่น โรคความดัน เบาหวาน แต่เขาไม่มีเวลาไปที่สถานีอนามัยหรือโรงพยาบาล เพื่อตรวจสุขภาพตัวเอง ขณะเดียวกัน กฎหมายแรงงานทั้งหมดที่จะดูแลคนประกันสังคม กองทุนเงินทดแทน จริงๆ ดูแลคนกลุ่มนี้อยู่ แต่ว่าไม่มีใครออกไปกำกับดูแลให้เกิดการดูแลตรงนี้ขึ้นมา เพราะฉะนั้น คนกลุ่มนี้ไม่เคยมีใครไปเดินดูว่าเขาเสี่ยงจากการทำงานแค่ไหน และควรจะได้รับการตรวจสุขภาพที่สอดคล้องยังไง
ความพยายามเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายคนงานคัดแยกขยะกลุ่มเสี่ยง 20,000 คนใน 8 จังหวัด คือ อุบลราชธานี, บุรีรัมย์, กาฬสินธุ์, สมุทรปราการ, กาญจนบุรี, นครศรีธรรมราช, พระนครศรีอยุธยา และขอนแก่น เป็นสิ่งที่เครือข่ายเฝ้าระวังฯ เตรียมดำเนินการในช่วงเดือนกรกฎาคมถึงสิงหาคมนี้ โดยหวังให้เป็นครั้งแรกของการถขึ้นทะเบียนด้านสุขภาพคนงานคัดแยกขยะ และช่วยให้เข้าถึงสิทธิ สวัสดิการสุขภาพอย่างเท่าเทียม ก่อนจะขยายผลต่อไป