วันนี้ (20 พ.ค.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักวิจัยการอนุรักษ์ป่าไม้และพันธุ์พืช กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช เผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับว่านจักจั่นกินแล้วอันตรายอาจถึงแก่ชีวิตได้ เนื่องจากว่านจักจั่น คือตัวอ่อนของจักจั่นที่ถูกราเข้าทำลาย นอกจากความเชื่อเรื่องการเป็นของขลังแล้ว ยังมีการนำมารับประทานอีกด้วย
สำหรับประเทศไทย มีรายงานว่าว่านจักจั่นมีความใกล้เคียงกับราชนิด Ophiocordyceps sobolifera กินแล้วคลื่นไส้ อาเจียน ถ่ายเหลว ชัก กล้าเนื้อเกร็งกระตุก ดวงตาหมุนวนไปรอบๆไม่ทิศทางที่ชัดเจน อ่อนแรงใจสั่น และเวียนศรีษะ และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้
นอกจากนี้ในประเทศเวียดนาม มีรายงานการกินว่านจักจั่นชนิด Ophiocordyceps heteropoda พบว่า ผู้ที่นำมารับประทานเกิดอาการเวียนหัว อาเจียน น้ำลายไหล ม่านตาขยาย กรามแข็ง ไม่สามารถขับปัสสาวะได้ตามปกติ ชัก เพ้อคลั่ง เกิดภาพหลอน ง่วงซึม โคม่า และอาจรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิตได้
จากการตรวจสอบสารพิษ พบว่าเป็น ibotenic acid ซึ่งสารพิษในกลุ่มนี้มีผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง
ทั้งนี้ในปี 2562 มีชาวบ้านในจ.อุบลราชธานี 2 คนมีเก็บว่านจักจั่นมากิน แต่กินแล้วเกิดอาการเป็นพิษกะทันหัน จึงนำส่งโรงพยาบาล
ภาพ:เฟซบุ๊กว่านจักจั่น
ว่านจักจั่นแค่เชื้อรา
ก่อนหน้านี้ มีการโปรโมทในตลาดค้าออนไลน์ทั้งในเฟซบุ๊ก ว่านจั๊กจั่น ขายว่านจักจั่นว่าเป็นของวัตถุมงคลมีราคาราคา 299-499 บาท และทำให้มีชาวบ้านบางพื้นที่ออกไปขุดหาวัตถุดิบมาขายมีราคากิโลกรัมละ 1,000 บาท
จนทำให้หลายหน่วยงานต้องออกมาอธิบายข้อมูลในมุมวิทยาศาสตร์ โดยธิติยา บุญประเทือง ภัณฑารักษ์ พิพิธภัณฑ์เห็ดรา ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระบุว่า เรื่องอย่างนี้มีด้วยหรือ ช่างน่าสงสัยเหลือเกินว่าวัตถุมงคลอะไรจะงอกจากดินได้? แล้วว่านจั๊กจั่น เป็นวัตถุมงคลตามความเชื่อจริงๆ หรือ?
จากข้อมูลตามความเชื่อของคนโบราณ เชื่อว่าว่านจั๊กจั่น หรือ พญาว่านต่อเงินต่อทอง เป็นว่านกึ่งพืชกึ่งสัตว์ประเทภเดียวกับพวกมักกะลีผล ผู้ใดมีบูชาก็จะมีทรัพย์สินงอกเงยไม่ขาดมือ
แต่ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ ได้ชี้ชัดไปแล้วว่า เจ้าว่านจั๊กจั่น ที่หลายคนบูชานี่ที่แท้แล้วคือ จั๊กจั่นที่ตายแล้วจากการติดเชื้อรา ไม่มีส่วนไหนที่เป็นว่านหรือพืชเกี่ยวข้องตามที่เข้าใจ
ภาพ:ไบโอเทค
ข้อมูลจากไบโอเทค ระบุว่า จั๊กจั่นจะติดเชื้อราในขณะที่เป็นตัวอ่อนในช่วงที่ขึ้นมาลอกคราบเป็นตัวเต็มวัยเหนือดิน ในระยะนี้จั๊กจั่นจะอ่อนแอมาก ร่วมด้วยช่วยกันกับอากาศชื้นจากหน้าฝนที่มีความชื้นสูง ทำ ให้เชื้อราที่แพร่กระจายได้ดีในอากาศ เมื่อเชื้อราตกลงไปอยู่บนตัวจั๊กจั่นผู้อ่อนแอ ภูมิต้านทานต่ำ จึงทำให้เชื้อราสามารถแทงเส้นใยเ้ข้าไปและงอกงามภายใจตัวจั๊กจันได้ดี โดยดูดน้ำเลี้ยงในตัวจั๊กจั่นเป็นอาหาร และทำให้จั๊กจั่นตายในที่สุด
เมื่อจั๊กจั่นตายแล้วเชี้อราหมดทางหาอาหารได้ จึงต้องพยายามไปหาอาหารที่อื่่น โดยการสร้างโครง สร้างสืบพันธุ์ที่มีลักษณะเหมือนเขายืดขึ้นเหนือพื้นดิน (ลักษณะที่เหมือนเขาของว่านจั๊กจั่น) สปอร์ หรือ หน่วยสืบพันธุ์ที่ติดอยู่บริเวณปลายเขาที่สร้างขึ้นเหนือพื้นดิน จะต้องอาศัยลมหรือน้ำในการพัดพาให้ไปตกอยู่ในที่อื่นๆ เพื่อค้นหาจั๊กจั่นโชคร้ายตัวต่อไป
เชื้อราที่มีพฤติกรรมอาศัยอยู่ในตัวแมลงที่มีชีวิต จัดอยู่ในประเภท เชื้อราทำลายแมลง ราชนิดนี้นักวิจัยสันนิษฐานว่าเป็นเชื้อราสายพันธุ์ Cordyceps sobolifer
จากการศึกษาของนักวิจัยจากไบโอเทคพบว่ามีราทำลายแมลงในประเทศไทยมากกว่า 400 ชนิด พบได้ทั้งบนหนอน แมลงวัน มวน เพลี้ย ผีเสื้อ ปลวก แมลงปอ แมงมุม มด เป็นต้น