ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

นักท่องเที่ยวไม่มี-รายได้ตก สวนสัตว์แจงปมขอบริจาคซื้ออาหารสัตว์

สิ่งแวดล้อม
31 พ.ค. 64
15:37
1,545
Logo Thai PBS
นักท่องเที่ยวไม่มี-รายได้ตก สวนสัตว์แจงปมขอบริจาคซื้ออาหารสัตว์
ผอ.องค์การสวนสัตว์ ยืนยันสัตว์ป่ายังมีอาหารเพียงพอ ไม่ขาดแคลน รัฐบาลสนับสนุนรายได้เพียงพอ ปี 64 เฉพาะงบค่าอาหาร 112 ล้านบาท เฉลี่ยใน 6 สวนสัตว์มากกว่า 10,000 ตัว แต่ต้องปรับรูปแบบให้คนมีส่วนร่วมใกล้ชิด ระบุนักท่องเที่ยวลดรายได้ค่าธรรมเนียมเหลือ 58%

วันนี้ (31 พ.ค.2564) นายอรรถพล ศรีเหรัญ ผอ.องค์การสวนสัตว์แห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี เปิดขอรับเงินบริจาคค่าอาหารสัตว์ป่า ในโครงการกองทุนเลี้ยงสัตว์องค์การสวนสัตว์ ว่าการเปิดรับบริจาคเงิน ไม่ได้เกิดจากปัญหาการขาดแคลนงบประมาณ แต่เป็นการจัดกิจกรรม เพื่อดึงให้คนมีส่วนร่วมกับสวนสัตว์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ให้ใกล้ชิด และไม่ลืมสวนสัตว์

ผอ.องค์การสวนสัตว์ กล่าวว่า สำหรับงบประมาณ ค่าอาหารสัตว์ของสวนสัตว์ปี 2564 เฉพาะค่าอาหารได้รับการจัดสรร จำนวน 112 ล้านบาท และได้รับมาแล้ว 80 ล้านบาท ซึ่งจะกระจายไปยังสวนสัตว์ทั้ง 6 แห่งที่มีสัตว์ป่าในการดูแล 10,700 ตัว คือ เขาเขียว 2,196 ตัว เชียงใหม่ 2,800 ตัว สวนสัตว์นครราชสีมา 2,080 ตัว

สวนสัตว์ขอนแก่น 1,400 ตัว สวนสัตว์สงขลา 1,100 ตัว และสวนสัตว์อุบลราชธานี 816 ตัว ทั้งนี้แต่ละแห่งงบฯ ค่าอาหารสัตว์ จะต่างกันขึ้นกับชนิดของสัตว์ป่า 

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

รายได้ลด-นักท่องเที่ยวน้อย

นายอรรถพล กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงนี้สวนสัตว์ทั้งของรัฐและเอกชน จะได้รับผลกระทบจาก COVID-19 จากตัวเลขนักท่องเที่ยวที่ลดลงอย่างชัดเจนปี 2562 มีคนเข้ามาท่องเที่ยว 4.2 ล้านคน แต่ปี 2563 เหลือ 3 ล้านคน ส่วนปี 2564 ผ่านไปแล้ว 7 เดือนมีนักท่องเที่ยวนี้ 1.5 ล้านคน ทำให้เงินรายได้หายไป ซึ่งบางส่วนใช้สนับสนุนเป็นค่าอาหารสัตว์และกิจกรรมอื่นๆ

ทั้งนี้งบฯ รายได้ค่าจัดเก็บในสวนสัตว์อื่นๆ ก่อนมีสถานการณ์ COVID-19 ในปี 2562 มีรายได้รวม 512 ล้านบาท จึงมีเหลือเพียงพอที่จะสนับสนุนที่รัฐจ่ายมาส่วนหนึ่งไปใช้ในกิจกรรมอื่นๆ แต่ปี 2563 รายได้เหลือเพียง 327 ล้านบาท หรือคิดเป็น 58 %

งบฯ ค่าอาหารสัตว์จากรัฐ ยังมีเพียงพอ แต่เรามองถึงอนาคต ถ้ามีรายได้จะนำเงินมาช่วยดูแลสัตว์ให้อยู่ดีกินดี ยังไม่จำเป็นต้องใช้ แต่อนาคตอาจไม่แน่ จึงทำกิจกรรมทำกองทุนอาหาร เริ่มต้นที่เขาเขียว พบว่าผลตอบรับดี

อ่านข่าวเพิ่ม "เขาเขียว" คลายเหงา จัดศิลปินอาสาเล่นดนตรีให้สัตว์ฟัง

ปรับรูปแบบการชม-หลักสูตรออนไลน์

นอกจากนี้ยังมีการปรับกิจกรรมอื่นๆเสริม เช่นการไลฟ์ให้ความรู้ผ่านทางช่องทางออนไลน์ และหากผู้ที่ดูอยากบริจาคเงินเลี้ยงอาหารสัตว์ป่า ชนิดไหนก็บริจาคเข้ามา แล้วคนเลี้ยงสัตว์จะเป็นคนนำอาหารไปให้สัตว์ คนทางบ้าน ก็ได้เป็นคนดูแลสัตว์ไปด้วย

อาหารของสัตว์แต่ละชนิดไม่เท่ากัน สัตว์กินเนื้อจะแพงหน่อย เช่น เฉลี่ยเขาเขียว เสือ 1 ตัว อัตราส่วนค่าตัวต่อเดือน 1,800 บาท มี 11 ตัวก็ตกประมาณ 20,000 บาท โดยอาหารของเสือจะมีทั้งไก่ เนื้อติดกระดูก และอาหารเสริมอื่นๆ ส่วนช้างเฉลี่ย 2,500 บาทต่อเดือน

ขณะเดียวกันยังเร่งทำหลักสูตรการเรียนออนไลน์ ระดับประถม ป.4-6 เพื่อให้นักเรียนได้เรียนรู้เรื่องสัตว์จากสวนสัตว์ โดยไม่ต้องมาที่สวนสัตว์ เช่น พฤติกรรมของยีราฟเป็นอย่างไร โดยโรงเรียนเอาไปเปิด

นอกจากนี้ หลังสถานการณ์โรคระบาดดีขึ้น สวนสัตว์ก็ต้องปรับตัว เช่น จากเดิมในเวทีการแสดง อาจจะมีคนเข้าชม  300-400 คนต่อรอบ จะลดลงและปรับพื้นที่กระจายคนไม่รวมกลุ่ม

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

ภาพ:สวนสัตว์เปิดเขาเขียว

 

เช่น เวทีการแสดง แมวน้ำ นกแก้ว เสือ ก็จะลดจำนวนคนลง เหลือ 100 คน และเติมกิจกรรมอื่นๆ เช่น จากสเตทโชว์ เป็นสตรีทโชว์ตามถนนต่างๆ เช่น ให้อาหารนกฟลามิงโก อาบน้ำให้ฮิบโป 

นายอรรถพล กล่าวถึงกรณีสวนเสือศรีราชา ประกาศขายช้างและปิดกิจการว่า ขณะนี้สวนสัตว์เอกชนหลายแห่งน่าเป็นห่วง เพราะรายได้หลักมาจากนักท่องเที่ยว โดยเฉพาะสวนเสือมาจากนักท่องเที่ยวกลุ่มคนจีน และรัสเซีย อินเดียเป็นหลัก แต่สถานการณ์ COVID-19 ไม่มีนักท่องเที่ยว จึงเป็นปัญหา  

 

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

พิษโควิด! "สวนเสือศรีราชา" ประกาศขายช้างยกโขลง 11 เชือก

"สวนเสือศรีราชา" ยืนยันปิดชั่วคราว 14 วันตามมาตรการคุมโควิด

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง