น.ส.ศิริกัญญา ตันสกุล ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายว่า ปีงบประมาณ 2565 จะเริ่มในอีก 3 เดือนต่อจากนี้ ซึ่งปีหน้าจะเป็นอย่างไรอยู่ที่การพิจารณางบฯ ของสภาฯ ในวันนี้ แต่ขณะนี้ประเทศยังอยู่ในรอยต่อโรคระบาด จึงคาดหวังว่ารัฐบาลจะอัดฉีดงบประมาณเพื่อฟื้นฟูเศรษฐกิจและความเป็นอยู่ประชาชน แต่แทนที่งบประมาณปี 2565 จะเพิ่มขึ้น รัฐบาลกลับปรับลดงบฯ ลง 185,000 ล้านบาท โดยอ้างเหตุผลตามกฎหมาย
ถ้ารัฐบาลจะเอาหลังพิงกฎหมาย แล้วผลักภาระให้ประชาชน ปล่อยให้งบฯ เป็นไปตามยถากรรม ส่วนประชาชนรับกรรม ถ้ารัฐบาลไม่กล้าตัดสินใจในช่วงวิกฤต เราก็เอาข้าราชการมาบริหาร ไม่ต้องมีนายกรัฐมนตรีก็ได้ และจะมีรัฐมนตรีไว้ทำไม
ทั้งนี้ เชื่อว่ารัฐบาลเห็นปัญหาเรื่องเงินไม่พอใช้ ไม่เช่นนั้นคงไม่ยอมกลืนน้ำลายตัวเอง ออก พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินอีก 500,000 ล้านบาท ซึ่งแทนที่จะออกเป็น พ.ร.บ.งบกลางปี ที่มีรายละเอียดชัดเจน แต่กลับเลือกหลีกเลี่ยงการตรวจสอบและหลีกเลี่ยงความรับผิดทั้งปวงด้วยการออกเป็น พ.ร.ก. แล้วขอให้สภาฯ กับประชาชนเช็นต์เช็กเปล่าให้รัฐบาลอีกรอบ ทั้งๆ ที่เงินกู้ 1 ล้านล้านบาทในปีที่ผ่านมาก็แสดงให้เห็นถึงความล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง
ดังนั้นการตั้งงบฯ รายจ่ายลดลง ด้วยการงบฯ ต่างๆ แล้วขอกู้เงินแบบเช็กเปล่า จึงควรได้รับการแก้ไขที่ต้นตอของปัญหา และหากจะให้งบฯ ปี 2565 ถูกใช้ฟื้นฟูประเทศ ต้องเริ่มแก้ไขจากโครงสร้างที่บิดเบี้ยวของงบฯ ทั้งกฎหมาย ระเบียบ รวมถึงแผนยุทธศาสตร์ต่างๆ ที่รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เขียนขึ้นมาเองแทบทั้งสิ้น
“ปี 2565 งบฯ ที่ตัดลดลง 185,000 ล้านบาท ซึ่งเงินที่จะลงไปถึงประชาชนน้อยลงกว่านี้ เพราะต้องนำเงินงบฯ ส่วนหนึ่งไปใช้หนี้เก่าที่ไม่ใช่แค่หนี้สาธารณะ แต่ต้องนำไปชดเชยภาระผูกพันต่างๆ ที่สร้างไว้ก่อนหน้านี้ด้วย”
เปรียบเหมือนคนที่กำลังป่วยด้วยไข้ปัจจุบัน แต่ก็รุมเร้าด้วยโรคประจำตัวที่เรื้อรังมานาน
น.ส.ศิริกัญญา กล่าวต่อว่า โรคที่รัฐบาลเป็นอยู่ในปัจจุบัน โรคแรกคือเงินก้อนแรกที่ต้องเอาไปใช้ภาระเก่าเมื่อปี 2563 ที่ตอนนั้นเพิ่มเริ่มเกิดวิกฤต COVID-19 ซึ่งรัฐบาลใช้งบกลางไปหมดแล้ว ต่อมาใช้เงินทุนสำรองจ่ายที่เป็นเงินก้นถุงของรัฐบาลเป็นวงเงินกว่า 50,000 ล้านบาท ซึ่งรัฐบาลใช้ไป 24,000 ล้านบาท แต่ไม่ได้ตั้งงบฯ คืนในปี 2564 จึงต้องตั้งงบฯ มาใช้คืนปีนี้ ซึ่งจะทำให้งบฯ ในภาพรวมที่ลดลงไป 185,000 ล้านบาท ยิ่งลดน้อยลงไปอีก
อีกโรคคือก้อนถัดมา คือเงินที่นำไปชดใช้หนี้สาธารณะ ซึ่งปีนี้ต้องชดใช้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเพิ่มขึ้น 4,000 ล้านบาท มีภาระเงินชดเชยเงินคงคลังเพิ่มขึ้นมา 500 ล้านบาท เนื่องจากปี 2563 หมุนเงินไม่ทัน จึงทำให้มีภาระค่าใช้จ่ายที่มาประจวบเหมาะกันในตอนนี้ เช่น ค่าใช้จ่ายคดีข้อพิพาทระหว่างบริษัทเชฟรอนและรัฐบาลไทย ที่ถูกยื่นฟ้องไปและอยู่ในขั้นตอนของอนุญาโตตุลาการ
เงินก้อนถัดมาขอเรียกว่า “โรคเรื้อรัง” เป็นเงินใช้หนี้ที่รัฐบาลติดค้างหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ธนาคารของรัฐ เช่น ธ.ก.ส., บสย. และออมสิน ยอดหนี้รวม 970,000 ล้านบาท ซึ่งมีเพดานห้ามเกิน 30% ของงบฯ รายจ่าย แต่หากปีหน้าลดงบฯ ลง กรอบก็จะลดลงอีก ซึ่งหากยังเหนียวหนี้ในปีหน้า หนี้จะทะลุกรอบวินัยการเงินการคลังทันที จึงต้องจ่ายหนี้ให้ธนาคารของรัฐ 90,000 ล้านบาท
โรคเรื้อรังอีกหนึ่งโรค คือ รัฐราชการที่ใหญ่โตเทอะทะ ซึ่งในปีนี้งบฯ ที่เป็นสวัสดิการราชการ ไม่ว่าจะเป็นเบี้ยหวัด บำเน็จ บำนาญ เงินสำรอง เงินสมทบ เงินชดเชยของข้าราชการ เพิ่มขึ้นเกือบ 12,000 ล้านบาท เบ็ดเสร็จรวม 1.2 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 40% ของงบฯ หากยังไม่มีการแก้ปัญหาในเรื่องนี้ งบฯ ตรงนี้ก็จะยิ่งพอกพูนขึ้นทุกปี จนไปกินพื้นที่ของงบฯ ในส่วนอื่น
ทุกวันนี้เฉพาะงบฯ สวัสดิการข้าราชการและครอบครัว 5 ล้านคน ก็แซงงบฯ สวัสดิการสำหรับคนทั้งประเทศ รวมแล้วงบฯ ปี 2565 ไม่ได้หายไปแค่ 185,000 ล้านบาท แต่หายไปไม่ต่ำกว่า 300,000 ล้านบาท
เมื่องบฯ เหลือน้อยและต้องเลือกตัดงบฯ รัฐบาลก็ไม่กล้าเผชิญหน้ากับรัฐราชการ ไม่กล้าตัดงบฯ ตรงไปที่กระทรวงหรือกรม เพราะมีเจ้าที่คุมทั้งสิ้น แต่รัฐบาลกลับเลือกตัดงบฯ สวัสดิการประชาชน คือ หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า หรือ บัตรทอง ถูกตัดไป 2,000 ล้านบาท, ประกันสังคม ถูกตัดไป 19,000 ล้านบาท, กองทุนสวัสดิการประชารัฐที่รัฐบาลเคยโฆษณาไว้ว่าจะทำให้คนจนหมดไปจากประเทศไทย ถูกตัดงบฯ ไป 20,000 ล้านบาท, การเคหะแห่งชาติ กองทุนการออมแห่งชาติ ถูกตัดงบฯ ไปครึ่งหนึ่ง
ก้อนถัดมาที่รัฐบาลเลือกตัด คือ เงินสำหรับฟื้นฟูประเทศหลังจากเกิดวิกฤต COVID-19 รัฐบาลเลือกที่จะตัดงบฯ การศึกษา 24,000 ล้านบาท, ตัดงบฯ กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม 5,000 ล้านบาท, ตัดงบฯ กองทุนส่งเสริมเอสเอ็มอี 40%, ตัดงบฯ แผนบูรณาการพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก 50%, ตัดงบแผนบูรณาการพัฒนาอุตสาหกรรมและพัฒนาแห่งอนาคตอีก 20%, ในขณะที่ยังไม่ได้ตั้งงบวัคซีนเข็ม 3-4 งบชดเชยความเสียหายให้กับผู้ประกอบการที่ถูกรัฐสั่งปิดก็ยังไม่มี ทั้งที่ถูกปิดมาแล้ว 3 รอบ แต่ยังไม่เคยได้รับเงินชดเชย
บทเรียนที่ผ่านมาจากเงินกู้ 1 ล้านล้านบาท ที่ตั้งงบฯ ฟื้นฟูเศรษฐกิจไว้ 400,000 ล้านบาท อนุมัติจริงแค่ 130,000 ล้านบาท เบิกจ่ายจริงได้เพียงครึ่งเดียว ขณะที่รอบนี้ตังงบฯ ฟื้นฟูไว้ 170,000 ล้านบาท ซึ่งจะนำไปใช้ฟื้นฟูอะไรยังไม่มีใครรู้ หรือจะใช้จริงแค่ไหนก็ยังไม่มีใครรู้ หากไม่ดึงออกตอนนี้แล้วทำเป็นงบกลางปีที่มีรายละเอียดชัดเจน ถึงอย่างไรก็ไม่สามารถให้ผ่านไปได้ และขอให้ช่วยถอน พ.ร.ก. ออกจากสภาฯ ไปได้เลย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
จับตา! วันแรกอภิปรายงบฯ ปี 65 รัฐบาลหั่นงบฯ เหลือ 3.1 ล้านล้านบาท
"วิโรจน์" แนะรัฐทุ่มงบฯ สู้โควิด ไม่ใช่เวลาใช้เงิน 2 พันล้าน ซื้ออาวุธ
"ชาดา" พ้อนายกฯ ไม่ปลื้ม หั่นงบฯ สธ.ทั้งที่ต้องสู้โควิด