วันนี้ (31 พ.ค.2564) ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติพระนคร ทำพิธีบวงสรวงต้อนรับ ทับหลังปราสาทหนองหงส์ จ.บุรีรัมย์ และทับหลังปราสาทเขาโล้น จ.สระแก้ว กลับคืนสู่มาตุภูมิ โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รมว.วัฒนธรรม เป็นประธานในพิธี หลังจากถูกโจรกรรมออกนอกประเทศไป ตั้งแต่ พ.ศ.2508 หรือกว่า 50 ปี และไปพบจัดแสดงไว้ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะเอเชีย ซอง มูลลี รัฐแคลิฟอเนีย สหรัฐอเมริกา
รมว.วัฒนธรรม เปิดเผยว่า การทวงคืนครั้งนี้เป็นการทวงคืนแบบรัฐต่อรัฐ และได้รับความร่วมมือจากหน่วยงาน Homeland Security Investigation ทำให้คดีคืบหน้าอย่างรวดเร็ว ใช้เวลาประมาณ 5 ปี หลังจากภาคประชาชน ชาวบ้านในพื้นที่และนักวิชาการกลุ่มสำนึก 300 องค์ รวบรวมหลักฐานทวงคืน ส่งผลให้รัฐบาลคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุของไทยในต่างประเทศ เพื่อดำเนินการทวงคืนอย่างเอาจริงเอาจัง
เมื่อเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมสหรัฐอเมริกา แต่พิพิธภัณฑ์ดังกล่าวไม่มีหลักฐานการครอบครองอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้ทับหลัง 2 ชิ้นนี้เป็นกรรมสิทธิ์ของฝ่ายไทย โดยที่ไทยไม่ต้องจ้างทนายในการฟ้องร้องทวงคืน เหมือนการทวงคืนครั้งที่ผ่านมา เพราะไทยมีกฎหมายโบราณสถาน และโบราณวัตถุ ศิลปวัตถุ พ.ศ.2504 และสหรัฐฯ มีกฎหมายปราบปรามการฟอกเงิน ทำให้รัฐบาลไทยจ่ายเพียงค่าขนส่งเท่านั้น
สำหรับการดูแลรักษาทับหลังทั้ง 2 ชิ้น หลังจากนี้กรมศิลปากร จะจัดแสดงนิทรรศการที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร เป็นเวลา 3 เดือน ย้ำว่า ทับหลังเป็นสมบัติชาติและสัมบัติท้องถิ่น ดังนั้นกรมศิลปากรยินดีให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมในการดูแลรักษาร่วมกัน แต่จะต้องหารือถึงความเหมาะสม เพราะสถานที่จัดเก็บต้องปลอดภัย พร้อมจะเปิดรับความคิดเห็นจากประชาชน นักโบราณคดี เพื่อเป็นประโยชน์สูงสุด เนื่องจากทับหลังมีมูลค่าถึงชิ้นละ 30 ล้านบาท
ขณะที่นายทนงศักดิ์ หาญวงษ์ หนึ่งในคณะกรรมการติดตามโบราณวัตถุ และยังเป็นนักวิชาการกลุ่มสำนึก 300 องค์ ผู้อยู่เบื้องหลังของคืนทับหลังตั้งแต่ต้น ระบุว่า การทวงคืนโบราณวัตถุจากสหรัฐฯ ในครั้งนี้ เป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะขณะนี้ยังเหลือโบราณวัตถุที่อยู่ในพิพิธภัณฑ์ต่างๆ ในสหรัฐฯ จำนวนมาก โดยเฉพาะกรุประโคนชัย 300 องค์ มูลค่า 1,000 ล้านบาท ถือเป็นโอกาสทองของไทยที่จะเร่งทวงโบราณวัตถุชิ้นอื่นๆ เพราะกฎหมายของไทยและสหรัฐฯ สอดคล้องกัน
ด้านนายสมชัย กอชัยศิรกุล นายกเทศมนตรีตำบลโนนดินแดง ตัวแทนของภาคประชาชน อ.โนนดินแดง จ.บุรีรัมย์ พื้นที่ตั้งของปราสาท ได้เดินทางมาร่วมพิธีบวงสรวง กล่าวว่า ขณะนี้ภาคประชาชนจะขอหารือกับ รมว.วัฒนธรรม และอธิบดีกรมศิลปากร เพื่อขอดูแลทับหลัง หากไม่สามารถนำทับหลังไปประดิษฐานติดตั้งไว้ที่ตัวปราสาทได้ตามเดิม ท้องถิ่นก็เตรียมที่จะสร้างพิพิธภัณฑ์ไว้สำหรับเก็บรักษาทับหลังหนองหงส์ เพราะหากนำมาเก็บไว้ในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร หรือในพิพิธภัณฑ์ใกล้เคียงกับ จ.บุรีรัมย์ เชื่อว่าชาวบ้านไม่ได้รู้สึกหวงแหนเหมือนกับคนในท้องถิ่นที่อยากจะอนุรักษ์ และเพื่อประโยชน์ในการค้นคว้าเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ต่อไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สหรัฐฯส่งคืน"ทับหลังปราสาทหนองหงส์-เขาโล้น" ถึงไทย 28 พ.ค.
ชาวบ้านเตรียมยื่นขอ "ทับหลัง" คืนปราสาทหนองหงส์