ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ส.ส.ถกแผนจัดการน้ำ ของบฯ แสนล้าน แต่ยังจัดการไม่มีประสิทธิภาพ

การเมือง
2 มิ.ย. 64
13:32
529
Logo Thai PBS
ส.ส.ถกแผนจัดการน้ำ ของบฯ แสนล้าน แต่ยังจัดการไม่มีประสิทธิภาพ
ส.ส.พรรคก้าวไกล อภิปรายไม่เห็นชอบงบฯ การจัดการน้ำปี 65 เพราะที่ผ่านมายังไม่เห็นความสำเร็จ ยังพบการทุจริตคอร์รัปชันหลายโครงการ แนะรัฐบาลกระจายอำนาจให้ท้องถิ่นมีส่วนร่วมจัดการน้ำ

วันนี้ (2 มิ.ย.2564) นายจิรัฏฐ์ ทองสุวรรณ์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ฉะเชิงเทรา พรรคก้าวไกล อภิปรายงบประมาณการจัดการน้ำของรัฐบาล ในการประชุมสภาฯ อภิปรายร่าง พ.ร.บ.งบประมาณ ปี 2565 วันสุดท้ายว่า ไม่เห็นชอบกับงบประมาณการจัดการน้ำของรัฐบาลจำนวน 119,000 ล้านบาท เพราะรัฐบาลยังไม่สามารถบริหารจัดการน้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพ

เมื่อดูผลการจัดการน้ำปี 2563 ของรัฐบาล เฉพาะแผนการบูรณาการ 58,000 ล้านบาท รัฐบาลเบิกไปแล้วมากกว่า 77 % และก่อหนี้สำเร็จแล้ว 92 % ถึงว่าอยู่ในเกณฑ์ดี

 

แต่ผลงานสามารถเพิ่มความมั่นคงทางต้นทุนน้ำได้เพียง 52 % ขณะที่เป้าหมายตั้งไว้ 59 แห่ง แต่ทำได้เพียง 31 แห่ง เช่นเดียวกับแผนเพิ่มจำนวนแหล่งเก็บน้ำในพื้นที่ชลประทาน 80 แห่ง ทำได้เพียง 22 แห่ง หรือ 18 %

ไม่นานมานี้ สทนช.ได้แถลงผลงาน 3 ปี (2562-2564) ระบุว่า สามารถเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำได้ 1,138 ล้าน ลบ.ม. โดยใช้เงิน 3 แสนล้านบาท

เมื่อ 2 ปีที่แล้ว นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคก้าวไกล เคยอภิปรายงบประมาณการจัดการน้ำไว้ว่า ถ้าจัดงบฯ แบบนี้เราต้องรออีก 142 ปี จึงจะแก้ปัญหาน้ำสำเร็จ

 

ซึ่งเมื่อดูแผนการจัดการน้ำในปีนี้ (แผนปี 65) ที่ตั้งไว้ว่าจะเพิ่มปริมาณน้ำอีก 255 ล้าน ลบ.ม. ถ้าเอาไปรวมกับผลงานที่แถลง หาค่าเฉลี่ยออกมาแล้วเอาไป หารกับความต้องการอีก 49,610 ลบ.ม. ผลคือเราต้องรอการแก้ปัญหาน้ำสำเร็จถึง 142 ปี เช่นกัน

นายจิรัฏฐ์กล่าวว่า รัฐบาลเคยวิเคราะห์ผลงานการจัดการน้ำที่ไม่สำเร็จว่า เป็นเพราะ พ.ร.บ.ปีนั้นล่าช้า บวกกับสถานการณ์โควิด-19 ที่ไม่สามารถดำเนินการได้บางส่วน ซึ่งมองว่า พ.ร.บ.ดังกล่าวไม่น่าจะล่าช้า เพราะรัฐบาลสามารถก่อหนี้สำเร็จแล้ว 92 %

ดูเหมือนรัฐบาลจะไม่ได้ถอดบทเรียนเลย การประเมินผลก็ไม่มีระบบ ไม่ใช้ตัวชี้วัดที่น่าเชื่อถือ และไม่ได้วิเคราะห์ปัจจัยภายใน ปัญหาก็เกิดซ้ำทุกปี

ปีนี้งบประมาณเกี่ยวกับการจัดการน้ำรวมทั้งสิ้น 119,828 ล้านบาท (ไม่นับรวมงบกลาง) พบว่า กรมชลประทานขอเพิ่ม 4 % จำนวน 3,161 ล้านบาท ,กรมทรัพยากรน้ำบาดาล ขอเพิ่ม 847 ล้านบาท 42 % กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เพิ่มงบฯ 10 ล้านบาท

การเพิ่มงบฯ นี้แปลว่า เราเป็นประเทศเดียวในโลกที่ยังคงจริงจังและทุ่มเทกับการทำฝนเทียม ถึงแม้ตัวชี้วัดจะไม่ค่อยมีคุณภาพ และความคุ้มค่าก็ได้ผลไม่ชัดเจน

 

แผนแม่บทน้ำรัฐบาลตั้งเป้าว่า ให้ทุกคนเข้าถึงน้ำประปา แต่งบฯ การประปาส่วนภูมิภาค ถูกปรับลดลง 23 % 913 ล้านบาท ปีที่แล้วรัฐบาลเยียวยาด้วยงบกลางไปหลายพันล้าน แต่ความย้อนแย้งคือ จัดงบฯ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยลดลง 2,219 ล้านบาท ดูเหมือนรัฐบาลไม่ได้ชอบการป้องกันภัย เน้นแต่เยียวยา

นายจิรัฏฐ์ กล่าวว่า อยากถอดบทเรียนให้ดูว่า ปัญหาการจัดการน้ำไม่ประสบความสำเร็จ ส่วนหนึ่งเป็นเพราะปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ตัวอย่างการทุจริต ปปช.เคยรายงานในสภาฯ ปีที่แล้วว่า

 

พบทุจริตโครงการจัดการน้ำ 28 โครงการ จากทั้งหมด 57 โครงการ ขณะที่งบกลางปี 2563 วงเงิน 11,892 ล้านบาท ที่ใช้แก้ปัญหาภัยแล้ง โดยขุดลอกคลอง 18,927 โครงการ

พบมีโครงการขุดลอกคลองมูลค่าตั้งแต่ 475,000-500,000 บาท รวม 7,057 โครงการ ซึ่งโครงการที่ไม่เกิน 500,000 บาท ไม่ต้องประมูล และพบโครงการขุดลอกคลองของอำเภอหนึ่ง ใน จ.ขอนแก่น มีโครงการที่ราคากลางเท่ากัน 476,200 บาท ในโครงการขุดลอกคลอง 19 แห่ง

 

ส่วนอีกปัจจัยของปัญหาการจัดการน้ำก็คือ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ หรือ สทนช. ซึ่งถือเป็นอุปสรรคในการจัดการน้ำ เพราะทำงานเชื่องช้า มีการแบ่งชั้นการบังคับบัญชามากเกินไป การตัดสินใจต้องขึ้นอยู่กับคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) เท่านั้น

จึงขอเสนอให้รัฐบาลเปลี่ยนแนวคิดในการจัดการน้ำ การรวบอำนาจไม่ใช่การบูรณาการ และการรวบอำนาจเป็นต้นต่อการทุจริต ควรให้อิสระกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในการร่วมจัดการด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง