วันนี้ (2 มิ.ย.2564) พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา รมว.มหาดไทย ชี้แจงในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ในวาระที่ 1 กรณีการจัดซื้อวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ภายใต้กำกับของกระทรวงมหาดไทย
รมว.มหาดไทย ระบุว่า นับตั้งแต่มีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 รัฐบาลได้ดำเนินการโดยตั้งศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. โดยใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน
ไม่ใช่เป็นการบูรณาการ หรือเอาอำนาจมาให้เป็นเอกภาพเท่านั้น แต่ยังมีแง่มุมทางกฎหมายอีกมาก หากไม่ใช้กฎหมายตัวนี้ ก็จะเกิดปัญหาในประเทศอย่างแน่นอน ในการสกัดกั้นสถานการณ์โรคระบาด อย่างไรก็ตามยืนยันว่าจะต้องมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน
การประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ตามกฎหมายต้องตั้งข้าราชการประจำเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่รัฐมนตรีทุกคนต้องรับผิดชอบ เพราะอยู่ใน ศบค.ชุดใหญ่
ซึ่งในส่วนของกระทรวงมหาดไทย เมื่อได้ข้อยุติจาก ศบค.แล้ว จะต้องแจ้งผู้ว่าราชการจังหวัด ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และต้องติดตามตรวจสอบ ดังนั้นจึงไม่มีปัญหาในการบริหาร ส่วนบางประเด็นที่มี ส.ส.ในสภาฯ เสนอแนะมา ก็จะรับไปพิจารณาเช่นกัน
รมว.มหาดไทย กล่าวอีกว่า ในช่วงการระบาดของ COVID-19 ระยะแรก อปท.มีส่วนเข้าไปดำเนินการในเรื่องหน้ากากอนามัย สถานที่กักตัว ต่อมาก็มีส่วนในการสนับสนุนเรื่องโรงพยาบาลสนาม รวมถึงเรื่องวัคซีนด้วย
ตามกฎหมายของ อปท.ทุกรูปแบบ สามารถจัดหาวัคซีนได้ โดยมีคำแนะนำและเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน ซึ่งได้แจ้งไปยังกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น แต่ไม่ได้แจ้งกระทรวงมหาดไทย โดยให้ประชาสัมพันธ์ให้เอกชนและ อปท.ทุกรูปแบบ ได้ทราบว่าการจัดหาวัคซีนในระยะแรกขอให้ภาครัฐเป็นผู้ดำเนินการ
มีหลายคนไม่เข้าใจ ถามว่ารัฐบาลจะดำเนินการอย่างไร ขอตอบแทนฝ่ายสาธารณสุขว่า ได้เตรียมการจองหรือซื้อวัคซีนมาเป็นระยะเวลานานแล้ว การพิจารณาว่าจะใช้ยี่ห้อใดนั้นมีรายละเอียดมากมายว่า ทำไมถึงจอง "แอสตราเซเนกา" ขอยืนยันว่ามีการจองมานานแล้ว
จากนั้นมีการสั่งให้จังหวัดต่าง ๆ เตรียมการฉีดวัคซีน ซึ่งขณะนี้รอเพียงการกระจายวัคซีน ขณะที่ อปท.อยากเข้ามาช่วย เหมือนก่อนหน้านี้ที่ช่วยสกัดกั้น ป้องกันและรักษาผู้ติดเชื้อ
จึงอยากแจ้งให้ทราบว่าหาก อปท.เข้ามาก็มีประเด็นที่จะต้องพิจารณา เช่น เรื่องงบประมาณของท้องถิ่นแต่ละแห่ง วิธีการจัดซื้อ ราคา ยี่ห้อ ซึ่งมีปัญหามากมาย
แต่อยากให้มองเห็นปัญหาหนึ่งคือ หากถามว่าหลักการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ต้องทำอย่างไร ซึ่งสาธารณสุขระบุไว้ว่า ต้องทำให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ประมาณ 70 % ของประชากร นี่จึงเป็นปัญหา
หากพูดให้เห็นภาพ 70% ของประเทศไทย หรือ 70% ของทุกจังหวัด ทุกอำเภอ ทุกตำบล หากให้ท้องถิ่นใดซื้อ ก็จะทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำ
ดังนั้น แม้ว่าโดยกฎหมาย อปท.จะทำได้ แต่ก็มีระเบียบในการดำเนินการ โดยให้หารือกับหน่วยงานที่รับผิดชอบคือ ศบค. ซึ่งขณะนี้นายกรัฐมนตรีได้ให้ ศบค.เตรียมแจ้งไปยัง อปท.ว่าสามารถจัดซื้อได้ แต่ต้องอยู่ในแผนของ ศบค.
สรุปท้องถิ่นซื้อได้ เป็นไปตามกฎหมาย แต่จะต้องอยู่ในแผน ศบค. ซึ่งผู้ที่ทราบดีคือคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
กลาโหมยืนยัน 4 ปี เหตุรุนแรงลดลง จัดงบฯ ชายแดนใต้ไม่ซ้ำซ้อน
"สุรเชษฐ์" ชี้จัดงบฯ แบบไทยไร้ทิศทาง สร้างแต่ถนนแต่ไม่สร้างเมือง
ส.ส.ถกแผนจัดการน้ำ ของบฯ แสนล้าน แต่ยังจัดการไม่มีประสิทธิภาพ