ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

ชาวบ้านระยองฟ้องเรียก 47 ล้าน ก่อมลพิษทำพื้นที่เกษตรเสียหาย

สิ่งแวดล้อม
7 มิ.ย. 64
12:15
3,875
Logo Thai PBS
ชาวบ้านระยองฟ้องเรียก 47 ล้าน ก่อมลพิษทำพื้นที่เกษตรเสียหาย
ชาวบ้านระยอง ฟ้องศาลแพ่ง เรียกค่าเสียหาย 47 ล้านบาท ปล่อยน้ำเสียก่อนมลพิษทำให้พื้นที่การเกษตรได้รับความเสียหาย ทั้งยางพารากว่า 1,400 ต้น ยังนับทุกเรียน มังคุด หมาก ด้วย จี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งแก้ปัญหา

วันนี้ (7 มิ.ย.2564) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านหนองพะวา 15 คน พร้อมทนายความด้านสิ่งแวดล้อมและมูลนิธิบูรณะนิเวศ ได้เดินทางไปศาลจังหวัดระยอง เป็นโจทก์ ยื่นฟ้อง บริษัท วินโพรเลส จำกัด กับพวก ให้เยียวยาความ ที่ปนเปื้อนมลพิษรั่วไหลออกจากโรงงาน เสียหาย และฟื้นฟูสภาพแวดล้อมให้กลับคืนสู่สภาพเดิม ที่ศาลจังหวัดระยอง

โดยจำเลยที่ 1 กับพวกรวม 3 คน คือกรรมการผู้มีอำนาจลงนามและเป็นผู้ถือหุ้นของบริษัทเป็นจำเลยที่ 2 และผู้ที่เคยเป็นกรรมการของบริษัทในระหว่างที่เกิดการกระทำละเมิด พ.ร.บ.ส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 เป็นจำเลยที่ 3

ฟ้องโรงงานเรียกค่าเสียหาย 47 ล้านบาท

จุดประสงค์ของการยื่นฟ้องคดีครั้งนี้ โจทก์ทั้ง 15 คน มีความประสงค์ที่จะขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้ง 3 ร่วมกัน หรือแทนกัน ฟื้นฟูสภาพแหล่งน้ำในพื้นที่โรงงานที่เป็นสถานประกอบกิจการของจำเลยที่ 1 มิให้มีการรั่วไหลปนเปื้อนของสารเคมีหรือวัตถุอันตรายต่อสิ่งแวดล้อม และเข้าฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมในบริเวณที่ดินของโจทก์ทั้ง 15 คน

รวมถึงเส้นทางน้ำสาธารณะและหนองพะวา ที่เป็นแหล่งน้ำสาธารณะ ตลอดจนทางน้ำที่เชื่อมต่อไปสู่ที่ดินแปลงอื่นๆ ให้มีสภาพเดิม ไม่มีกลิ่นเหม็น และให้มีคุณภาพน้ำและดิน ตามมาตรฐานของกรมควบคุมมลพิษ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้การเรียกค่าเยียวยาความเสียหายของโจทก์แต่ละคนแตกต่างกันตามความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยมีค่าเสียหายรวมทั้งหมด 47 ล้านบาท

โจทก์คนแรกสูญยางพารากว่า 1,400 ต้น

สำหรับโจทก์ที่ 1 คือ นายเทียบ สมานมิตร ซึ่งประกอบ 2 อาชีพเกษตรกร ประเภทสวนยาง มีที่ดินตั้งอยู่ด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ ของที่ตั้งโรงงาน ของจำเลยที่ 1 ได้รับความเสียหายจากน้ำเสีย ที่มีสภาพความเป็นกรดสูง ที่รั่วไหลออกจากโรงงานของจำเลยที่ 1 ซึ่งเป็นผู้เสียหายหนักมากที่สุด

กล่าวคือนายเทียบ สมานมิตร สูญเสียต้นยางที่ยืนต้นตายไป 1,450 ต้น บนพื้นที่กว่า 20 ไร่ สระน้ำที่ใช้เพื่อการเกษตรเสียหาย เพราะปนเปื้อนสารมลพิษ

นอกจากนี้กลิ่นเหม็นของสารเคมีที่เกิดขึ้นทุกวัน ยังส่งผลให้เกิดปัญหาสุขภาพ จนต้องละทิ้งบ้านที่อาศัยอยู่เดิม ไปอยู่แห่งใหม่ รวมถึงที่ดินกว่า 20 ไร่ ที่ไม่สามารถใช้ประโยชน์อะไรอีกต่อไป และได้คิดค่าเสื่อมสภาพ ในการฟ้องคดีครั้งนี้ รวมค่าเสียหายเฉพาะของนายเทียบที่เกิดขึ้นทั้งหมดประมาณ 8,500,000 บาท

ผลกระทบจากโรงงานนี้ มีมาตั้งแต่ที่โรงงานเริ่มเข้ามาตั้งในปี 2553 ซึ่งตอนนั้น เราได้กลิ่นเหม็น ที่มาจากฝั่งโรงงานทุกวัน ต่อมาในปี 2556 เริ่มพบว่า น้ำเริ่มเสียและมีน้ำเสียรั่วไหลออกมาจากโรงงานตลอด พอประมาณปี 2560 ต้นยางที่อยู่ใกล้บ่อน้ำรับน้ำเสียของโรงงานเริ่มตาย หลังจากนั้นต้นยางที่ตายก็ขยายวงกว้างออกไปเรื่อยๆ

พอมาปี 2563 ต้นยางก็ตายไปเยอะมาก ทั้งหมดนี้เกิดจากน้ำเสียของโรงงานที่ไหลลงมาแถบหมู่บ้าน ทำให้สระน้ำมีสีและกลิ่นเปลี่ยนไปมาก ทั้งทุ่งนาและแหล่งน้ำใช้อะไรไม่ได้เลย นานมาจนถึงทุกวันนี้พวกเราก็ยังเดือดร้อน

ทุเรียน-มังคุด-หมาก ก็ยืนตันตายเพราะมลพิษ

นอกจากนายเทียบแล้ว ผู้ยื่นฟ้องอีก 14 รายต่างก็สูญเสียที่ดินและรายได้ทางการเกษตรคล้ายๆ กัน ไม่เฉพาะต้นยางพาราที่ยืนต้นตายเท่านั้น ยังมีต้นทุเรียน ต้นมังคุด ต้นหมาก ทรัพยากรทางการเกษตร และการทำประมงเลี้ยงปลาที่เสียหาย เพราะกิจการอันตรายของทางบริษัท

ตั้งโรงงานโดยไม่มีใบอนุญาต

บริษัท วินโพรเสส จำกัด ยื่นใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงานคัดแยกและฝังกลบของเสีย (โรงงานลำดับ 105) จากกรมโรงงานอุตสาหกรรม เมื่อเดือนตุลาคม 2554 เมื่อชาวบ้านทราบข่าว จึงออกมาคัดค้าน

และในการประชุมรับฟังความเห็นของประชาชน มีสมาชิกชุมชนที่ไม่เห็นด้วยกับการตั้งโรงงานคัดแยกของเสียจำนวน 213 คน จากทั้งหมด 218 คน ทำให้บริษัทยังไม่ได้รับอนุญาตประกอบกิจการดังกล่าว

ต่อมาประชาชนในพื้นที่พบว่า โรงงานมีการลักลอบประกอบกิจการ เริ่มมีปัญหากลิ่นเหม็น เสียงดัง และปัญหาน้ำเสียไหลจากโรงงาน จึงมีการร้องเรียนหลายครั้งเพื่อขอให้หน่วยงานในพื้นที่ตรวจสอบข้อเท็จจริง เรื่องการลอบฝังกลบขยะ ในพื้นที่โรงงานด้วย

ในปี 2556 ผู้ว่าราชการจังหวัดเคยมีคำสั่งให้บริษัทหยุดลักลอบฝังกลบ และให้ขนย้ายของเสีย ทั้งประเภทอันตรายและไม่อันตรายออกจากพื้นที่ และทำหนังสือแจ้งอธิบดีกรมโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นหน่วยงานกำกับดูแลโดยตรงให้ทราบ แต่ทางบริษัทก็ไม่ดำเนินการ ขนย้ายของเสียออกจากพื้นที่โรงงานตามคำสั่ง

ขณะเดียวกันกรมโรงงานอุตสาหกรรม ก็ไม่ตรวจสอบกระทำผิดและไม่ดำเนินการตามกฎหมาย ที่ทางบริษัทฝ่าฝืนพระราชบัญญัติโรงงาน ที่มีการประกอบกิจการโดยไม่มี ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน

ทั้งการเก็บ คัดแยก หลอมหล่อเศษพลาสติก เศษเหล็ก ผงเหล็ก การหล่อหลอมเศษโลหะต่างๆ การรีไซเคิลกากสี น้ำมันเครื่องใช้แล้ว การคืนสภาพกรดด่าง การทำเชื้อเพลิงผสม การล้างภาชนะบรรจุภัณฑ์ด้วยตัวทำละลาย

บริษัทได้ขนส่งและเคลื่อนกากอุตสาหกรรมอันตรายจำนวนมาก โดยไม่มีใบอนุญาตขนส่งและครอบครองเป็นเวลานานนับสิบปี ที่ประชาชนในพื้นที่หนองพะวา ต้องอดทนกับปัญหามลพิษจนได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

ผลการร้องเรียนของประชาชน ทำให้มีการแต่งตั้งคณะทำงานไตรภาคีเพื่อการแก้ไขปัญหาผลกระทบจากการประกอบการของ บริษัท วิน โพรเสส จำกัด ขึ้น และเริ่มมีประชุมครั้งแรก เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2563 โดยมีปลัดอำเภอบ้านค่าย เป็นประธาน

และมีหน่วยงานต่างๆ เช่น สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดระยอง กรมโรงงานอุตสาหกรรม ศูนย์ควบคุมมลพิษจังหวัดระยอง สำนักงานสาธารณสุขอำเภอบ้านค่าย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลบางบุตร

สำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัดระยอง สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 13 (ชลบุรี) และประชาชนในพื้นที่ที่ได้รับความเดือดร้อนจากบริษัท ร่วมอยู่ในคณะทำงาน ทำให้มีการตรวจสอบและพบหลักฐานการกระทำผิดที่ชัดเจนของทางบริษัท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ทางบริษัทต้องขอยกเลิกใบอนุญาตประกอบกิจการทุกโรงงานเมื่อเดือนสิงหาคม 2563

อย่างไรก็ดีผลกระทบที่เกิดขึ้นเป็นบริเวณกว้างขวาง โดยเฉพาะการปนเปื้อนสารมลพิษในพื้นที่เกษตรและสิ่งแวดล้อม รวมถึงความเสียหายของประชาชนยังไม่ได้รับการเยียวยา โจทก์ทั้ง 15 คนจึงตัดสินใจที่จะฟ้องคดี เพื่อให้มีการเยียวยาความเสียหายและมีการฟื้นฟูสภาพแวดล้อมที่เกิดขึ้น รวมถึงเพื่อเป็นตัวอย่างในการต่อสู้เพื่อสิ่งแวดล้อมของชุมชนอื่นๆ ต่อไป

สนิท มณีศรี หนึ่งในผู้ยื่นฟ้อง กล่าวว่า ในการฟ้องคดีนี้ สิ่งที่พวกเราหวังกันมากที่สุดคือขอให้มีการเริ่มฟื้นฟู ซึ่งเรารู้ว่าการฟื้นฟูมันไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะพื้นที่มันเสียหายกว้างขวางและรุนแรงมาก แต่ชาวบ้านเห็นว่านี้คือสิ่งที่ต้องทำ เพราะความเสียหายที่เกิดขึ้น หากไม่มีการแก้ไขหยุดยั้ง ผลกระทบมันจะไปถึงรุ่นลูกรุ่นหลาน

เราอยากให้ทุกคนตระหนักว่าปัญหานี้แค่ปิดโรงงานมันก็ยังไม่จบ เพราะพื้นที่มันได้รับผลกระทบมาก เราอยากให้มีการใช้กฎหมายบังคับให้ผู้ก่อมลพิษมารับผิดชอบฟื้นฟู นี่คือสิ่งที่พวกเราคาดหวังและต้องการ

สนับสนุนประชาชนฟ้องคดี

หลักฐานต่างๆ ที่รวบรวมได้ปรากฏชัดว่าบริษัท วินโพรเสส มีความผิดฐานละเมิดกฎหมายตามพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อม พ.ศ.2535 และพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ.2550

ชำนัญ ศิริรักษ์ ทนายประจำฝ่ายโจทก์ ซึ่งเคยลงพื้นที่ไปตรวจสอบเมื่อปี2561 เปิดเผยว่า ทันทีที่ลงไปเหยียบในพื้นที่ จะได้กลิ่นเหม็นเปรี้ยวรุนแรงขึ้นมาทันทีคล้ายกลิ่นแบตเตอรี่ และเมื่อดูสภาพของพืชที่ตาย ก็จะสังเกตได้ว่า น้ำและดินในบริเวณนั้นมีฤทธิ์เป็นกรดสูง จึงเชื่อว่ามีการปนเปื้อนของสารเคมีลงไปในดินและน้ำในปริมาณมาก

หากมองในทางกฎหมายแล้ว โรงงานแห่งนี้มีความผิดตั้งแต่เริ่มแรกแล้ว โดยประเด็นสำคัญที่เห็นได้ชัดที่สุด คือ ไม่มีใบอนุญาตทั้งการรีไซเคิล ไม่มีใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย แม้แต่ใบอนุญาตประกอบกิจการที่เป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมจากท้องถิ่นก็ไม่มี

จึงแปลกใจว่า ทำไมถึงยังไม่ถูกลงโทษอย่างเด็ดขาด จากหน่วยงานต่างๆที่มีหน้าที่กำกับดูแล

 

เมื่อเป็นเช่นนี้ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ สามารถใช้ช่องทางทางกฎหมายฟ้องทางแพ่งกับทางโรงงานได้เพราะการที่โรงงานถูกสั่งห้ามประกอบกิจการ หรือติดต่อเพื่อขอเยียวยาประชาชน หมายถึงยอมรับเป็นผู้ก่อให้เกิดมลพิษ

การดำเนินคดีด้านสิ่งแวดล้อมมีอุปสรรคเป็นอย่างมาก และไม่สนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการใช้สิทธิ์ของประชาชนอย่างเท่าที่ควร คือการที่ประชาชนผู้ฟ้องคดีจะต้องขวนขวายหาค่าใช้จ่ายต่างๆ มาใช้ในการดำเนินคดีในศาล

ส่งผลให้คดีนี้มีประชาชนมายื่นฟ้องในจำนวนที่ไม่มากพอ ทั้งที่มีจำนวนผู้เสียหาย มากกว่าที่ฟ้องคดีในวันนี้ จึงอยากฝากถึงผู้ที่มีอำนาจในการกำหนดทิศทางการพิจารณาคดีด้านสิ่งแวดล้อม

อยากขอให้มีการส่งเสริมให้ประชาชนใช้สิทธิ์ ในทางคดีด้านสิ่งแวดล้อม โดยการยกเว้นค่าธรรมเนียมศาล ค่าใช้จ่ายต่างๆ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิ์ด้านนี้มากขึ้นและจะได้เป็นการป้องปรามผู้ประกอบการ หรือผู้คิดที่จะทำลายสิ่งแวดล้อมให้ระมัดระวังมากยิ่งขึ้น หากประชาชนสามารถฟ้องคดีและเข้าถึงสิทธิ์นี้ได้อย่างทั่วถึงก็จะเป็นประโยชน์เป็นอย่างมาก

ด้านมูลนิธิบูรณะนิเวศ ซึ่งได้ติดตามปัญหานี้มาตั้งแต่ต้น และเข้ามาสนับสนุนชุมชนหนองพะวาในการพิสูจน์ปัญหาการปนเปื้อนมลพิษในสิ่งแวดล้อมเมื่อปี 2561 ได้สนับสนุนการฟ้องคดีของโจทก์ทั้ง 15 คน

เนื่องจากพบว่า กรณีนี้มีข้อน่าสงสัยถึงการกระทำผิดของฝ่ายบริษัท โดยการละเลยในการปฏิบัติหน้าที่หน่วยงานที่กำกับดูแลคือ กรมโรงงานอุตสาหกรรมและอุตสาหกรรมจังหวัดมาตั้งแต่ปี 2554

น.ส.เพ็ญโฉม แซ่ตั้ง กล่าวว่า เรื่องนี้มีคำถามหลายประเด็นที่หน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะกรมโรงงานอุตสาหกรรม ควรรับผิดชอบ และมีการตรวจสอบเพื่อหาผู้กระทำผิดร่วมต่อไป เช่น

1.บริษัทนี้เพิ่งได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงงาน 2 ใบ คือ กิจการเกี่ยวกับการอัดเศษกระดาษ และหล่อหลอมโลหะเมื่อปี2560 แต่ชุมชนในพื้นที่พบว่า โรงงานเปิดดำเนินกิจการมาตั้งแต่ปลายปี 2554 โดยที่ประชาชนก็คัดค้าน จนทำให้เกิดมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและความเสียหายต่อพื้นที่เกษตรของชาวบ้าน ตั้งแต่ปลายปี2554 เป็นต้นมา

2.มีเจ้าหน้าที่ของอุตสาหกรรมจังหวัดและกรมโรงงานอุตสาหกรรม รวมถึงเจ้าหน้าที่อื่นๆ เข้าไป ตรวจสอบหลายครั้งตั้งแต่ปี 2556 และพบว่า โรงงานครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมาก โดยเฉพาะน้ำมันหล่อลื่นที่ใช้แล้ว แต่ทางโรงงานก็ไม่สามารถแสดงใบอนุญาตครอบครองวัตถุอันตราย ทั้งที่เจ้าหน้าที่ถามหาหลายครั้ง

นอกจากนี้ยังไม่มีใบอนุญาตประกอบกิจการนำสารเคมีพิษมาบำบัด เหตุใดเจ้าหน้าที่จึงเพิ่งไปแจ้งความเอาผิดกับทางบริษัทเดือนมิถุนายน 2563 คำสั่งหรือโทษหนักสุดที่อุตสาหกรรมจังหวัดเคย สั่งการออกมาคือ ให้บริษัทหยุดประกอบกิจการชั่วคราวโดยไม่มีการลงโทษทางกฎหมาย ทั้งที่พบว่าบริษัท กระทำผิดหลายข้อและผลกระทบที่เกิดขึ้นก็รุนแรงชัดเจนมาก

3.โรงงานครอบครองวัตถุอันตรายจำนวนมาก แต่ไม่มีเครื่องจักรสำหรับการรีไซเคิลของเสีย และเมื่อเจ้าหน้าที่อุตสาหกรรมจังหวัดและเจ้าหน้าที่ส่วนท้องถิ่นอื่นๆ พบเห็นแล้วทำไมจึงไม่ดำเนินการเอาผิดกับทางบริษัท

เช่น ควรสั่งการให้ขนส่งไปกำจัดให้ถูกต้อง และห้ามนำของเสียอันตรายเข้ามาในพื้นที่โรงงานอีก แต่มีเพียงคำสั่งให้ปรับปรุงการดำเนินการโดยที่ไม่พบว่าไม่เครื่องจักรให้ปรับปรุงแต่อย่างใด

4.การตรวจพบว่าในพื้นที่โรงงาน มีการเก็บกากอุตสาหกรรมที่เป็นของเสียอันตรายจำนวนมาก เช่น กากตะกอนน้ำมัน กากสี น้ำใช้แล้ว กากสารเคมี และอื่นๆ สิ่งเหล่านี้เป็นหลักฐานที่ชัดเจนว่า อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องและส่งกากให้แก่บริษัทนี้คือกลุ่มอุตสาหกรรมอันตราย ซึ่งตามกฎหมายแล้วจะต้องแจ้งหรือแสดงปริมาณกาก การขนออกนอกพื้นที่โรงงาน สถานบำบัดกำจัดและวิธีการบำบัดกำจัด

รวมถึงชื่อบริษัทขนส่งและบริษัทที่รับบำบัดอย่างละเอียด พฤติการณ์ของบริษัท วินโพรเสส สะท้อนถึงการกระทำผิดร่วมของโรงงานอุตสาหกรรมเหล่านั้น ที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม จำเป็นต้องสืบสาวเรื่องอย่างต่อเนื่องว่า

มีโรงงานใด บริษัทใด ในจังหวัดระยองหรือจังหวัดอื่น ที่มีส่วนในการกระทำผิดกฎหมาย ว่าด้วยการกำจัดและบำบัดของเสียอุตสาหกรรมอันตราย ที่มีการกักเก็บอยู่ในโรงงานของบริษัทแห่งนี้ด้วย แต่ทำไมจึงไม่มีการสืบสาวและสอบสวนในเรื่องนี้

กรณีการกระทำผิดของบริษัท วินโพรเสส จำกัด ไม่ใช่ความผิดเชิงประจักษ์ของบริษัทแห่งนี้เท่านั้น แต่ยังหมายถึงการกระทำผิดร่วมที่มองไม่เห็นของอีกหลายบริษัท รวมถึงการละเลยต่อการปฏิบัติหน้าที่ของหน่วยงานกำกับดูแลภายใต้กระทรวงอุตสาหกรรมด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง