ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

กังขา! บอร์ดสวล.ผ่าน EHIA อ่างเก็บน้ำกลางป่า "เขาสิบห้าชั้น"

สิ่งแวดล้อม
22 มิ.ย. 64
11:37
12,146
Logo Thai PBS
กังขา! บอร์ดสวล.ผ่าน EHIA อ่างเก็บน้ำกลางป่า "เขาสิบห้าชั้น"
มูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุบอร์ดสิ่งแวดล้อมอนุมัติ "อ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด" จ.จันทบุรี ห่วงผลกระทบสิ่งแวดล้อม ประเมินเสียพื้นที่ป่า 7,000 ไร่ ในอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น รองรับประชากรช้างป่าภาคตะวันออก ด้านปลัดทส.ระบุมองครบทุกมิติ ไม่ลักไก่

วันที่ 21 มิ.ย.2564 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ที่มีพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธานฯ ได้พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี

อ่านข้อมูลเพิ่ม ย้อนอ่านข้อคิดเห็น เหตุใด “โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด” จึงกระทบต่อถิ่นอาศัยของสัตว์ป่า

ซึ่งพื้นที่อ่างบางส่วนตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น จ.จันทบุรี แทรกอยู่ในวาระอื่นๆ ทำให้การพิจารณาเห็นชอบดำเนินการผ่านไปอย่างรวดเร็ว

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นอ่างเก็บน้ำ 1 ใน 4 แห่ง ตามโครงการในลำน้ำย่อยของลุ่มน้ำโตนด ซึ่งโครงการดังกล่าว ถูกระบุว่า มีไว้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ โครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)

ประเมินเสียพื้นที่ป่า 7,000 ไร่แหล่งอาศัยของช้างป่า

ข้อมูลจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร ระบุว่า อ่างเก็บน้ำบางส่วนได้ซ้อนทับกับพื้นที่อุทยานแห่งชาติเขาสิบห้าชั้น หากมีการก่อสร้างจะทำให้มีน้ำเข้าท่วมพื้นที่ป่ากว่า 7,000 ไร่

บริเวณที่จะถูกน้ำท่วมเป็นพื้นที่หัวใจสำคัญ ในการแก้ไขปัญหาช้างป่าออกนอกพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาอ่างฤาไน จ.ฉะเชิงเทรา และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาสอยดาว จ.จันทบุรี 

พื้นที่ป่าบริเวณดังกล่าว เป็นแหล่งอาศัยหลักของช้างป่า และเป็นพื้นที่แห่งโอกาส ในการฟื้นฟูเพื่อรองรับประชากรช้างป่า

จากผลการศึกษาของสำนักอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช พบว่า พื้นที่อนุรักษ์ในกลุ่มป่าตะวันออก มีความหลากหลายทางชีวภาพของสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดใหญ่

ในการประชุมบอร์ดสิ่งแวดล้อม เมื่อปีที่ผ่านมา มูลนิธิสืบนาคะเสถียร เคยแสดงความเห็นคัดค้านเรื่องนี้มาแล้ว

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

นายภาณุเดช เกิดมะลิ เลขาธิการมูลนิธิสืบนาคะเสถียร กล่าวว่า การที่เนื้อหาของโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ถูกแทรกเข้ามาอยู่ในวาระอื่นๆ ถือเป็นเรื่องที่ไม่สมควร

เนื่องจากเป็นประเด็นที่หลายฝ่ายให้ความสนใจ ทั้งด้านผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ ป่าไม้ สัตว์ป่า ความเหมาะสมในการใช้ประโยชน์ ตลอดจนความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจ

เคยมีการทักท้วงถึงประเด็นต่างๆ เพื่อให้กลับไปทบทวนเนื้อหารายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมแล้ว แต่ในรายงานฉบับใหม่กลับไม่ได้แก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรายละเอียดอย่างมีนัยยะสำคัญ

นายภานุเดชกล่าวว่า การพิจารณาอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาอย่างรอบคอบ เหมาะสมตามกระบวนการ เมื่อการพิจารณามาอยู่ในวาระอื่นๆ แสดงให้เห็นถึงการไม่ให้ความสำคัญ และมีเจตนาแอบแฝงบางอย่างที่ต้องช่วยกันติดตามเรื่องนี้อย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้ ตามขั้นตอนของการทำโครงการ เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เห็นชอบอีเอชไอเอแล้ว ขั้นตอนต่อไปจะเป็นดำเนินการ เพื่อขอเพิกถอนพื้นที่อุทยานแห่งชาติ ในส่วนพื้นที่โครงการ

อ่านข่าวเพิ่ม "มูลนิธิสืบ" กังวลอ่างคลองวังโตนด เสียป่า 1.4 หมื่นไร่-สัตว์ป่า

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ปลัดทส.ระบุมองทุกมิติ-ยันไม่ลักไก่

ไทยพีบีเอสออนไลน์ สัมภาษณ์นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดทส.ว่า ก่อนหน้านี้ที่ประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อม เคยพิจารณา EHIA โครงการเขื่อนคลองวังโตนดมาแล้ว แต่ได้ให้กรมชลประทาน กลับไปดูรายละเอียดและเสนอมาตรการแก้ปัญหาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม สัตว์ป่าให้ครบถ้วนมากขึ้น จนมีการเสนอกลับเข้าพิจารณาอีกครั้งเมื่อวานนี้ (21 มิ.ย.) และที่ประชุมได้พิจารณารายละเอียดและมาตรการที่เสนอมาอย่างรอบคอบและกว้างขวาง ไม่ใช่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว 

ยืนยันไม่ใช่การลักไก่ เพราะเรื่องนี้เคยเสนอมาแล้วปีก่อน โครงการผ่านจากคชก.และผ่านกระบวนการมาหลายปี ต้องประเมินความคุ้มทุน และผลกระทบกับป่า สัตว์ป่า และการจัดหาแหล่งน้ำรองรับภาคการเกษตร

นายจตุพร กล่าวว่า ในการประชุมพล.อ.ประวิตร ได้กำชับให้ดูเรื่องพื้นที่ป่าในพื้นที่โครงการ และมีมาตรการรองรับกับช้างและสัตว์ป่าที่เหมาะสม โดยเฉพาะการทำอ่างคลองวังโตนด จะต้องมีการเชื่อมต่อระบบกับอ่างย่อยในพื้นที่อีก 3-4 แห่งเพื่อให้อ่างมีประโยชน์กับเกษตรกร ส่วนน้ำที่เหลือส่วนเกินจึงจะส่งไปช่วยใน EEC

การผ่าน EHIA เป็นการอนุมัติในหลักการ หลังจากนี้กรมชลประทาน จะต้องกลับไปทำตามขั้นตอนของกฎหมาย รับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วน และอาจจะต้องมีการปรับรายละเอียดของพื้นที่ตั้งโครงการ เรียกว่าต้องดูให้ครบถ้วนก่อนไม่ใช่ว่าผ่าน EHIA แล้วจะสร้างได้ทันที
ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

ภาพ:กรมชลประทาน

บอร์ดสิ่งแวดล้อมไฟเขียวผ่านอีไอเอ 8 โครงการ

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับการประชุมคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้มีการพิจารณารายงาน EIA จำนวน 8 โครงการ เพื่อความมั่นคงด้านพลังงานตามแผน PDP 2018 เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมในพื้นที่ EEC และพื้นที่ชายแดนภาคใต้ ได้แก่

  • โครงการโรงไฟฟ้าน้ำพองทดแทน จังหวัดขอนแก่น
  • โครงการสถานีเก็บรักษาและแปรสภาพก๊าซธรรมชาติจากของเหลวเป็นก๊าซแบบลอยน้ำ  พื้นที่อ่าวไทยตอนบน
  • โครงการท่าเทียบเรือ FSRU
  • โครงการก่อสร้างทางแนวใหม่ สายทางเลี่ยงเมืองพนัสนิคม จ.ชลบุรี
  • โครงการก่อสร้างสะพานข้ามแม่น้ำโกลก จ.นราธิวาส
  • โครงการก่อสร้างอาคารที่พักข้าราชการ กองบัญชาการกองทัพไทย
  • โครงการจัดตั้งวัดบ้านห้วยน้ำผัก ที่พักสงฆ์เทิดพระเกียรติสิรินธร จ.เลย
  • โครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด จ.จันทบุรี

ทั้งนี้ เจ้าของโครงการต้องดำเนินการตามมาตรการฯ ที่กำหนดในรายงานฯ อย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งรับความเห็นของคณะกรรมการฯ ไปดำเนินการ และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ตามขั้นตอนต่อไป

สำหรับโครงการอ่างเก็บน้ำคลองวังโตนด ตั้งอยู่ระหว่างบ้านคลองยางและบ้านโป่งเกตุ ต.ขุนซ่อง อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี มีพื้นที่รับน้ำฝนเหนือที่ตั้งเขื่อนประมาณ 255 ตารางกิโลเมตร ปริมาณน้ำไหลลงอ่าง ในเกณฑ์เฉลี่ยปีละประมาณ 239 ล้านลูกบาศก์เมตร พื้นที่ชลประทานของโครงการทั้งหมดประมาณ 69,468 ไร่ เป้าหมายเพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนน้ำ สำหรับอุปโภคบริโภค การเกษตร อุตสาหกรรม และบรรเทาอุทกภัยในพื้นที่จ.จันทบุรี และใกล้เคียง รวมทั้งสนับสนุนให้กับ EEC

 

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

ภาพ:มูลนิธิสืบนาคะเสถียร

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง