เทศกาลภาพยนตร์สั้นของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน Si (gn) lent film
เมื่อวันที่ 27 ส.ค. ที่ห้องมินิเธียเตอร์ ทีเคปาร์คเซ็นทรัลเวิล์ด สถาบันสร้างเสริมสุขภาพคนพิการ(สสพ.) เครือสถาบันของสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุขร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการเสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)และกลุ่มธรรมดีทำดีได้จัดมหกรรมเทศกาลหนังสั้นของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินโดยมีผู้เข้าร่วมรับชมภาพยนตร์เป็นจำนวนมาก ทั้งนี้ภายในงานได้มีการจัดเสวนาในหัวข้อ "ความพิการ ไม่ใช่ความบกพร่อง เปิดมุมมองใหม่มองความพิการเป็นความแตกต่างเพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุล"
พญ.วัชรา ริ้วไพบูลย์ ผู้อำนวยการสถาบันสร้างเสริมสุขภาพ คนพิการ (สสพ.) กล่าวในการเสวนาว่า เดิมทีคนส่วนใหญ่คิดว่าความพิการเป็นความผิดปกติและเป็นความบกพร่องของร่างกาย บางคนคิดว่าเป็นกรรมเก่า จึงทำให้คนพิการถูกกีดกันออกจากสังคม และทำให้คนพิการขาดโอกาส ที่จะอยู่ในสังคมได้อย่างมีความสุขคนทั่วไปไม่รู้ว่าตัวเองมีศักยภาพมากแค่ไหน จนกว่าจะได้รับการฝึกฝนและได้รับโอกาสให้พัฒนาศักยภาพในด้านนั้นๆ คนพิการก็เช่นเดียวกันเราจะไม่มีวันรู้ว่าเราใช้ขา ทานข้าวได้ วาดรูปได้ จนกว่าเราจะไม่มีแขน ความพิการจึงเป็นอีกมุมหนึ่งของชีวิตที่สามารถเรียนรู้ได้และอยู่ร่วมกับความพิการได้อย่างมีความสุข
เช่นเดียวกับงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน ที่จัดขึ้นในครั้งนี้นั้นก็เพื่อที่จะเป็นการเปิดโอกาสในการที่จะบอกเล่าให้สังคมได้เข้าใจว่า คนพิการ ก็มีศักยภาพในการที่จะเรียนรู้ และมีความสุขในทุกๆ ด้านของสังคมโดยภาพยนตร์ที่ถูกฉายในวันนี้นั้นล้วนบอกเล่าเรื่องราวของคนพิการ ทางการได้ยินที่ถูกสังคมปฏิบัติและความรู้สึกของเขา ที่มีต่อสังคมภาพยนตร์สั้นที่นำเสนอในครั้งนี้ จึงเปรียบเสมือนเป็นสะพานเชื่อมใจให้คนทั่วไปและคนพิการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน
ผู้อำนวยการสสพ. กล่าวอีกว่าทั้งนี้คนพิการทางการได้ยินทั่วประเทศที่จดทะเบียนแล้ว มีจำนวนประมาณ 3 แสนคนซึ่งในความเป็นจริงแล้วอาจจะมีคนพิการทางการได้ยินอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้ขึ้นทะเบียนเช่นกลุ่มผู้สูงอายุหลายคน ที่กลายมาเป็นคนพิการทางการได้ยินก็ยังไม่ได้รับการบริการที่ทั่วถึงโดยเฉพาะในส่วนของล่ามภาษามือเองก็ยังขาดแคลนและไม่เพียงพอต่อคนพิการทางการได้ยินดังนั้นงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งนี้นอกจากจะบอกเรื่องราวความรู้สึกของคนพิการทางการยิน เพื่อให้ปรับมุมมองใหม่เปิดตาเปิดใจ ที่จะเรียนรู้ รับรู้ในสิ่งใหม่ๆเราก็จะเข้าใจว่าคนพิการทางการได้ยินไม่ได้แตกต่างจากเราเลยเพียงแต่โลกกำหนดกฎมาว่า เราต้องสื่อสารกันด้วยภาษาพูดเท่านั้นทั้งที่ความจริงเราสามารถสื่อสารกันได้ด้วยภาษาอื่นนอกจากภาษาพูด นอกจากนี้หากสังคมปรับสิ่งแวดล้อมให้เข้ากับคนทุกคนคนทุกคนก็จะมีความเท่าเทียมกันนอกจากนี้หนังสั้นยังเป็นช่องทางหนึ่งที่จะเป็นเครื่องมือส่งผ่านไปยังหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องดำเนินนโยบายเพื่อช่วยเหลือคนพิการทางการได้ยิน ให้ถูกต้องตามความต้องการของคนพิการด้วย
ด้าน มนต์ศักดิ์ ชัยวีระเดชหัวหน้าโครงการหนังเงียบ Si(gn)lentFilm ผู้ริเริ่มในการจัดเทศกาลภาพยนตร์สั้นของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยินกล่าวในการเสวนาว่าโครงการหนังเงียบของเรานั้นจัดทำขึ้นโดยการได้รับการสนับสนุนจากสสพ.ซึ่งจุดประสงค์หลักของโครงการนี้ก็เพื่อต้องการเปิดมุมมองใหม่ให้กับคนในสังคมให้มองความพิการเป็นความแตกต่าง เพื่อเรียนรู้ที่จะอยู่ร่วมกันอย่างสมดุลโดยเรามีความเชื่อว่าหนังสั้นจะเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยเชื่อมคนในสังคมและคนพิการได้
ทั้งนี้ปัจจุบันการเสนอภาพยนตร์นั้นเป็นการนำเสนอแบบเหมารวม (Stereotype)เป็นคตินิยม หรือทัศนคติของคนในสังคมทั่วไปที่มีต่อกลุ่มคนอื่นชาติอื่น การนำเสนอส่วนใหญ่ยังคงเป็นการหยิบยกเรื่องราวจากความน่าสงสารหรือไม่ก็เป็นการให้กำลังใจแก่ผู้พิการเพียงเท่านั้นซึ่งสะท้อนให้เห็นจากมุมมองของคนที่ได้ชื่อว่าเป็นคนปกติที่อยู่ในสังคมเพียงด้านเดียวเท่านั้น ผู้เข้าร่วมชมภาพยนตร์สั้นของน้องๆที่บกพร่องทางการได้ยินจะได้รับความรู้และได้รับความเข้าใจเกี่ยวกับคนพิการมากขึ้นชนิดที่เรียกได้ว่าลบความเข้าใจกับการชมภาพยนตร์ในแบบเดิมไปเลยก็ได้
ด้านนายปรเมศวร์ บุญยืนอาจารย์มหาวิทยาลัยราชสุดาหนึ่งในที่ปรึกษาโครงการหนังเงียบSi(gn)lent Film กล่าวว่า การฝึกอบรมครั้งนี้พบว่าคนพิการทางการได้ยินผลิตภาพยนตร์สั้นผ่านสตอรี่บอร์ด โดยการเขียนเรื่องราวออกมาผ่านรูปภาพทั้งหมดซึ่งก่อนที่จะเข้ามาทำงานกับน้องๆก็มีคนบอกว่าคนพิการทางการได้ยินมีวัฒนธรรมที่ต่างจากเรา เช่นการทำงาน การสื่อสารแต่เมื่อมาทำงานด้วยกันเราก็ทำงานร่วมกันได้มีความเข้าใจกัน เพราะเราก็คือมนุษย์ที่มีความเท่าเทียมกันแต่อาจจะต่างกันก็เพียงการสื่อสารเท่านั้น
ขณะที่ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ผู้กำกับหนังจากกลุ่มอัศจรรย์ภาพยนตร์ แสดงความเห็นว่าทุกวันนี้คนเราได้แบ่งแยกว่ามีคนทั่วไป คนปกติ และยัดเยียดคนกลุ่มน้อยให้เป็นคนอีกกลุ่มหนึ่งซึ่งความจริงคนทุกมีความเป็นมนุษย์เท่ากัน การได้ร่วมทำหนังสั้นกับน้องคนพิการทางการได้ยินต้องบอกว่าพวกเขาสามารถสื่อสารออกมาด้วยภาพ โดยที่ไม่ต้องใช้ภาษาพูดอะไรราก็เข้าใจได้ เหมือน 4ปีที่ผ่านมาทำหนังสั้นครั้งแรกก็ทำผ่านด้วยภาพโดยไม่มีเสียง ในฐานะของคนทำหนังสั้นจึงรู้สึกว่านี่คือจุดเริ่มต้น ที่ต้องต่อยอดผลิตหนังสั้นแบบนี้ต่อไปเพื่อถ่ายทอดและสื่อสารกับคนในสังคมให้เกิดความเข้าใจกันและกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่าบรรยากาศภายในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน Si (gn) lent film เป็นไปอย่างสนุกสนานโดยผู้เข้าร่วมงานจำนวนมากได้ร่วมรับชมชมวีดีทัศน์เบื้องหลังการอบรมการผลิตภาพยนตร์สั้นของผู้บกพร่องทางการได้ยินและยังได้พบกับการบอกเล่าความสนุกจากการทำหนังสั้นโดยน้องๆ ทีมผลิตหนังสั้นที่มีความบกพร่องทางการได้ยินอีกด้วยทั้งนี้หนังสั้นที่เข้าฉายในงานเทศกาลภาพยนตร์สั้นของผู้ที่มีความบกพร่องทางการได้ยิน Si (gn) lent filmนั้นมีอยู่ด้วยกัน 5 เรื่องประกอบด้วย เรื่องที่ 1ตัวตนในโลกเงียบที่บอกเล่าเรื่องราวของคนหูตึงที่ต้องตัดสินใจเลือกกลุ่มเพื่อนที่เขาอยากอยู่เพื่อนกลุ่มไหนที่เข้าใจและอยู่ด้วยแล้วสบายใจมากที่สุด
เรื่องที่ 2 โว้ย บอกเล่าเรื่องราวของคนหูหนวกอยากจะไปห้องพยาบาล แต่จะใช้วิธีการอะไรที่จะทำให้คนหูดีพาไป
เรื่องที่ 3 สามจน บอกเล่าเรื่องราวของการทำบุญให้ขอทานจึงได้ลายแทงสมบัติ จนกลายเป็นที่มาของการค้นหาขุมทรัพย์ที่เหนือความคาดหมาย
เรื่องที่ 4 รอรักที่บอกเล่าเรื่องราวของการตัดสินใจของชายหนุ่มที่พิการทางการได้ยินคนหนึ่งที่จะต้องตัดสินในเลือกระหว่างการทำงานรายงานและการไปหาแฟน
เรื่องที่ 5 Deaf & deaf ที่บอกเล่าความรู้สึกของคนหูหนวกคนหนึ่งที่มีความสุขกับชีวิตที่ดำเนินไปแต่ความสุขของเขากับสร้างความไม่พอใจให้กับคนอีกกลุ่มหนึ่งแล้วเรื่องราวจะจบลงอย่างไร