วันนี้ (30 มิ.ย.2564) รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โพสต์เฟซบุ๊ก Thira Woratanarat ถึงสถานการณ์ COVID-19 ทั่วโลก ที่พบตัวเลขคนติดเชื้อวันเดียว 356,810 คน รวมแล้วตอนนี้ 182,549,337 คน ตายเพิ่มอีก 7,107 คน ยอดตายรวม 3,952,961 คน
ขณะที่ 5 อันดับแรก ที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อต่อวันสูงสุดคือ บราซิล อินเดีย โคลอมเบีย อาร์เจนติน่า และรัสเซีย อันดับ 6-10 เป็น ตุรกี สหราชอาณาจักร อาร์เจนติน่า อิตาลี และโคลอมเบีย
ห่วง Home Isolation เสี่ยงแพร่เชื้อในครอบครัว
ส่วนสถานการณ์ไทยการระบาดรุนแรงต่อเนื่อง เมื่อวานนี้ (29 มิ.ย.) ยอดผู้ติดเชื้อสูงเป็นอันดับที่ 17 ของโลกและอันดับที่ 8 ของเอเชีย
การพบคนที่ติดเชื้อโควิด แล้วตัดสินใจออกไปนอนที่สถานีตำรวจ เพราะที่บ้านคับแคบ กลัวคนในบ้านจะติดเชื้อ ต้องนำมาคิดวางแผนทบทวน เพื่อช่วยเหลืออย่างจริงจัง
ทั้งนี้ นพ.ธีระ ระบุว่า เป็นกรณีศึกษาที่ชัดเจน หากประกาศนโยบายให้กักตัวที่บ้านหรือ Home Isolation เพราะไม่สามารถมีเตียงรองรับผู้ติดเชื้อได้เพียงพอ จะเกิดปัญหาตามมาในลักษณะนี้มากขึ้นเรื่อยๆ สัจธรรมคือ คงมีคนเพียงบางส่วนเท่านั้น ที่จะมีที่พักอาศัยที่มีพื้นที่แยกกักตัวออกจากสมาชิกในบ้านได้
ความรู้ทางการแพทย์ที่เรามีปัจจุบัน ความเสี่ยงในการติดเชื้อแพร่เชื้อแก่สมาชิกในบ้าน มีราว 30 % ซึ่งถือว่าสูง จึงมีโอกาสที่เราจะเห็นผลกระทบตามมาหลังจากประกาศนโยบายกักตัวที่บ้านใน 2 ลักษณะ ได้แก่
การติดเชื้อระหว่างสมาชิกในครอบครัวจะเพิ่มขึ้น จากนั้นเมื่อเวลาผ่านไป จะมีการกระจายไปยังส่วนอื่นในสังคมเป็นทอดๆ และคนที่บ้านไม่มีพื้นที่เพียงพอ และไม่มีทางเลือกอื่นเลย ก็อาจตัดสินใจเร่ร่อนออกจากบ้าน มีโอกาสทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน และเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยได้มากขึ้น
อ่านข่าวเพิ่ม รักษาโควิดที่บ้าน สปสช.จ่ายค่าอาหาร 3 มื้อ-ดูแลทุกอย่าง
แนะใช้วัด-โรงเรียน รองรับคนป่วยโควิด
แม้ทางภาครัฐจะพยายามอย่างเต็มที่ในการจะหาเตียงรองรับ ทั้งที่สถานพยาบาลระดับต่างๆ รวมถึงการสร้าง รพ.สนาม และขยายความร่วมมือไปยัง hospitel มากขึ้น แต่จำนวนที่จะรองรับได้ยังคงมีจำกัด และน้อยกว่าจำนวนการติดเชื้อใหม่ ที่มีจำนวนหลายพันต่อวันอย่างต่อเนื่อง สังคมไทยเราตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน มักสัมพันธ์กับ บ้าน-วัด-โรงเรียน หรือ บวร
ณ จุดวิกฤติเช่นนี้ อาจเป็นประโยชน์ หากพิจารณาขอความช่วยเหลือจากวัด และโรงเรียน ซึ่งมีจำนวนมาก กระจายทั่วพื้นที่ของแต่ละจังหวัด โดยทำการพิจารณาจัดพื้นที่
เพื่อเป็นที่พักสำหรับผู้ติดเชื้อที่ไม่มีอาการหรืออาการน้อย เน้นพื้นที่ที่กว้าง จัดระยะห่างระหว่างกันได้ ระบายอากาศดี และจัดระบบสนับสนุนทางการแพทย์ อาหารและน้ำ และสุขาภิบาลตามมาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข
แม้จะมีข้อจำกัดมากกว่าระบบ hospitel และโรงพยาบาลสนาม ที่ทำมา แต่ทางเลือกเพิ่มเติมนี้ น่าจะช่วยคนตกทุกข์ได้ยากจำนวนไม่น้อยในสังคม สิ่งที่ควรพิจารณาดำเนินการเพิ่มเติม เพื่อเตรียมรับมือในระยะถัดจากนี้คือ การขยายจุดบริการตรวจคัดกรองโรคโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย และปลดล็อกกฎเกณฑ์ต่างๆ
การแจกจ่ายอุปกรณ์ป้องกันตัวให้แก่ประชาชนอย่างต่อเนื่อง ทั้งหน้ากากอนามัย เจล สเปรย์แอลกอฮอล์ และการเร่งจัดหาวัคซีนที่มีประสิทธิภาพสูง ได้แก่ mRNA vaccines, protein subunit vaccine มาใช้เป็นวัคซีนหลักของประเทศ
สำหรับประชาชนทุกคน เรียนย้ำว่าการใส่หน้ากากนั้นสำคัญมาก 2 ชั้น ชั้นในเป็นหน้ากากอนามัย ชั้นนอกเป็นหน้ากากผ้า ต้องอยู่รอดปลอดภัย พ้นวิกฤตินี้ไปด้วยกันให้ได้
เปิดแนวทางแนวทาง การแยกกักตัวที่บ้าน
กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข เผยแพร่แนวทาง Home Isolation (การแยกกักตัวที่บ้าน)
ผู้ป่วยโควิด-19
- ระหว่างรอ Admit โรงพยาบาล
- แพทย์พิจารณาว่ารักษาที่บ้านได้
- รักษาที่โรงพยาบาลหรือสถานที่รัฐจัดให้อย่างน้อย 10 วัน และจำหน่ายกลับบ้านเพื่อรักษาต่อเนื่องที่บ้านโดยวิธี Home Isolation
ผู้ที่เข้าเกณฑ์การทำ Home isolation
- เป็นผู้ติดเชื้อที่สบายดีหรือ ไม่มีอาการ (asymptomatic cases)
- มีอายุน้อยกว่า 60 ปี
- มีสุขภาพร่างกายแข็งแรง
- อยู่คนเดียว หรือ มีผู้อยู่ร่วมที่พักไม่เกิน 1 คน
- ไม่มีภาวะอ้วน (ภาวะอ้วน หมายถึง ดัชนีมวลกาย >3030 กก./ม.2 หรือ น้าหนักตัว > 90 กก.)
- ไม่มีโรคร่วม ดังต่อไปนี้ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) โรคไตเรื้อรัง (CKD Stage 3,4 ) โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง เบาหวานที่ควบคุมไม่ได้ หรือโรคอื่นๆตามดุลยพินิจของแพทย์
- ยินยอมแยกตัวในที่พักของตนเอง
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง
ไทยพบติดเชื้อรายใหม่ 4,786 เสียชีวิตมากถึง 53 คน
สธ.เปิด 7 แนวทางปฏิบัติ รองรับผู้ป่วยโควิดสีเขียวรักษาที่บ้าน