ค้นหา
ทีวีออนไลน์
เว็บไซต์ในเครือ
เว็บไซต์บริการ

เร่งชันสูตร "วาฬบรูด้า" ลอยตายที่ "เกาะทะลุ"

สิ่งแวดล้อม
30 มิ.ย. 64
14:24
4,609
Logo Thai PBS
เร่งชันสูตร "วาฬบรูด้า" ลอยตายที่ "เกาะทะลุ"
ทีมสัตวแพทย์ ทช.พร้อมทีมอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม เคลื่อนย้ายซากวาฬบรูด้า ขนาดตัวเต็มวัย 10 เมตร พบลอยตายด้านหลังเกาะทะลุ จ.ประจวบคีรีขันธ์ เข้ามาชันสูตรที่หาดสน หาสาเหตุตาย และดูว่าเป็น 1 ใน 60 ตัวที่ ทช.เคยตั้งชื่อไว้หรือไม่

วันนี้ (30 มิ.ย.2564) นายภัทร อินทรไพโรจน์ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติอ่าวสยาม (เตรียมการ) ต.แม่รำพึง อ.​บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ เปิดเผยว่า ได้รับการประสานงานจากกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งว่า มีชาวประมงพื้นบ้านพบซาก วาฬบรูด้า มีขนาดลำตัวยาว 10 เมตร ลอยอยู่บริเวณด้านหลังของเกาะทะลุ ต.ทรายทอง อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ห่างจากชายฝั่งของเกาะทะลุ ประมาณ 5-6 กม.

 

จากการสันนิษฐานคาดว่า น่าจะตายมาแล้วประมาณ 7 วัน ขณะนี้เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติได้เร่งกู้ซากวาฬตัวดังกล่าว โดยลากเข้ามาบริเวณชายฝั่ง เพื่อรอการผ่าพิสูจน์หาสาเหตุการตายจากเจ้าหน้าที่ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบนฝั่งตะวันตก 

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง

 

นายมนตรี หามนตรี ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรและทางทะเล สำนักงานบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ที่ 3 (สบทช.3) ให้สัมภาษณ์ไทยพีบีเอสออนไลน์ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการนำซากวาฬบรูด้าเข้ามาที่ชายฝั่งหาดสน อ.บางสะพานน้อย พร้อมทั้งประสานทีมสัตวแพทย์และนักวิชาการด้านวาฬบรูด้าลงมาชันสูตรซาก เพื่อหาสาเหตุการตายซึ่งคาดว่าต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการชันสูตร 

ซากวาฬบรูด้าตัวนี้ ค่อนข้างเน่ามาก แต่เป็นวาฬตัวเต็มวัยเพราะมีขนาดใหญ่ยาวถึง 10 กว่าเมตร ตัวเมีย แต่ต้องพิสูจน์สาเหตุการตาย และดูอัตลักษณ์อย่างละเอียดว่าเป็นวาฬที่เคยตั้งชื่อไว้หรือไม่ 
ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง

ภาพ:กรมทรัพยากรทางทะลและชายฝั่ง

 

สำหรับวาฬบรูด้าในท้องทะเลไทย เป็นสัตว์ทะเลหายากที่ใกล้สูญพันธุ์ และได้รับการขึ้นบัญชีเป็นสัตว์สงวน ภายใต้ พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2562 ศูนย์วิจัยทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งอ่าวไทยตอนบน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ศึกษาและจำแนกประชากรวาฬบรูด้า ตั้งชื่อตามอัตลักษณ์ของวาฬบรูด้าที่หากินในอ่าวไทย โดยการใช้ภาพถ่าย (Photo Identification, Photo-ID) ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2551- ปัจจุบัน อาศัยตำหนิบริเวณครีบหลัง ส่วนหัว ตลอดจนตำหนิบริเวณต่างๆ ตามลำตัว สามารถจำแนกความแตกต่างของวาฬบรูด้าได้มากถึง 60 ตัว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง