วันนี้ (3 ก.ค.2564) นายพจน์ ทับประทุม หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ อ.เมือง จ.สมุทรสาคร เปิดเผยว่า เจ้าหน้าที่เขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์เข้าช่วยเหลือและแก้ไขปัญหาสัตว์ป่าคุ้มครอง (เหี้ย) หลังสร้างความเดือดร้อนในพื้นที่มหาวิทยาลัย 2 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช โดยเจ้าหน้าที่ได้ดำเนินการวางและกู้แร้วดักจับ สามารถจับเหี้ยได้ 35 ตัว ยอดจับเหี้ยสะสม 52 ตัว
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
ภารกิจในครั้งนี้จะใช้เวลา 10 วัน เริ่มวันที่ 1 ก.ค. เพื่อลดประชากรตัวเหี้ยให้ได้มากที่สุด แต่ยังประเมินไม่ได้ว่ามีทั้งหมดกี่ตัว
หัวหน้าเขตห้ามล่าสัตว์ป่าพันท้ายนรสิงห์ กล่าวว่า กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ได้รับการประสานจากทางธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เข้ามาจับตัวเหี้ยในพื้นที่
เนื่องจากมีประชากรเพิ่มขึ้น จากสภาพพื้นที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัย ทั้งแหล่งน้ำ บ่อปลา จนทำให้เหี้ยขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ยังพบว่าประชากรเหี้ยเพิ่มมากในทุกพื้นที่ของกรุงเทพฯ แต่ไม่เคยมีการศึกษาถึงจำนวนที่แน่ชัด
ภาพ : กรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช
สำหรับตัวเหี้ย หรือตัวเงินตัวทอง ถือเป็นสัตว์ชนิดที่ได้รับความนิยมในภาคธุรกิจ เนื่องจากสามารถนำเนื้อไปประกอบเป็นอาหารได้ ส่วนหนังนำไปแปรรูปเป็นกระเป๋าและเข็มขัดได้ จึงกังวลว่าอาจทำให้เกิดการสูญพันธุ์
ต่อมาได้มีประกาศให้ตัวเงินตัวทองเป็นสัตว์ป่าคุ้มครองจำพวกสัตว์เลื้อยคลานลำดับที่ 91 ห้ามมิให้ผู้ใดล่าหรือมีไว้ในครอบครองซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครอง หรือซากสัตว์ป่าดังกล่าว ฝ่าฝืนมีความผิด ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินสิบปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ