วันนี้ (7 ก.ค.2564) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ หรือ GISTDA เปิดภาพถ่ายดาวเทียม แสดงพื้นที่โรงงาน บ.หมิงตี้เคมิคอล จำกัด จ.สมุทรปราการ และบริเวณโดยรอบเปรียบเทียบให้เห็นการเปลี่ยนแปลงของสภาพพื้นที่ย้อนหลังกว่า 30 ปี โดยเริ่มจากปี 2533 ,2547,2553 และ 2564
ปี 2533 ดาวเทียม Landsat 5 บันทึกภาพแสดงให้เห็นพื้นที่ป่าสีเขียว พื้นที่เกษตรกรรม และที่ตั้งของโรงงาน บ.หมิงตี้เคมิคอล จำกัด จ.สมุทรปราการ และบริเวณโดยรอบ
เดือน ธ.ค.ปี 2547 - 2557 เริ่มปรับพื้นที่สร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้พื้นที่สีเขียวค่อย ๆ หายไป และเริ่มมีการสร้างหมู่บ้านจัดสรร มีการขยายชุมชนต่อเนื่อง ทั้งบ้านจัดสรร ห้างสรรพสินค้า นิคมอุตสาหกรรม จนกลายเป็นชุมชนเมืองขนาดใหญ่ที่อยู่ล้อมรอบโรงงานฯ
ปัจจุบันพบพื้นที่โดยรอบจุดเกิดเหตุในรัศมี 5-10 กม.มีชุมชน 994 แห่ง และโรงงานกว่า 1,120 แห่ง ขณะที่ในรัศมี 10 กม.จะพบบ้านหลายพันหลัง
ภาพถ่ายล่าสุดวันที่ 5 ก.ค.2564 ดาวเทียม Sentinel 2 ถ่ายภาพในวันเกิดเหตุ สภาพพื้นที่เปลี่ยนไปมาก มีสิ่งปลูกสร้างเกิดขึ้นเต็มพื้นที่
ขณะที่ภาพจาก ดาวเทียมไทยโชต เปรียบเทียบก่อนและหลังเหตุการณ์ถังเคมีระเบิดของวันที่ 23 มิ.ย.2562 กับ 6 ก.ค.2564 แสดงให้เห็นร่องรอยและความเสียหายที่เกิดขึ้นในพื้นที่เกิดเหตุและใกล้เคียง
วงกลมสีฟ้า คือบริเวณที่ตั้งโรงงาน กรอบเหลี่ยมสีแดง คือบริเวณพื้นที่ได้รับความเสียหายหลังการระเบิดประมาณ 13 ไร่ และมีร่องรอยความเสียหายพื้นที่โดยรอบ โดยภาพถ่ายวันที่ 6 ก.ค.2564 มีเมฆและฝุ่นปกคลุมจำนวนมาก โดยในภาพมีเมฆคลุมมากกว่าร้อยละ 83
ทั้งนี้ การแสดงภาพเปรียบเทียบจากดาวเทียม ถือเป็นส่วนหนึ่งในการจัดทำข้อมูลประกอบการตัดสินใจให้กับหน่วยงานหลักที่เกี่ยวข้องได้นำไปดำเนินการต่อ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการฟื้นฟู การเยียวยา การประเมินผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม และความปลอดภัยของคุณภาพอากาศ รวมถึงค่าความร้อนที่เกิดขึ้นในพื้นที่ ตามที่ได้แจ้งในโพสต์ก่อนหน้านี้
ปรับผังเมืองเปลี่ยน พท.สีม่วงเป็นสีแดง
กรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ระบุว่า บ.หมิงตี้เคมีคอล จำกัด จดทะเบียนบริษัทวันที่ 20 มิ.ย.2532 ด้วยทุนจดทะเบียน 70 ล้านบาท ประเภทธุรกิจตอนจดทะเบียนคือ การผลิตผลิตภัณฑ์พลาสติกอื่น ๆ ซึ่งมิได้จัดประเภทไว้ในที่อื่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเม็ดโฟม
ในปีจดทะเบียน 2532 พื้นที่ตั้งบริษัทถูกจัดเป็นพื้นที่โซนสีม่วง ซึ่งเป็นพื้นที่ตั้งโรงงานอุตสาหกรรม และในปีต่อ ๆ มาภาครัฐมีปรับผังเมือง เพื่อต้องการพื้นที่โดยรอบสนามบินสุวรรณภูมิ จึงได้ดำเนินการปรับเปลี่ยนผังเมืองใหม่อีกครั้งในปี 2552 ทำให้พื้นที่ดังกล่าวกลายเป็นโซนพื้นที่สีแดง ที่สามารถจัดสร้างที่อยู่อาศัยได้